น้ำทะเลล้นฝั่ง ภัยเนิบช้าแต่มาชัวร์!

เผยแพร่ใน: https://dxc.thaipbs.or.th/post-special/น้ำทะเลล้นฝั่ง-ภัยเนิบช/

ภัยคุกคามชายฝั่งทะเลที่เกิดจากฝีมือของมนุษย์นั้นเปรียบเสมือนเข็มยาวที่เดินบ่อยและเดินเร็ว แต่ภัยคุกคามจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลนั้นเหมือนเข็มสั้นที่เดินช้าแต่เดินอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน”

หกสิบเปอร์เซ็นต์ของเมืองริมชายฝั่งทะเลที่มีประชากรมากกว่า 5 ล้านคนนั้นตั้งอยู่ในระยะไม่เกิน 100 กิโลเมตรจากชายฝั่ง (Nicholls et al., 2007) ชายฝั่งทะเลนั้นนับได้ว่าเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลากทางชีวภาพและเป็นหนึ่งในสิ่งแวดล้อมบนโลกที่มีความเป็นพลวัตมากที่สุด (McLean et al., 2001) และกำลังถูกคุกคามอย่างหนักจากทั้งธรรมชาติและกิจกรรมของมนุษย์ (Nicholls and Lowe, 2004) ทั้งยังมีความเปราะบางสูงต่อสภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (U.S.EPA, 2009) ซึ่งส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชายฝั่งทะเลในหลายมิติ เป็นต้นว่า การกัดเซาะชายฝั่ง น้ำท่วมริมชายฝั่ง พายุซัดฝั่ง การแทรกตัวของน้ำทะเลริมชายฝั่ง (Camarsa et al., 2012) โดยกระทบทั้งสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม ของผู้ที่ตั้งถิ่นฐานและใช้ประโยชน์ริมชายฝั่งทะเล

พื้นที่ชายฝั่งกว่า 70% ทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 20% จากค่าระดับน้ำทะเลโลกเฉลี่ย รวมถึงภัยพิบัติทางทะเลที่มีแนวโน้มมากขึ้นทั้งความถี่และความรุนแรง (Core Writing Team et al., 2014) โดยนักวิทยาศาสตร์คาดเดากันว่าพื้นที่ริมมหาสมุทรแปซิฟิกจะเป็นพื้นที่ซึ่งได้รับอิทธิพลจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลมากที่สุด (Leal Filho, 2017)

สำหรับประเทศไทย เริ่มมีการศึกษาเรื่องการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลอย่างจริงจังในช่วงปี 2540-2550 โดยใช้ทั้งข้อมูลจากสถานีวัดระดับน้ำชายฝั่งทะเล ข้อมูลจากดาวเทียม และจากแบบจำลอง ในระยะแรกของการศึกษาพบว่ามีข้อจำกัดเรื่องการบันทึกและความต่อเนื่องของข้อมูลระดับน้ำเป็นอย่างมาก ต่อมาเริ่มมีการบันทึกข้อมูลอย่างเป็นระบบมากขึ้น รวมถึงเริ่มใช้เทคโนโลยีอื่นๆ เข้ามาช่วยวิเคราะห์ได้อย่างถูกต้องมากยิ่งขึ้น ผลการศึกษาส่วนใหญ่เป็นไปในทิศทางเดียวกันคือระดับน้ำทะเลในประเทศไทยกำลังค่อยๆเพิ่มขึ้นเป็นไปตามแนวโน้มเดียวกันกับโซนเอเชียแปซิฟิค

ข้อมูลการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลโลกจากแบบจำลองภูมิอากาศ (CMIP5) พบว่า ช่วงปี ค.ศ. 2081-2011 ระดับน้ำทะเลทั้งสองฝั่งของประเทศไทยทั้งอ่าวไทยและอันดามัน จะมีระดับเพิ่มขึ้นประมาณ 0.21-0.49 เมตร สำหรับสถานการณ์ที่ดีที่สุด และเพิ่มขึ้นถึง 0.55-0.65 เมตร สำหรับสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด (Ritphring et al., 2018) ผลกระทบที่ทางตรงจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลคือพื้นที่ริมชายฝั่งจะค่อยๆถูกกลืนหายไป จากการปรับสมดุลใหม่ของกระบวนการทางชายฝั่งทะเลต่อการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลนี้ ซึ่งหมายความว่ายิ่งระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นพื้นที่ชายฝั่งทะเลจะยิ่งถูกกลืนหายไปเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะบริเวณชายฝั่งทะเลที่มีความลาดชันต่ำ จะหายไปมากกว่าชายฝั่งทะเลที่มีความลาดชันสูงกว่า

การรุกคืบของทะเลเข้าหาฝั่งที่ค่อยๆกลืนกินผืนดินริมชายฝั่งทะเลจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลนี้ ไม่ต่างอะไรกับการกัดเซาะชายฝั่งที่ทั้ง 23 จังหวัดชายฝั่งทะเลของประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นด้วย กล่าวแบบเข้าใจง่ายๆว่าการกัดเซาะชายฝั่งในปัจจุบันที่เราเผชิญกันอยู่นี้ เป็นผลส่วนหนึ่งจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลนั่นเอง เพียงแต่เราอาจไม่รู้สึกถึงความรุนแรงนี้ได้แบบทางตรง เนื่องจากถูกแฝงอยู่ในรูปของความสูงคลื่นที่เพิ่มมากขึ้น ความถี่และความรุนแรงของพายุเพิ่มขึ้น ระดับน้ำทะเลที่ยกตัวสูงขึ้นมากกว่าในอดีต เราจึงมักพบเห็นการกัดเซาะชายฝั่งที่มากขึ้นและเกิดในหลายพื้นที่มากขึ้น โดยมิอาจจำแนกแยกแยะได้อย่างชัดเจนนักว่า อะไรคือกระบวนการปกติของธรรมชาติ และอะไรคือกระบวนการอันผิดไปจากปกตินี้

สำหรับชายฝั่งทะเลที่เผชิญปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งนั้น สามารถจำแนกได้เป็นการกัดเซาะเพียง “ชั่วคราว” หรือการเสียสมดุลของชายฝั่งแบบชั่วคราว ด้วยชายฝั่งมีความเป็นพลวัต ยามมรสุมชายฝั่งอาจถูกกัดเซาะไปบ้าง แต่ยามปลอดมรสุมคลื่นขนาดเล็กจะหอบเอาทรายขึ้นมาเติม พืชขึ้นปกคลุมชายฝั่งจนกลับมาเสถียรและสมบูรณ์อีกครั้ง ตราบเท่าที่ไม่มีการแทรกแซงสมดุลของชายฝั่งตามธรรมชาติ ส่วนการกัดเซาะแบบ “ชั่วโคตร” หรือการเสียสมดุลของชายฝั่งแบบถาวร เป็นการกัดเซาะในรูปแบบที่หาดถูกกัดเซาะแล้วไม่คืนสู่สมดุลเดิม ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานขนาดไหนก็ตาม โดยการกัดเซาะลักษณะนี้มักเกิดขึ้นบริเวณที่มีการแทรกแซงสมดุลชายฝั่งจากกิจกรรมของมนุษย์

สำหรับการกัดเซาะที่เป็นผลสืบเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลนั้น จะส่งผลให้สมดุลชายฝั่งเดิมตามธรรมชาตินั้นค่อยๆเปลี่ยนแปลงไปสู่สมดุลใหม่ กล่าวคือ ชายฝั่งอาจถูกกัดเซาะไปอย่างรุนแรงกว่าปกติในช่วงมรสุม แต่ยามปลอดมรสุมชายฝั่งมิได้กลับคืนสู่สมดุลปกติเหมือนดังที่เคยเป็นมา เราจึงอาจพบเห็นการกัดเซาะชายฝั่งแบบชั่วคราวน้อยลง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลได้ส่งผลให้พฤติกรรมการกัดเซาะชายฝั่งเปลี่ยนแปลงไป โดยเปลี่ยนจากการเคย “กัดแล้วคืน” เป็น “กัดแล้วไม่คืน” หรือคืนแต่น้อยกว่าปกติมาก หรือเปลี่ยนจากการกัดเซาะแบบ “ชั่วคราว” เป็นการกัดเซาะแบบ “ชั่วโคตร” นั่นเอง หากนำไปรวมกับการกัดเซาะที่เป็นผลจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การพัฒนาพื้นที่ริมชายฝั่ง การสร้างโครงสร้างกีดขวางกระบวนการทางชายฝั่ง ยิ่งส่งผลให้การกัดเซาะแบบ “ชั่วโคตร” นี้ทวีความรุนแรง และขยายตัวในวงกว้างเพิ่มมากยิ่งขึ้น

ภาพฉายอนาคตของพื้นที่ชายฝั่งทะเลประเทศไทยในปี ค.ศ.2081-2100 เมื่อต้องเผชิญกับการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลพบว่า ในสถานการณ์ที่ดีที่สุด หรืออธิบายง่ายๆ ก็คือสถานการณ์ที่ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นน้อยที่สุด เราจะสูญเสียพื้นที่ริมชายฝั่งทะเลในส่วนของหาดทรายไปประมาณ 45.8% หรือ 25.36 ตารางกิโลเมตร และจะหายไปถึง 71.8% หรือ 39.77 ตารางกิโลเมตร เมื่อเทียบกับพื้นที่ชายฝั่งที่เรามีในปี ค.ศ.2018 สำหรับสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดในอนาคต (Ritphring et al., 2018)

การที่ระดับน้ำทะเลกำลังเพิ่มสูงขึ้นนี้ นอกจากผลเชิงประจักษ์ที่เราจะพบว่าน้ำทะเลเขยิบเข้าใกล้แผ่นดินมากยิ่งขึ้น จนพื้นที่ริมชายฝั่งทะเลค่อยๆ ถูกกลืนหายไปทีละน้อยแล้ว สถานการณ์นี้ยังได้ส่งผลกระทบเชิงสังคมและเศรษฐกิจที่มักถูกมองข้าม แต่อันที่จริงแล้วนั้นมีความสำคัญและใกล้ชิดกับการใช้ชีวิตของมนุษย์มากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นต้นว่า

  • เกิดการอพยพย้ายถิ่นฐาน รวมถึงการเคลื่อนย้ายแรงงานออกนอกพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ
  • ความเสียหายต่อทรัพย์สินบริเวณชายฝั่งเพิ่มมากขึ้น ทำให้ประชาชนที่อาศัยริมชายฝั่งต้องแบกรับภาระนี้เพิ่มขึ้น
  • ดินและน้ำที่เหมาะสมต่อการใช้ประโยชน์ริมชายฝั่งมีคุณภาพลดลง ทำให้อาจต้องปรับเปลี่ยนวิถีการดำรงชีวิต
  • การลดลงของการท่องเที่ยวริมทะเล ส่งผลต่อเนื่องไปถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจเนื่องจากการท่องเที่ยวถือว่าเป็นเครื่องจักรอันสำคัญตัวหนึ่งที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
  • พื้นที่สันทนาการและการพักผ่อนหย่อนใจลดลง ชุมชายฝั่งและผู้ใช้ชายหาดมีความสุขน้อยลง

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เป็นหน่วยงานหลักที่จัดทำแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (National Adaptation Plan) ในหลากหลายมิติ เช่น การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ทรัพยากรน้ำ การท่องเที่ยว เป็นต้น เนื่องจากเป็นแผนเชิงยุทธศาสตร์ระดับชาติ จึงมิได้ลงในรายละเอียด จำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบที่เกิดขึ้นในประเด็นต่างๆ จะรับไปผนวกไว้ในแผนปฏิบัติการของแต่ละหน่วยงาน และควรดำเนินการให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพราะหากปล่อยระยะเวลาให้เนิ่นนานไป อาจมีราคาที่ต้องจ่ายสูงกว่าที่คาดคิด รวมถึงเราอาจต้องแลกกับความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ  คุณภาพชีวิตของประชาชนที่จะลดน้อยถอยลง แบบที่ยากจะคาดเดา

เป็นความจริงที่ว่าภัยคุกคามชายฝั่งทะเลที่เกิดจากฝีมือของมนุษย์นั้นมีผลกระทบต่อพื้นที่ชายฝั่งมากและรวดเร็วกว่า แต่ภัยธรรมชาติที่ค่อยๆกลืนกินพื้นที่ชายฝั่งจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นและภัยพิบัติทางทะเลที่รุนแรงขึ้นนี้  นับเป็นภัยเงียบที่รัฐต้องเตรียมรับมือในระยะยาวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้