เชิญประชุมรับฟังความคิดเห็น ปากน้ำแขมหนู [21 มี.ค. 2565]

กรมโยธาธิการและผังเมือง และสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัด ได้ก่อสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทยสำหรับป้องกันทรัพย์สินของประชาชนและของราชการมิให้คลื่นกัดเซาะจมลง ในทะเล แม้ว่าการก่อสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลจะสามารถป้องกันชายฝั่งและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากปัญหาคลื่นกัดเซาะชายฝั่งได้ตามวัตถุประสงค์ แต่การดำเนินโครงการดังกล่าวในบางพื้นที่ อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม ชุมชนและสังคม วัฒนธรรม อาชีพ ความปลอดภัย วิถีชีวิตของประชาชน รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางธรณีสัณฐานและสภาพชายหาด กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้จัดทำ “โครงการประเมินผลและติดตามผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเล ระยะที่ 2” ในพื้นที่ศึกษาจำนวน 10 พื้นที่ โดยพื้นที่ชายฝั่งทะเล บริเวณถนนเลียบชายฝั่งทะเลบ้านปากน้ำแขมหนู ตำบล ตะกาดเง้า อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี เป็นหนึ่งในพื้นที่ศึกษาของโครงการนี้

Beachlover

March 19, 2022

พาชมหาดขั้นบันได(อีกแล้ว) ณ ปากน้ำแขมหนู

Beach Lover ได้เคยพาชมกำแพงกันคลื่นมาแล้วหลากหลายรูปแบบ ในหลายพื้นที่ ติดตามได้จากโพสเก่าๆ โดยเฉพาะกำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันไดที่กำลังเป็นที่นิยมสร้างริมชายฝั่งทะเลโดยกรมโยธาธิการและผังเมืองนั้น ถือว่าเป็นรูปแบบงานป้องกันชายฝั่งที่ Beach Lover ได้เคยพาไปเยี่ยมชมแล้วมากที่สุดเมื่อเทียบกับโครงสร้างรูปแบบอื่นๆ สำหรับกำแพงกันคลื่น ณ ปากน้ำแขมหนู ต.ตะกาดเง้า อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี นั้น Beach Lover ได้เคยพาไปชมผ่านมุมสูงมาแล้วในช่วงกลางปี 2563 ซึ่งในขณะนั้นยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง โครงการกำแพงคอนกรีตขั้นบันไดและหินใหญ่เรียง พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์ถนนเลียบชายฝั่ง ระยะทาง 530 เมตร ด้วยงบประมาณ 54.643 ล้านบาท (ผูกพัน 2561-2564) โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง มาวันนี้ วันที่กำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันได ณ ชายหาดปากน้ำแขมหนูได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ Beach Lover จึงขอพามาชมกันอีกรอบ จากภาพพบว่า ด้านหน้ากำแพงไม่มีชายหาดหลงเหลืออยู่แล้ว พบสภาพของพื้นผิวคอนกรีตขั้นบันไดยังคงสภาพดีและยังดูใหม่อยู่มาก เมื่อเดินไป ณ จุดทางลาดสำหรับรถเข็น พบว่าทางลาดและราวกันตกส่วนหนึ่งจมอยู่ในน้ำทะเล และเริ่มพบการขึ้นสนิมเหล็กของวัสดุที่ใช้ เมื่อเดินต่อไปถึงตำแหน่งทิศเหนือสุดของโครงสร้างจรดปากน้ำแขมหนู ส่วนทางทิศใต้สุดของโครงสร้างจรดกำแพงกันคลื่นแบบแนวดิ่งของเอกชน ซึ่งหมายความว่า หากกำแพงนี้จะส่งต่อผลกระทบไปทางด้านท้ายน้ำ (Downdrift effect) ก็น่าจะกระทบน้อยลงแล้ว […]

