พาชมหาดขั้นบันได(อีกแล้ว) ณ ปากน้ำแขมหนู

Beach Lover ได้เคยพาชมกำแพงกันคลื่นมาแล้วหลากหลายรูปแบบ ในหลายพื้นที่ ติดตามได้จากโพสเก่าๆ โดยเฉพาะกำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันไดที่กำลังเป็นที่นิยมสร้างริมชายฝั่งทะเลโดยกรมโยธาธิการและผังเมืองนั้น ถือว่าเป็นรูปแบบงานป้องกันชายฝั่งที่ Beach Lover ได้เคยพาไปเยี่ยมชมแล้วมากที่สุดเมื่อเทียบกับโครงสร้างรูปแบบอื่นๆ

สำหรับกำแพงกันคลื่น ณ ปากน้ำแขมหนู ต.ตะกาดเง้า อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี นั้น Beach Lover ได้เคยพาไปชมผ่านมุมสูงมาแล้วในช่วงกลางปี 2563 ซึ่งในขณะนั้นยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง โครงการกำแพงคอนกรีตขั้นบันไดและหินใหญ่เรียง พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์ถนนเลียบชายฝั่ง ระยะทาง 530 เมตร ด้วยงบประมาณ 54.643 ล้านบาท (ผูกพัน 2561-2564) โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง

ภาพเมื่อ ก.ค.2563

มาวันนี้ วันที่กำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันได ณ ชายหาดปากน้ำแขมหนูได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ Beach Lover จึงขอพามาชมกันอีกรอบ

ภาพเมื่อ พ.ย.2564
ภาพเมื่อ พ.ย.2564

จากภาพพบว่า ด้านหน้ากำแพงไม่มีชายหาดหลงเหลืออยู่แล้ว พบสภาพของพื้นผิวคอนกรีตขั้นบันไดยังคงสภาพดีและยังดูใหม่อยู่มาก เมื่อเดินไป ณ จุดทางลาดสำหรับรถเข็น พบว่าทางลาดและราวกันตกส่วนหนึ่งจมอยู่ในน้ำทะเล และเริ่มพบการขึ้นสนิมเหล็กของวัสดุที่ใช้

ภาพเมื่อ พ.ย.2564
ภาพเมื่อ พ.ย.2564

เมื่อเดินต่อไปถึงตำแหน่งทิศเหนือสุดของโครงสร้างจรดปากน้ำแขมหนู ส่วนทางทิศใต้สุดของโครงสร้างจรดกำแพงกันคลื่นแบบแนวดิ่งของเอกชน ซึ่งหมายความว่า หากกำแพงนี้จะส่งต่อผลกระทบไปทางด้านท้ายน้ำ (Downdrift effect) ก็น่าจะกระทบน้อยลงแล้ว เพราะพื้นที่ข้างๆทั้งสองฝั่งของกำแพงขั้นบันไดมีปากคลองและกำแพงกันคลื่นแบบแนวดิ่งนี้ที่สามารถรองรับผลกระทบได้ในระดับหนึ่ง

ภาพเมื่อ พ.ย.2564
ภาพเมื่อ พ.ย.2564

แม้สภาพโดยรวมจะดูใหม่อยู่มาก แต่พบว่าบางส่วนของโครงสร้างมีปัญหาการพังทลายของพื้นที่ด้านใน ซึ่งหากมีการใช้ประโยชน์ของประชาชนอย่างพลุกพล่านโดยเฉพาะฤดูกาลท่องเที่ยว ก็เป็นไปได้ว่าน่าจะส่งผลถึงความปลอดภัยของผู้ใช้ชายหาดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ภาพเมื่อ พ.ย.2564
ภาพเมื่อ พ.ย.2564

ในส่วนของพื้นที่ด้านบนที่มีการปรับภูมิทัศน์นั้น พบเพียงศาลานั่งพักสีขาวพร้อมหลังคา ซึ่ง (คาดว่า) มีอยู่แล้วเดิม ทางเดิน และเสาไฟฟ้าส่องสว่าง ไม่มีการปลูกต้นไม้หรือเพิ่มพื้นที่สีเขียวใดๆ ในพื้นที่ด้านหลังกำแพงแบบขั้นบันไดนี้

กรมโยธาธิการและผังเมืองมักพ่วงชื่อโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งด้วยคำว่า “พร้อมปรับภูมิทัศน์” เสมอในช่วงหลังๆ ทั้งนี้ก็เพื่อให้โครงการดังกล่าวเกิดอัตถประโยชน์ แต่ในความเป็นจริงก็คือ ภายใต้คำว่า “พร้อมปรับภูมิทัศน์” นี้ ต่างจากความคาดหวังของผู้ใช้ชายหาดที่พึงจะได้จากคำว่า “ปรับภูมิทัศน์” นี้ไปอย่างมาก

กรมฯควรแสดงเจตนาที่ชัดเจนไปเลยว่าต้องการสร้างโครงสร้างป้องกันชายฝั่ง คำพ่วงท้ายนี้มาอย่างเสียไม่ได้ เราจึงพบเห็นการปรับภูมิทัศน์ที่แข็งกระด้างและแห้งแล้งเช่นนี้ หรือมิเช่นนั้นก็จงดำเนินการปรับภูมิทัศน์อย่างจริงจัง ให้มีพื้นที่ด้านหลังกำแพงที่ปลอดภัยและสวยงาม ให้สมดังวัตถุประสงค์ของโครงการอัตถประโยชน์นี้

แต่ไม่ว่าจะป็นแบบไหน โครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งควรต้องมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อป้องกันชายฝั่ง หากชายฝั่งไม่กัดเซาะ หรือโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะไม่ได้ โครงการนั้นๆก็ไม่ควรเกิดขึ้นเพราะถือได้ว่าไม่บรรลุวัตถุประสงค์