ลงมือแล้ว! กำแพงกันคลื่นหาดปากน้ำปราณ

ชายหาดปากน้ำปราณ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีความยาวประมาณ 7.5 กิโลเมตร ต่อเนื่องจากทิศใต้ของปากน้ำปราณเรื่อยลงไปถึงหาดเขากะโหลก เป็นพื้นที่ที่ถูกพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว มีรีสอร์ท ร้านอาหาร ตลอดทั้งแนว เราสามารถแบ่งหาดแถบนี้ได้เป็นสองแบบ คือโซนที่ติดกับปากน้ำปราณมีลักษณะเป็นชายหาดที่มีถนนเลียบพร้อมพื้นที่สาธารณะริมชายหาด ส่วนทางทิศใต้ติดกับเขากะโหลกเป็นรีสอร์ทประชิดชายหาดและมีถนนเล็กๆอยู่ด้านใน เรามักเรียกขานหาดทางทิศใต้นี้ว่าหาดเขากะโหลก และทางทิศเหนือว่าหาดปากน้ำปราณ

ชายหาดปากน้ำปราณถูกกัดเซาะรุนแรงมากขึ้นหลังการเกิดขึ้นของเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำ (Jetty) (อ่านเพิ่มเติมได้จาก https://beachlover.net/jetty/) แม้ตะกอนชายฝั่งจะมีทิศทางหลักไปทางทิศเหนือก็จริง แต่ในบางฤดูกาลก็นำพาให้เกิดปัญหากัดเซาะทางทิศใต้ของปากร่องน้ำได้เช่นกัน หลังจากนั้นจึงเกิดโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทางทิศใต้ของปากร่องน้ำทั้งกำแพงกันคลื่นแบบตั้งตรง  แบบขั้นบันได  และแบบหินทิ้ง พร้อมการปรับภูมิทัศน์โดยการถมพื้นที่ลงบนชายหาดและในทะเลเพื่อเพิ่มพื้นที่สาธารณะด้านหลังกำแพง พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวริมทะเล จากทั้งท้องถิ่นและกรมโยธาธิการและผังเมือง เรื่อยมาตั้งแต่ปี 2554, 2557 และ 2559 รวมระยะทางยาวกว่า 2.9 กิโลเมตร โดยหลังจากนั้นชายหาดปากน้ำปราณก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ภาพจากหลายแหล่งที่มา

ชายหาดด้านหน้ากำแพงตัดลึกและชันขึ้นเนื่องจากผลกระทบของกำแพงกันคลื่น (อ่านเพิ่มเติมได้จาก https://beachlover.net/กำแพงกันคลื่น-ไปต่อหรือพอแค่นี้/ ทำให้แม้ยามน้ำลงเกือบตลอดทั้งปี ไม่สามารถลงเดินเล่นบริเวณชายหาดด้านหน้ากำแพงได้อีกเลย การลงเล่นน้ำด้านหน้ากำแพงนั้นยิ่งเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ยากยิ่งเนื่องจากมีความไม่ปลอดภัยจากคลื่นที่วิ่งเข้าปะทะกำแพงและสะท้อนกลับออกไปนอกฝั่ง และในบางฤดูกาลพบเห็นสาหร่ายสีเขียวขึ้นปกคลุมพื้นผิวของขั้นบันไดส่วนที่อยู่ประชิดน้ำ  (อ่านเพิ่มเติมได้จาก https://beachlover.net/ตื่นตาตื่นใจ-สาหร่ายสีเขียว-กำมะหยี่-หนึ่งปีมีหน-ที่ทะเลปากน้ำปราณ/)  ทำให้ลื่นไถลได้ง่าย ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้ชายหาดเป็นอย่างยิ่ง

ภาพเมื่อ 26 ตุลาคม 2565

ในช่วงสองปีที่ผ่านมานี้ พบว่ากำแพงกันคลื่นแบบแนวดิ่งทางด้านทิศเหนือใกล้กับปากน้ำปราณที่ดำเนินการโดยงบประมาณจังหวัดเมื่อปี 2557 ระยะทางยาว 190 เมตร เกิดความเสียหายอย่างหนัก (อ่านเพิ่มเติมได้จาก https://beachlover.net/กำแพง-ปากน้ำปราณ-เสียหาย/) รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียงด้วย

กำแพงแนวดิ่งส่วนที่พังเสียหาย บริเวณหาดโซนที่ 1 (ภาพเมื่อ 26 ตุลาคม 2565)

จากนั้นเทศบาลตำบลปากน้ำปราณจึงได้ร้องขอความช่วยเหลือไปที่กรมโยธาธิการและผังเมืองในปี 2561 หลังจากนั้นกรมฯจึงริเริ่มโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล ชายหาดปราณบุรี ระยะทางตามแนวชายฝั่ง  930 เมตร ด้วยงบประมาณปี 2564 จำนวน 147.963 ล้านบาท โดยมีองค์ประกอบโครงการคือ งานก่อสร้างกำแพงกันคลื่นแบบคอนกรีตขั้นบันไดพร้อมการปรับภูมิทัศน์ด้านหลัง โดยจะใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 750 วัน 

