ฤาจะเสียชายหาดผืนสุดท้าย

ชายหาดปากน้ำปราณ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีความยาวประมาณ 7.5 กิโลเมตร ต่อเนื่องจากทิศใต้ของปากน้ำปราณเรื่อยลงไปถึงหาดเขากะโหลก เป็นพื้นที่ที่ถูกพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว มีรีสอร์ท ร้านอาหาร ตลอดทั้งแนว เราสามารถแบ่งหาดแถบนี้ได้เป็นสองแบบ คือโซนที่ติดกับปากน้ำปราณมีลักษณะเป็นชายหาดที่มีถนนเลียบพร้อมพื้นที่สาธารณะริมชายหาด ส่วนทางทิศใต้ติดกับเขากะโหลกเป็นรีสอร์ทประชิดชายหาดและมีถนนเล็กๆอยู่ด้านใน เรามักเรียกขานหาดทางทิศใต้นี้ว่าหาดเขากะโหลก และทางทิศเหนือว่าหาดปากน้ำปราณ

หาดปากน้ำปราณ
หาดทิศใต้ของปากน้ำปราณ มักถูกเรียกขานว่าหาดเขากะโหลก

ชายหาดปากน้ำปราณถูกกัดเซาะรุนแรงมากขึ้นหลังการเกิดขึ้นของเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำ (Jetty) (อ่านเพิ่มเติมได้จาก https://beachlover.net/jetty/) แม้ตะกอนชายฝั่งจะมีทิศทางหลักไปทางทิศเหนือก็จริง แต่ในบางฤดูกาลก็นำพาให้เกิดปัญหากัดเซาะทางทิศใต้ของปากร่องน้ำได้เช่นกัน หลังจากนั้นจึงเกิดโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทางทิศใต้ของปากร่องน้ำทั้งกำแพงกันคลื่นแบบตั้งตรง  แบบขั้นบันได  และแบบหินทิ้ง พร้อมการปรับภูมิทัศน์โดยการถมพื้นที่ลงบนชายหาดและในทะเลเพื่อเพิ่มพื้นที่สาธารณะด้านหลังกำแพง พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวริมทะเล จากทั้งท้องถิ่นและกรมโยธาธิการและผังเมือง เรื่อยมาตั้งแต่ปี 2554, 2557 และ 2559 รวมระยะทางยาวกว่า 2.9 กิโลเมตร โดยหลังจากนั้นชายหาดปากน้ำปราณก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ที่มา: ไม่ระบุที่มา มาจากหลายแหล่ง

ชายหาดด้านหน้ากำแพงตัดลึกและชันขึ้นเนื่องจากผลกระทบของกำแพงกันคลื่น (อ่านเพิ่มเติมได้จาก https://beachlover.net/กำแพงกันคลื่น-ไปต่อหรือพอแค่นี้/ ทำให้แม้ยามน้ำลงเกือบตลอดทั้งปี ไม่สามารถลงเดินเล่นบริเวณชายหาดด้านหน้ากำแพงได้อีกเลย การลงเล่นน้ำด้านหน้ากำแพงนั้นยิ่งเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ยากยิ่งเนื่องจากมีความไม่ปลอดภัยจากคลื่นที่วิ่งเข้าปะทะกำแพงและสะท้อนกลับออกไปนอกฝั่ง และในบางฤดูกาลพบเห็นสาหร่ายสีเขียวขึ้นปกคลุมพื้นผิวของขั้นบันไดส่วนที่อยู่ประชิดน้ำ  (อ่านเพิ่มเติมได้จาก https://beachlover.net/ตื่นตาตื่นใจ-สาหร่ายสีเขียว-กำมะหยี่-หนึ่งปีมีหน-ที่ทะเลปากน้ำปราณ/)  ทำให้ลื่นไถลได้ง่าย ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้ชายหาดเป็นอย่างยิ่ง

กำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันได
พื้นที่ด้านหลังกำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันได

ในช่วงสองปีที่ผ่านมานี้ พบว่ากำแพงกันคลื่นแบบแนวดิ่งทางด้านทิศเหนือใกล้กับปากน้ำปราณที่ดำเนินการโดยงบประมาณจังหวัดเมื่อปี 2557 ระยะทางยาว 190 เมตร เกิดความเสียหายอย่างหนัก (อ่านเพิ่มเติมได้จาก https://beachlover.net/กำแพง-ปากน้ำปราณ-เสียหาย/) รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียงด้วย

ไม่ทราบแหล่งที่มา

จากนั้นเทศบาลตำบลปากน้ำปราณจึงได้ร้องขอความช่วยเหลือไปที่กรมโยธาธิการและผังเมืองในปี 2561 หลังจากนั้นกรมฯจึงริเริ่มโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล ชายหาดปราณบุรี ระยะทางตามแนวชายฝั่ง  930 เมตร ด้วยงบประมาณปี 2564 จำนวน 147.963 ล้านบาท โดยมีองค์ประกอบโครงการคือ งานก่อสร้างกำแพงกันคลื่นแบบคอนกรีตขั้นบันไดพร้อมการปรับภูมิทัศน์ด้านหลัง โดยจะใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 750 วัน

โครงการที่ว่านี้มีจุดสิ้นสุดโครงการด้านทิศเหนือบริเวณศาลสมเด็จพ่อกรมหลวงชุมพรพอดี ซึ่งปัจจุบันยังคงสภาพเป็นชายหาดทรายที่ยังไร้โครงสร้างป้องกันชายฝั่ง หมายความว่ากำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันไดนี้จะดำเนินการทับลงบน “ชายหาดผืนสุดท้าย” ที่ยังคงความเป็นชายหาดธรรมชาติและเป็นสาธารณะ โดยเว้นระยะทางทิศเหนือของโครงการ หรือทิศใต้ของปากร่องน้ำปราณไว้ 450 เมตรไม่ดำเนินการโครงการเนื่องจากชายหาดไม่ถูกกัดเซาะ

ท่ามกลางมีกระแสคัดค้านไม่เห็นด้วยกับบางส่วนขององค์ประกอบโครงการจนมีการเข้าชื่อผ่าน Chang.org มากกว่า 2000 รายชื่อ Beach Lover จะเกาะติดประเด็นนี้และนำข้อมูลเชิงลึกมานำเสนอในโอกาสถัดไป