Elastocoast คือวัสดุที่ใช้เพื่อเททับแนวเขื่อนป้องกันการกัดเซาะตลิ่งแม่น้ำและทะเล ประกอบด้วยหินกรวดขนาดเล็กที่ถูกยึดติดกันด้วยโพรียูรีเทน 2 องค์ประกอบ (https://beachlover.net/elastocoast-คืออะไร/)
Beach Lover เคยพาชมโครงสร้างหัวหาด (Headland) ที่ใช้ Elastocoast ณ ชายหาดชะอำ บริเวณทิศใต้ติดกับหน้าชายหาดของโรงแรม Vala โรงแรมระดับ Small Luxury Hotels ในเครือ The Regent Cha Am (https://beachlover.net/พาชมโครงสร้าง-elastocoast-ชะอำ/) และ กำแพงกันคลื่นแบบ Elastocoast ณ หาดกระทิงลาย จ.ชลบุรี (https://beachlover.net/elastocoast-หาดกระทิงลาย-ยังสบายดี/) ซึ่งเป็นสองพื้นที่ที่ใช้ Elastocoast เพื่อป้องกันชายฝั่ง
วันนี้ของพาชมโครงสร้างหัวหาด (Headland) ที่ใช้ Elastocoast ณ ชายหาดพัทยาเหนือ จ.ชลบุรี หรือที่คนมักเรียกว่าโค้งดุสิต ซึ่งหมายถึงชายหาดสาธารณะที่ติดกับโรงแรมดุสิตธานี พัทยาเหนือ ที่ได้สร้างพร้อมกับงานเติมทรายชายหาดพัทยาแล้วเสร็จไปเมื่อ กุมภาพันธ์ 2562 ด้วยงบประมาณรวม 420 ล้านบาท โดยหัวหาดนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อล็อคทรายที่เติมไม่ให้ไหลออกจากระบบรวดเร็วนัก
เมื่อครั้งที่ Beach Lover ลงสำรวจพื้นที่นี้หลังการเติมทรายเสร็จสิ้นใหม่ๆ พบว่าหัวหาดไม่ได้มีสภาพแบบที่เห็นในปัจจุบัน แต่เป็นหินเรียงในตะแกรงลวด หรือที่เรียกกันว่าเกเบี้ยน โดยในวันที่สำรวจ (กันยายน 2563) นั้นมีสภาพสมบูรณ์และไร้ร่องรอยการพังเสียหาย
แม้ไร้ร่องรอยความเสียหาย แต่หลังจากนั้นไม่นานพบว่า กรมเจ้าท่าได้ของบประมาณเพื่อซ่อมแซมหัวหาดแห่งนี้ โดยทำการปรับเปลี่ยนวัสดุที่ใช้ จากเกเบี้ยนกลายเป็น Elastocoast แบบที่กรมเจ้าท่าใช้มาแล้วในหลายพื้นที่ โดยตั้งงบเพื่อดำเนินการพร้อมกันในสองโครงการคือ วัดอู่ตะเภา ท่าบอน จ.สงขลา ซึ่งเป็นการซ่อมและเปลี่ยนวัสดุจาก Elastocoast มาเป็นหินเรียงใหญ่ (ชมภาพความเสียหายของโครงสร้างกำแพงกันคลื่นแบบ Elastocoast ที่ท่าบอนได้จาก https://beachlover.net/elastocoast-คืออะไร/) และหัวหาดพัทยาเหนือแห่งนี้ ที่เปลี่ยนวัสดุจากเกเบี้ยนไปเป็น Elastocoast ด้วยงบประมาณรวมสองโครงการกว่า 50 ล้านบาท
จากการสำรวจในช่วงเดือนพฤษภาคม 2565 ซึ่งเป็นวันแรกของการส่งมอบโครงสร้างนี้จากผู้รับเหมา พบว่ามีเศษหินขนาดเล็กหลุดล่อนออกมาบ้างแล้ว แม้โครงสร้างหลักจากดูเรียบร้อยในสภาพดี แต่การที่เศษหินหลุดออกมาแบบนี้ อาจเกิดอันตรายหากเดินเหยียบหินแล้วลื่นล้มแบบที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วที่ชะอำบนโครงสร้างหัวหาดที่ใช้ Elastocoast เช่นเดียวกัน (https://beachlover.net/พาชมโครงสร้าง-elastocoast-ชะอำ/) และจากการสำรวจอีกครั้งในมุมสูงในเดือนสิงหาคม 2565 โดยภาพรวมพบว่าโครงสร้างหลักยังอยู่ในสภาพดี
จากการพังทลายของ Elastocoast อย่างน้อยสามพื้นที่ ทั้งหัวหาดที่ชะอำ กำแพงกันคลื่นที่ท่าบอน และสวนสาธารณะหาดกระทิงลาย หน่วยงานที่รับผิดชอบควรตระหนักและวิเคราะห์กันต่อได้แล้วว่า จะยังคงยืนยันใช้วัสดุแบบนี้ในงานป้องกันชายฝั่งต่อไปอีกหรือไม่ นอกจากจะเป็นการใช้จ่ายงบประมาณที่ขาดประสิทธิภาพแล้ว ยังกระทบถึงความปลอดภัยของผู้ใช้ชายหาดอีกด้วย คงต้องติดตามกันต่อถึงความแข็งแรงของหัวหาดพัทยาเหนือแห่งนี้ ว่าจะมีพังเสียหายแบบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในพื้นที่อื่นหรือไม่