Beach Lover ได้ลงสำรวจพื้นที่ช่วงปลายเดือนตุลาคม พบว่าโครงการดังกล่าวได้เริ่มลงมือก่อสร้างแล้ว โดยได้มีการปรับลดระยะทางและงบประมาณลงจากแผนเดิมที่ได้ศึกษาไว้เล็กน้อย เหลือ 888 เมตร ด้วยงบประมาณ 143.773 ล้านบาท โดยแบ่งชายหาดออกเป็น 3 โซนตามภาพ

จากภาพมุมสูงพบการตอกเสาเข็มของโครงสร้างกำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันไดในโซนที่ 2 โดยยังไม่พบการดำเนินการใดๆในโซนที่ 1 ส่วนโซนที่ 3 พบเพียงการรื้อศูนย์กิจกรรมของกลุ่มอนุรักษ์ออกจากพื้นที่ นอกนั้นยังไม่พบการดำเนินการใดๆเช่นเดียวกัน

ชายหาดโซนที่ 2 (ภาพเมื่อ 26 ตุลาคม 2565)
ชายหาดโซนที่ 2 (ภาพเมื่อ 26 ตุลาคม 2565)
ชายหาดโซนที่ 2 (ภาพเมื่อ 26 ตุลาคม 2565)
ชายหาดโซนที่ 2 (ภาพเมื่อ 26 ตุลาคม 2565)

โครงการนี้มีจุดสิ้นสุดโครงการด้านทิศเหนือบริเวณศาลสมเด็จพ่อกรมหลวงชุมพรฯพอดี ซึ่งปัจจุบันยังคงสภาพเป็นหาดทรายที่ไม่มีโครงสร้างป้องกันชายฝั่ง โดยจะเว้นระยะทางทิศเหนือของโครงการ หรือทิศใต้ของปากร่องน้ำปราณไว้ 450 เมตร ไม่ดำเนินการโครงการเนื่องจากชายหาดไม่ถูกกัดเซาะ

ชายหาดโซนที่ 3 (ภาพเมื่อ 26 ตุลาคม 2565)

ในช่วงกุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา ได้มีกระแสคัดค้านโครงการนี้ โดยกลุ่มผู้คัดค้านให้เหตุผลว่าชายหาดบริเวณศาลสมเด็จพ่อกรมหลวงชุมพรฯนั้นไม่พบการกัดเซาะชายฝั่งระดับที่ต้องสร้างโครงสร้างใหญ่โตเพื่อมาป้องกัน หากโครงการนี้สำเร็จ กำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันไดตามที่กรมโยธาฯได้ออกแบบไว้จะวางทับลงบนชายหาดที่ยังคงความเป็นธรรมชาติและเป็นพื้นที่หาดสาธารณะ “ผืนสุดท้าย”ของหาดปากน้ำปราณ เนื่องจากถัดลงไปทางใต้ชายหาดธรรมชาติได้กลายเป็นกำแพงคอนกรีตจนเกือบหมดสิ้นแล้ว

ชายหาดโซนที่ 3 (ภาพเมื่อ 26 ตุลาคม 2565)

หลังจากนั้นจึงมีการพูดคุยหารือร่วมกันระหว่างกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับรูปแบบเดิมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบโครงสร้างป้องกันของชายหาดในโซนที่ 3 โดยจะออกมาเป็นรูปแบบใดนั้น Beach Lover จะติดตามสถานการณ์ของพื้นที่นี้มาเล่าสู่กันฟังเรื่อยๆ โปรดตามต่อไปอย่างใจเย็น

ลงมือแล้ว! กำแพงกันคลื่นชายหาดมหาราช สงขลา [15 ธ.ค.2562]

หาดมหาราช ชายหาดที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ไม่ปรากฏร่องรอยของการกัดเซาะชายฝั่ง สังเกตได้จากพืชที่ขึ้นปกคลุมแสดงให้เห็นถึงความมีเสถียรภาพของชายหาด แต่ขณะนี้ กำลังจะมีการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันไดยาว 1.102 กิโลเมตร พร้อมปรับภูมิทัศน์โดยทำซุ้มไม้ระแนงอีก 5 แห่ง งบประมาณทั้งสิ้น 167.2 ล้านบาท โดยใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปี 1 เดือน

คิดเป็น 151.72 ล้านบาท ต่อ 1 กิโลเมตร แล้วสำหรับโครงการนี้ ซึ่งถือว่าสูงมากกว่าโครงสร้างรูปแบบคล้ายกันที่เคยสร้างที่อ่าวน้อย จ.ประจวบฯ และที่อื่นๆ น่าตั้งคำถามว่า เหตุใดราคาต่อหน่วยถึงสูงมากขึ้นในอัตราเร่งขนาดนี้

5 พ.ย.2562
16 ธ.ค. 2562

แต่คำถามที่สำคัญไปกว่านั้นคือ รัฐมีความจำเป็นอะไรที่จะต้องทำโครงการป้องกันชายฝั่งในพื้นที่ที่หาร่องรอยการกัดเซาะชายฝั่งไม่เจอ ?!?!