ที่มา: https://news1live.com
จากกรณีที่มีกลุ่มนักอนุรักษ์คนรักอ่าวชุมพร และชาวบ้านออกมาคัดค้านกรมโยธาธิการและผังเมือง ก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตป้องกันตลิ่งกัดเซาะชายฝั่งริมทะเล ความยาว 630 เมตร ด้วยงบประมาณ 80 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 700 วัน สิ้นสุดสัญญาวันที่ 16 ตุลาคม 2565 บนพื้นที่หาดทรายรี ต.หาดทรายรี อ.เมือง จ.ชุมพร ไม่มีการจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งจะส่งผลเสียระยะยาว เนื่องจากจุดก่อสร้างดังกล่าวเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับประเทศ และเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์เนื่องจากมีพระตำหนักที่ประทับพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ หรือเสด็จเตี่ย หรือหมอพร และเป็นแหล่งเรียนรู้ยาสมุนไพรตำรับหมอพร และเป็นสถานที่สวรรคตของพระองค์ ปัจจุบันได้มีการสร้างพระบรมรูปของพลเรือเอกเสด็จในกรมหลวงชุมพรเขตอุดศักดิ์ มีประชาชนจากทั่วสารทิศมากราบไหว้สักการะอย่างไม่ขาดสาย
ความคืบหน้ากรณีดังกล่าว นายธนเทพ กมศิลป์ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งด้านสิ่งแวดล้อม จ.ชุมพร กล่าวว่าหลังจากที่กลุ่มอนุรักษ์คนรักอ่าวชุมพร และ แกนนำชาวบ้านในพื้นที่ยื่นหนังสือผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และล่าสุดตนได้มีหนังสือ ที่พิเศษ 1/2564 ลงวันที่ 3 พ.ย.2564 ถึงประธานคณะอนุกรรมการบูรณาการด้านการจัดการการกัดเซาะชายฝั่งทะเล กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร
โดยข้อเสนอต่อแนวทางแก้ปัญหาความขัดแย้งโครงการก่อสร้างเชื่อนป้องกันตลิ่งหาดทรายรี เนื่องจากกรณีที่มีการรณรงค์ และไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งหาดทรายรี หมู่ที่ 6 ต.หาดทรายรี อ.เมือง จ.ชุมพร จากการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งแบบขั้นบันไดยื่นทับชายหาด งบประมาณปี 2563 ระยะทาง 630 เมตร ตลอดแนวชายฝั่ง โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งมีผู้ประกอบการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และเครือข่ายอนุรักษ์ในจังหวัดชุมพรได้แสดงจุดยืนร่วมกัน ว่า “หาดทรายรี ต้องมีหาดทราย” เพื่อคงไว้ซึ่งพื้นที่เศรษฐกิจชายฝั่ง พื้นที่นิเวศชายฝั่ง และ มิให้หาดทรายรี เป็นเพียงชื่อคำขวัญจังหวัด หากให้มีการก่อสร้างหาดทรายจะหายไปภายหลังจากการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง ดังที่ปรากฏในสื่อสาธารณะอย่างต่อเนื่อง
จากกรณีสถานการณ์ข้อขัดแย้งดังกล่าว ทราบว่า ทางกรมโยธาธิการและผังเมืองได้มีแผนในการจัดเวทีประชาพิจารณ์ในพื้นที่หาดทรายรี เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน 2564 ซึ่งภาคประชาชนมีข้อกังวลต่อแนวทางในการจัดเวทีกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งอาจเกิดการปะทะ และการใช้ประชามติเสียงข้างมากแบบไม่ถูกต้องตามหลักการ มากกว่าแนวทางการให้ข้อมูลรอบด้านถึงผลกระทบของรูปแบบโครงสร้างที่ส่งผลต่อทรัพยากรชายฝั่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการบูรณาการด้านการจัดการการกัดเซาะชายฝั่งทะเล ซึ่งมีบทบาทโดยตรงต่อการดำเนินการด้านการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ดูแลทรัพยากรขายฝั่ง และประสานเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง เพื่อให้ยังคงประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งทางตรงทางอ้อม และประโยชน์สาธารณะ
