ระเนระนาด @ หาดนางทอง เขาหลัก

หาดนางทอง เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความสวยงามแปลกตาจนถูกยกให้เป็นอันซีนพังงา เนื่องจากชายหาดแห่งนี้มีลักษณะพิเศษแตกต่างไปจากชายหาดอื่น ๆ เนื่องจากผืนทรายบนชายหาดนางทองเป็นสีดำละเอียด ที่พบไม่กี่แห่งในโลก ยามเมื่อน้ำทะเลลดลงต่ำสุดก็จะมองเห็นหาดทรายสีดำเป็นบริเวณกว้าง ทำให้เป็นที่กล่าวขานถึงความแปลกของหาดทรายที่นี่และขนานนามว่า “หาดทรายสีดำ” สำหรับทรายสีดำดังกล่าว คือ “แร่ดีบุก” ที่มีอยู่มากในบริเวณนี้ยาวไปตลอดแนวชายหาดของอำเภอตะกั่วป่า ซึ่งในอดีตอำเภอแห่งนี้ เคยเป็นแหล่งอุตสาหกรรมทำเหมืองแร่ริมชายฝั่งสำคัญแห่งหนึ่งของเมืองไทย ดังปรากฏอยู่ในคำขวัญของจังหวัดพังงาว่า “แร่หมื่นล้าน” ในอดีตหาดทรายแห่งนี้จะมีคลื่นซัดแร่ดีบุกขึ้นมาชาวบ้านจะตักมากองรวมกันก่อนจะนำใส่รางและล้างน้ำเพื่อแยกเอาทรายทะเลที่มีน้ำหนักเบากว่าออกให้เหลือเพียงแต่สีดำ ก่อนจะนำไปแยกเอาแร่ดีบุกออกมาขายอีกที หลังจากหมดยุคเหมืองแร่ จังหวัดพังงาก็เริ่มเข้าสู่ยุคท่องเที่ยว แต่คลื่นทะเลตามธรรมชาติก็ยังคงซัดเอาแร่ขึ้นบนชายหาดดังกล่าวอยู่เป็นระยะ และดึงกลับลงไปในทะเล สลับกันไปมาอยู่เรื่อย ๆ จนกลายเป็นหาดทรายสีดำ อันซีนพังงากับธรรมชาติแปลกตาที่มีเพียงจุดเดียว (https://mgronline.com/travel/detail/9630000104903)

Beach Lover ได้เคยพาสำรวจหาดนางทองมาแล้วในอดีตช่วงพายุโนอึลซัดเข้าชายฝั่งอันดามันเมื่อ กันยายน 2563 ในเวลานั้น หาดนางทองและบริเวณใกล้เคียงมีลักษณะดังภาพ

วันนี้ (24 พ.ย.2565) Beach Lover ได้พาสำรวจชายหาดด้านหลังประภาคารเขาหลัก หนึ่งในสถานที่ดึงดูดผู้คนมายังชายหาดนางทอง โดยเดินเท้าสำรวจชายหาดด้านหน้ารีสอร์ทแห่งหนึ่งระยะทางประมาณ 100 เมตร (คลิปเดินสำรวจ https://www.youtube.com/watch?v=Rugopmws9fg) พบสภาพชายหาดที่ประกอบด้วยกระสอบทรายเล็กและใหญ่ พร้อมโครงสร้างรากไม้ป่าชายเลนเทียมที่ทำจากไม้ประกอบพลาสติกและยางพารา (https://waa.inter.nstda.or.th/stks/pub/2020/20200612-17v1-C-Aoss.pdf) คาดว่าได้นำมาวางไว้เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง แต่จากสภาพที่เห็นพบว่าถูกคลื่นซัดจนพังระเนระนาด

พื้นที่ด้านหน้ารีสอร์ทที่มีการวางโครงสร้างป้องกันแห่งนี้ เป็นชายหาดส่วนที่ติดต่อกับอีกรีสอร์ทหนึ่งทางทิศใต้ที่มีการสร้างกำแพงกันคลื่นแบบแนวดิ่ง (Vertical seawall) เอาไว้ คาดได้ไม่ยากว่า การกัดเซาะอย่างรุนแรงด้านหน้ารีสอร์ทแห่งนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากกำแพงส่วนที่ติดต่อกันนั่นเอง (https://beachlover.net/seawall/)

โครงสร้างที่พบนี้ ไม่แน่ชัดว่าผู้ประกอบการนำมาป้องกันไว้เองหรือหน่วยงานใดเข้ามาช่วยเหลือหรือแนะนำ แต่จากภาพในอดีตที่ Beach Lover เคยลงพื้นที่สำรวจข้อมูลพบว่า เมื่อสองปีก่อนก็มีการป้องกันชายหาดบริเวณเดียวกันนี้ด้วยกระสอบทรายและการปักไม้ แต่ไม่พบ โครงสร้างรากไม้ป่าชายเลนเทียมที่ทำจากไม้ประกอบพลาสติกและยางพาราแต่อย่างใด

ปัจจุบันกรมเจ้าท่ากำลังศึกษาความเหมาะสมของการป้องกันชายฝั่งพื้นที่นี้ด้วยการเติมทรายชายหาด (https://beachlover.net/งานเติมทรายชายหาด-อยู่ตรงไหนกันบ้าง/) น่าติดตามถึงผลการศึกษาและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับ “หาดทรายดำ” แห่งเดียวของทะเลแถบอันดามัน รวมถึงหาดอื่นๆที่อยู่ใกล้เคียงที่มีชื่อเสียงเรื่องการเล่น Surf ที่สุดแห่งท้องทะเลอันดามัน (https://beachlover.net/เซิร์ฟ-จะตายเพราะ-ทราย-จะเติม/)