Beachlover

December 24, 2021

สำรวจการเปลี่ยนแปลงแนวชายฝั่งหาดเจ้าหลาว

ที่มา: https://www.facebook.com/DMCRTH วันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๖๔ กรม ทช. โดยกองอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่ง สำรวจสถานภาพชายฝั่ง ชายหาดหาดเจ้าหลาว อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี ซึ่งอยู่ในระบบหาดหาดเจ้าหลาว (T1H022) ตามแนวชายฝั่งประมาณ ๑๒.๓ กม. และสำรวจสัณฐานชายหาดโดยใช้เทคนิคการรังวัดด้วยโครงข่ายการรังวัดด้วยดาวเทียมแบบจลน์ (RTK GNSS Network) และเทคนิคการสำรวจด้วยการถ่ายภาพมุมสูงโดยอาศัยอากาศยานไร้คนขับ ซึ่งการสำรวจและศึกษาครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสำรวจ ติดตาม และศึกษาการเปลี่ยนแปลงชายฝั่ง ซึ่งเป็นผลกระทบจากโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งประเภทกำแพงป้องกันคลื่นริมชายฝั่ง กรณีศึกษา พื้นที่หาดแหลมเสด็จ อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี

Beachlover

September 19, 2021

ชาวเกาะเปริด ขอความช่วยเหลือชายฝั่งกัดเซาะ

ที่มา: https://www.facebook.com/DMCRTH วันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๖๔ กรม ทช. โดยสำนักงาน ทช.ที่๑ (ระยอง) ร่วมกับคณะของ พ.ต.ท.ดร.ฐนภัทร กิตติวงศา สส.พรรคพลังประชารัฐ ปลัด อ.แหลมสิงห์ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และชุมชนในพื้นที่ ตรวจสอบเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาชายฝั่งทะเล กรณีการร้องเรียนความเดือดร้อนจากชุมชนในพื้นที่ ม.๕ ต.เกาะเปริด อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี รวม ๔๐ หลังคาเรือน ที่ได้รับผลกระทบจากการกัดเซาะชายฝั่ง โดยมีความประสงค์ให้จัดทำแนวป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งที่มีความมั่นคงถาวร เช่น เสาปูนแนวกำแพงกันคลื่น หรือแนวหินทิ้ง เนื่องจากพื้นที่บริเวณดังกล่าวและบริเวณใกล้เคียงได้เคยมีการปักไม้ไผ่ชะลอคลื่นโดยงบประมาณของกรม ทช. ระยะทาง ๔ กม. ซึ่งได้ผลดีทางด้านทิศเหนือ ๑.๓ กม. ส่วนพื้นที่ที่เหลืออีก ๒.๗ กม. ยังมีผลกระทบ ทั้งนี้ จะได้นำข้อมูลไปพิจารณาเพื่อหาแนวทางแก้ไขที่มีความเหมาะสมต่อไป ในโอกาสนี้ พ.ต.ท.ดร. ฐนภัทร กิตติวงศา แจ้งว่าจะรวบรวมรายชื่อชุมชนที่ได้รับความเดือดร้อน เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในการพิจารณางบประมาณในวันที่ ๒๓ […]

Beachlover

June 21, 2021

ศึกษาความเปราะบางของพื้นที่ชายฝั่งหาดแหลมเสด็จ หาดเจ้าหลาว

ที่มา: https://www.facebook.com/DMCRTH วันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๔ กรม ทช. โดยกองอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่ง สำรวจชายฝั่งบริเวณหาดเจ้าหลาว อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี ตามโครงการศึกษาความอ่อนไหวเปราะบางของพื้นที่ชายฝั่งต่อการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่นำร่อง กรณีศึกษาบริเวณพื้นที่ชายหาดหาดแหลมเสด็จ หาดเจ้าหลาว จ.จันทบุรี ผลการสำรวจพบว่า ลักษณะธรณีสัณฐานเป็นหาดยาวตรง (Long beach) ชายฝั่งวางตัวในแนวตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ ลักษณะทางกายภาพเป็นหาดทรายและหาดหิน (พบที่บริเวณหัวหาด) ตะกอนทรายที่พบมีสีน้ำตาลอ่อน ประกอบด้วยตะกอนทรายขนาดละเอียด-หยาบ เศษหิน เศษซากเปลือกหอย การคัดขนาดดี และสำรวจรังวัดสัณฐานชายหาด ๒๗ แนว จากทั้งหมดรวม ๕๔ แนว

Beachlover

May 31, 2021

สำรวจการกัดเซาะชายฝั่งหาดแหลมเสด็จ จันทบุรี

ที่มา: https://www.facebook.com/DMCRTH วันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๖๓ กรม ทช. โดยกองอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่ง สำรวจชายฝั่งหาดแหลมเสด็จ ต.คลองขุด อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี เพื่อเก็บข้อมูลในการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงภาคตัดขวางชายหาด (Beach cross section) ในพื้นที่ระบบกลุ่มหาดหลักทะเลอ่าวไทยตะวันออกตอนล่าง T๑ ระบบกลุ่มหาดคลองขุด-ประแส (T๑H) ระบบหาด หาดเจ้าหลาว (T1H0๒๒) และรังวัดแนวชายฝั่ง โดยใช้ระบบโครงข่ายการรังวัดด้วยดาวเทียมแบบจลน์ (RTK GNSS Network) ผลการสำรวจเป็นหาดทราย มีโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งประเภทกำแพงกันคลื่นแบบลาดเอียงระยะทางประมาณ ๕๕๐ เมตร และแบบขั้นบันไดระยะทางประมาณ ๔๕๐ เมตร กำลังมีการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันได โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ระยะทางประมาณ ๗๐๐ เมตร

Beachlover

September 11, 2020

ความพยายามที่ไม่น่าจะ Work ของรีสอร์ทริมทะเลเจ้าหลาว จันทบุรี

[ภาพเมื่อ ก.ค.2563] รีสอร์ทแห่งนี้อยู่ถัดจากหาดแหลมเสด็จมาทางทิศตะวันออก เป็นรอยต่อระหว่างหาดคุ้งกระเบนกับหาดเจ้าหลาว จ.จันทบุรี รีสอร์ทนี้ใช้การวางกระสอบทรายสามถึงสี่ชั้นซ้อนกันแล้วคลุมด้วยตาข่ายสีดำ ที่ปกติแล้วใช้บังร่มเงาเพื่อปลูกต้นไม้บ้าง เพื่อกันเขตพื้นที่บ้าง แล้วนำทรายมาถมและเกลี่ยด้านบนให้พื้นเสมอกัน เพื่อรองรับการปูแผ่นคอนกรีตที่ใช้เป็นทางเดินริมหาด ทางเชื่อมศาลา และที่สำหรับวางม้านั่งริมชายหาด โดยไม่มีการยึดกันอย่างถาวรของวัสดุต่างๆที่ว่ามา จากที่สังเกตพบว่าเพิ่งสร้างเสร็จไม่นาน ยังไม่มีร่องรอยความเสียหายใดๆยกเว้นตาข่ายสีดำที่ขาดไปแล้วในบางตำแหน่ง ไม่แน่ใจวัตถุประสงค์ของการสร้าง ว่าเพื่อยกระดับพื้นที่ด้านหน้าโรงแรมให้สูงกว่าชายหาดเพื่อวางศาลาริมหาด หรือเพื่อป้องกันชายฝั่งยามมรสุม รวมถึงไม่แน่ใจด้วยว่าต้องการสร้างแบบชั่วคราวหรือชั่วโคตร แต่การสร้างโครงสร้างแบบนี้ริมทะเลไม่อาจรองรับความรุนแรงของคลื่นได้หากคลื่นวิ่งมาปะทะโครงสร้างโดยตรง จะยิ่งส่งผลเสียต่อทัศนียภาพด้านหน้าหาดของโรงแรม จากที่สังเกตด้วยตาชายหาดบริเวณนี้มีความกว้างมากกว่า 150 เมตร ยามน้ำลงช่วงปลอดมรสุม เป็นไปได้ว่าตลอดระยะเวลาหนึ่งปี อาจมีคลื่นวิ่งมาปะทะเพียงไม่กี่ครั้ง แม้กระนั้นก็ตาม เพียงไม่กี่ครั้งที่คลื่นวิ่งมาปะทะกระสอบทรายนี้ อาจส่งผลเสียหายจนต้องสิ้นเปลืองเงินในการบำรุงรักษากันต่อเนื่องทุกปี หากรีสอร์ทเพียงต้องการพื้นที่สำหรับวางศาลาริมทะเลและม้านั่งริมชายหาด ควรวางมันลงไปบนชายหาดเดิมจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุด และเคลื่อนย้ายมาวางในที่ปลอดภัยยามน้ำทะเลขึ้นสูงและคลื่นวิ่งเข้ามาปะทะด้านหน้าหาดของโรงแรม ดีกว่าต้องสิ้นเปลืองงบประมาณเพื่อการสร้างสิ่งแปลกปลอมบนชายหาด ที่อาจนำพาความเสียหายตามมาให้เจ้าของรีสอร์ทต้องปวดหัวเป็นระยะๆ

Beachlover

August 4, 2020

รูหลบภัย? ณ หาดคุ้งวิมาน จันทบุรี

[ภาพเมื่อ 6 ก.ค.2563] หาดคุ้งวิมาน เป็นชายหาดที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของจังหวัดจันทบุรี มีน้ำทะเลที่ใสสะอาด บรรยากาศเงียบสงบ เหมาะกับการพักผ่อน ที่ตั้งของหาดคุ้งวิมาน อยู่ที่อำเภอนายายอาม จ.จันทบุรี พบกำแพงกันคลื่นเกือบตลอดแนวหาดคุ้งวิมานทางทิศตะวันออกเรื่อยไปจนถึงโขดหิน ส่วนหาดคุ้งวิมานโซนถัดจากโขดหินไปทางทิศตะวันตกนั้นเป็นกระเปาะหาดขนาดเล็ก มีกำแพงกันคลื่นและถนนเลียบทะเลตลอดแนวชายหาด Beach Lover ได้ลงพื้นที่สำรวจชายหาดคุ้งวิมานตลอดทั้งแนว พบโครงสร้างกำแพงกันคลื่นที่สร้างไว้เดิม (ไม่ทราบหน่วยงานผู้เป็นเจ้าของ) ทางทิศตะวันออกของชายหาดชำรุดเสียหาย เกิดรูขนาดใหญ่หลายตำแหน่ง บางจุดเสียหายจนวัสดุด้านในกำแพงเดิมนั้นหลุดออกไปแล้วทั้งหมด ซึ่งค่อนข้างเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ชายหาดเป็นอย่างมาก พบว่าด้านหน้ากำแพงกันคลื่นเดิมในช่วงเวลาที่สำรวจนั้น แทบจะไม่มีพื้นที่ชายหาดหลงเหลืออยู่เลย และพบเห็นการทำเชือกโรยตัวลงมาที่ชายหาดเนื่องจากไม่มีทางขึ้นลงในบางจุด เบื้องต้นพบว่า ในปี 2564 นี้ กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ตั้งงบประมาณเพื่อป้องกันการกัดเซาะบริเวณหาดคุ้งวิมาน ระยะทาง 380 เมตร ด้วยงบประมาณทั้งสิ้น 38 ล้านบาท ผูกพันถึงปีงบประมาณ 2566 โดยเบิกจ่ายในปีแรก (2564) จำนวน 7.6 ล้านบาท (สามารถหาอ่านได้จาก https://beachlover.net/งบประมาณตั้งใหม่-2564/) Beach Lover ยังไม่มีรายละเอียดของโครงสร้าง รวมถึงตำแหน่งที่ตั้งของโครงสร้างตัวใหม่นี้ แต่เท่าที่ดูจากสภาพหาดโดยรวม คาดว่าเป็นการสร้างกำแพงกันคลื่นตัวใหม่ทดแทนกำแพงกันคลื่นเดิมที่ชำรุด เพราะเมื่อวัดระยะทางแล้วมีระยะทางเท่ากันพอดีกับที่กรมแจ้งในเอกสารร่างงบประมาณปี 2564

Beachlover

July 16, 2020
1 2