เครือข่ายภาคประชาชน จ.ชุมพร จึงมีข้อเสนอร่วมกัน ดังนี้ ให้ประธาน และคณะอนุกรรมการบูรณาการด้านการจัดการการกัดเซาะชายฝั่งทะเลทั้งคณะ เป็นเจ้าภาพในการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายแทนกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการ เพื่อให้เกิดการติดตามการดำเนินการโครงการ และนำเสนอข้อมูลให้เกิดความรอบด้าน เหมาะสมต่อแนวทางการแก้ปัญหาต่อกรณีข้อขัดแย้งของโครงการดังกล่าว ซึ่งเป็นบทบาทโดยตรงของคณะ เสนอให้จัดเวทีในพื้นที่ที่มีความปลอดภัย หลีกเลี่ยงการจัดเวทีในพื้นที่โครงการ เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะของสองฝ่าย
นายธนเทพ กล่าวต่อว่า ขณะนี้การก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นหาดทรายรีอย่างต่อเนื่อง โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง อ้างว่า คลื่นได้กัดเซาะชายฝั่งและแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้กผู้ประกอบการชายฝั่ง แต่ความเป็นจริงแล้วชายฝั่งที่มีคลื่นซัดเซาะเป็นทางเท้าบนชายหาดสาธารณะที่มีการวางซุ้มจำหน่ายอาหาร จึงถือว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ผิดประเด็น เพราะบ้านเรือนที่อยู่อาศัยอยู่คนละจุดกัน
นายธนเทพ กล่าวต่อว่า จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จะมีการสำรวจการกัดเซาะชายฝั่งทางทะเลเป็นประจำทุกๆ ปี สำหรับ จ.ชุมพร พบว่ามีพื้นที่ชายฝั่งทะเลยาวรวมกันประมาณ 248.33 กิโลเมตร ชายฝั่งทะเลของจังหวัดชุมพร ครอบคลุมพื้นที่ 6 อําเภอ 22 ตําบล ได้แก่ อําเภอปะทิว อําเภอเมืองชุมพร อําเภอสวี อําเภอทุ่งตะโก อําเภอหลังสวน และอําเภอละแม ซึ่งลักษณะชายฝั่งแยกเป็นหาดทราย 144.02 กิโลเมตร หาดโคลน 25.02 กิโลเมตร หาดทรายปนโคลน 4.58 กิโลเมตร หาดทรายปนหิน 74.70 กิโลเมตร และปากแม่น้ำ 2.60 กิโลเมตร
นอกจากนี้ ยังพบว่าจังหวัดชุมพรไม่พบพื้นที่ ที่ถูกกัดเซาะ โดยมีพื้นที่มีการดําเนินการ แก้ไขแล้ว 13.57 กิโลเมตร พื้นที่สมดุล 156.59 กิโลเมตร พื้นที่สะสมมาก 0.36 กิโลเมตร พื้นที่สะสมน้อย 0 กิโลเมตร พื้นที่หัวหาด 0 กิโลเมตร พื้นที่ปากแม่น้ำ 2.60 กิโลเมตร พื้นที่หาดหิน 70.43 กิโลเมตร และ พื้นที่รุกล้ำ 4.78 กิโลเมตร
สำหรับโครงการป้องกันและแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ประจำปีงบประมาณ 2561-2565 มีทั้งสิ้น 14 โครงการ ก่อสร้างใน 7 ตำบล 3 อำเภอ (อ.เมือง อ.หลังสวน และ อ.ละแม) รวมระยะทางก่อสร้าง 13.366 กิโลเมตร ภายใต้งบประมาณของกรมโยธาธิการและผังเมือง 11 โครงการ และกรมเจ้าท่า 3 โครงการ
“ปัญหานี้กลุ่มคนรักอ่าวชุมพร และแกนนำชาวบ้านในพื้นที่จะติดตามเรื่องอย่างใกล้ชิดเพื่อปกป้องชายหาดอย่างต่อเนื่อง และจะมีมาตรการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้หาดทรายยังเป็นชายหาดที่สวยงามตามธรรมชาติต่อไป “นายธนเทพ กมศิลป์ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งด้านสิ่งแวดล้อม จ.ชุมพร กล่าว