ที่มา: https://www.khaosod.co.th/politics/news_6520280
เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2564 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ได้ตั้งคำถามต่อหน่วยงานรับงบประมาณกระทรวงมหาดไทย ในกรณีของกรมโยธาธิการและผังเมือง ถึงแนวคิดและความจำเป็นในโครงการด้านการสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง
โดยนายพิธา ระบุว่า ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งมีอยู่จริง ในการแก้ปัญหามีแนวคิดว่าการสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งเป็นการต่อสู้กับธรรมชาติ แต่มีแนวคิดอื่นที่แย้งว่า การแก้ไขด้วยวิธีสร้างเขื่อนแบบนี้จะไปสร้างปัญหาในมิติอื่นๆ ด้วย ตั้งแต่ยกเลิกการทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ในเดือน ธ.ค. ปี 56 งบประมาณด้านนี้ก็เพิ่มขึ้นในทุกปีอย่างมีนัยยะสำคัญ คิดเป็น 500% โดยปี 57 ใช้งบประมาณ 170 ล้านบาท จนถึงปัจจุบัน แต่งบประมาณปี 65 ตั้งไว้สูงถึง 1,080 ล้านบาท สำหรับการสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง คำถามคือการสร้างเขื่อนแบบนี้เป็นการแก้ปัญหาหรือสร้างปัญหากันแน่
นายพิธา กล่าวต่อว่า วิธีที่จะตอบปัญหาดังกล่าวได้ จำเป็นต้องยกตัวอย่างพื้นที่ที่มีโครงการสร้างเขื่อนจริง ได้แก่ พื้นที่ ต.เพ อ.เมือง จ.ระยอง ซึ่งแบ่งเป็น 4 พื้นที่ 1.ชุมชนบ้านเพ เป็นชุมชนประมงที่อยู่อาศัย ตลาดและท่าเรือ 2.หาดสวนสน เป็นหาดท่องเที่ยว 3.หาดสวนสน เป็นที่จอดเรือ และ 4.หาดดวงตะวัน เป็นรีสอร์ตและหาดท่องเที่ยว
นายพิธา กล่าวอีกว่า กรณีหาดดวงตะวันมีการจะสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล พร้อมปรับภูมิทัศน์ความยาว 786 เมตร วงเงินงบประมาณรวม 78.6 ล้านบาท หมายความว่าใช้งบประมาณสร้างเขื่อนกิโลเมตรละ 100 ล้านบาท แต่มีข้อมูลอีกหนึ่งชุดที่เป็นงบประมาณสร้างถนนใหม่เลียบทะเลโดยกรมทางหลวงชนบทปี 2565 พบว่าใช้งบประมาณสร้างถนนกิโลเมตรละ 8.4 ล้านบาท ทั้งหมดนี้เรากำลังขี่ช้างจับตั๊กแตนหรือไม่ คือสร้างเขื่อนกิโลเมตรละ 100 ล้านบาท เพื่อมาปกป้องถนนที่ใช้งบประมาณสร้าง 8.4 ล้านบาท
นายพิธา กล่าวต่อว่า กรณีของหาดดวงตะวันนั้น เนื่องจากมีการทำปากน้ำ เลยทำให้สมดุลของทรายและน้ำเปลี่ยนไป ทำให้เกิดปัญหาทรายฝั่งหนึ่งมีจำนวนมาก ทรายอีกฝั่งหนึ่งมีจำนวนน้อย วิธีการแก้ของกรมโยธาฯ คือ การถมหิน และเมื่อถมหินก็เกิดการกัดเซาะ เหตุใดยิ่งแก้ปัญหากลับยิ่งเพิ่ม แทนที่จะแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ ทำไมไปแก้ที่ปลายเหตุด้วยการไปสร้างเขื่อนป้องกัน เพราะถ้าหากแก้ที่ต้นเหตุ คงต้องไปแก้โดยการย้ายทรายจากฝั่งที่เกินมาถมฝั่งที่ขาด เนื่องจากทรายกับหินมีความสามารถในการดูดซับคลื่นทะเลไม่เท่ากัน ดังนั้น อาจจะไม่ต้องถมหินตั้งแต่แรกหากมีการย้ายทราย และหากไม่ถมหินก็จะไม่นำไปสู่การกัดเซาะชายฝั่งและกัดเซาะถนน และไม่ต้องสร้างเขื่อนมาปกป้องถนน
นายพิธา กล่าวต่อว่า หาดดวงตะวันเกิดการกัดเซาะอย่างรุนแรงชัดเจนหลังการสร้างกองหิน หรือในกรณีของพื้นที่ชุมชนบ้านเพ มีการสร้างเขื่อนกั้นทะเลตั้งแต่ปี 2535 เมื่อเอาของแข็งไปใส่กลางทะเลก็นำไปสู่ปัญหาที่ตามมา ไม่ว่าความเร็วของคลื่น ความลึกของทะเลที่เปลี่ยนไป การเข้าออกของน้ำทะเลก็เปลี่ยนไป ทำให้น้ำอ้อมและพัดขยะไปบริเวณชุมชนบ้านเพ ตรงนั้นเลยกลายเป็นพื้นที่น้ำเน่าเสียตลอด 20 ปีที่ผ่านมา และไม่มีการเอางบประมาณไปจัดการให้กับประชาชน การนำเขื่อนไปกั้นทะเลเป็นการใช้วิธีโครงสร้างแข็ง ที่อาจจะช่วยคนกลุ่มหนึ่งคือป้องกันท่าเรือได้ แต่ไปสร้างปัญหาเพิ่มให้กับประชาชน ประมงพื้นบ้าน ทำให้มีปัญหาเรื่องสิทธิชุมชน เรื่องของสิทธิประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เดียวกันได้รับผลกระทบมาเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน
นายพิธา กล่าวอีกว่า 1.ขอให้กรมโยธาธิการและผังเมือง ทบทวนโครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล ปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่ชายฝั่งทะเล หมู่ที่ 3 หาดดวงตะวัน ต.แกลง อ.เมืองระยอง ที่เป็นงบผูกพันปี 64 แต่ยังไม่เริ่มก่อสร้าง 2.ขอให้ทางกรมโยธาฯ ชะลอโครงการไปก่อน เนื่องจากเป็นการตั้งงบประมาณก่อนเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน เช่น โครงการฟื้นฟูบูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบ้านผาแดง หาดทรายรี-ชุมพร งบประมาณทั้งโครงการ 42.7 ล้านบาท โครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งพื้นที่ชายฝั่งทะเลชุมชนบางกะไชย แหลมสิงห์-จันทบุรี งบประมาณทั้งโครงการ 88 ล้านบาท โครงการฟื้นฟูบูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลหาดดงตาล สัตหีบ-ชลบุรี งบประมาณทั้งโครงการ 48 ล้านบาท
นายพิธา กล่าวต่อว่า 3.ขอรายละเอียดเอกสารเพิ่มเติมในโครงการเขื่อนกัดเซาะชายฝั่งที่ผูกพันใหม่ในงบปี 65 ทั้ง 6 โครงการ และโครงการเขื่อนกัดเซาะชายฝั่งที่ภาระผูกพัน 41 โครงการ เพราะต้องการเห็นว่าในเอกสารมีการแยกแต่ละพื้นที่แต่ละโครงการหรือไม่ว่า เป็นการกัดเซาะแบบชั่วคราว หรือเป็นการกัดเซาะแบบชั่วโคตร เพราะการกัดเซาะแบบชั่วคราวเป็นการกัดเซาะในบางฤดูกาลเท่านั้น แต่การกัดเซาะแบบชั่วโคตรอาจเกิดจากปัจจัยด้านโลกร้อน หรือเหตุปัจจัยอื่นๆ ที่จะก่อให้เกิดการกัดเซาะถาวร หากแยกแยะว่าเป็นการกัดเซาะแบบไหนก็จะสามารถแก้ไขได้อย่างตรงจุด เพราะวิธีการที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาจะแตกต่างกันออกไป
ด้าน น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกมธ. กล่าวเพิ่มเติมในประเด็นเดียวกันว่า กรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่งมีงานศึกษาถึงความรุนแรงการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งเป็นการศึกษาย้อนหลัง 50 ปี ทำให้ทราบว่าพื้นที่ใดมีการกัดเซาะระดับวิกฤต พื้นที่ใดกัดเซาะระดับรุนแรง พื้นที่ใดเป็นการกัดเซาะระดับปานกลาง ซึ่งจะทำให้ทราบว่าพื้นที่ใดเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมในการสร้างโครงสร้างแข็งป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า ปีนี้เสนอมาเพิ่ม 6 โครงการที่เป็นโครงการใหม่ ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่จำเป็นต้องใช้โครงสร้างแข็งในการป้องกันคลื่น แต่สามารถใช้โครงสร้างอ่อนอื่นๆ แก้ปัญหาได้ เช่น ถมทราย ปักไม้ไผ่ที่สามารถรื้อถอนง่าย และไม่สร้างผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งโครงการดังกล่าวมีทั้งที่ ท่าขึ้น อ.ท่าศาลา จ. นครศรีธรรมราช ปากแตระ อ.ระโนด จ. สงขลา หาดดงตาล อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี บางกระไชย อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวอีกว่า สำหรับความซ้ำซ้อนในหน้าที่ระหว่างกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม และกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ในการสร้างโครงสร้างเขื่อนแข็ง โดยปีที่แล้ว มี 12 เขื่อนที่ตั้งงบในปี 64 และยังไม่ได้เบิกจ่ายเลยแม้แต่เพียงบาทเดียว ซึ่งจะพิจารณาลดงบประมาณปี 65 เพื่อชดเชยของปี 64 ที่ทำไม่เสร็จต่อไป
“สำหรับปีนี้มีการสร้างเขื่อนริมตลิ่ง ทั้งสิ้น 199 โครงการ มูลค่ารวม 12,000 ล้านบาท เบิกจ่ายในปี 65 จำนวน 2,350 ล้านบาท ขณะที่ปี 64 มีการจัดทำ 180 เขื่อน มีมูลค่าค่อนข้างมาก แต่ละโครงการมีขนาดเล็ก ความยาวไม่เกิน 500 เมตรเท่านั้น แต่มีจำนวนมากและใช้งบประมาณสูง การก่อสร้างเหล่านี้ได้คุยกับคณะกรรมการน้ำและขออนุญาตกรมเจ้าท่าหรือไม่ เพราะสิ่งปลูกสร้างเหล่ามีผลกระทบกับการขวางเส้นทางน้ำได้” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว