ติดตามการปักไม้ไผ่ แก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ป่าชายเลนบ้านเกาะแมว จ.จันทบุรี

ที่มาข่าว: https://www.facebook.com/DMCRTH

วันที่ 20 เมษายน 2566 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) จัดกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจร ติดตามโครงการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งด้วยวิธีการปักไม้ไผ่ชะลอความรุนแรงของคลื่น โดยมีนายปรานต์ ดิลกคุณากุล ผู้อำนวยการกองอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่ง พร้อมด้วยนายภุชงค์ สฤษฎีชัยกุล ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 (ระยอง) ตลอดจนผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ในสังกัดกรม ทช. ร่วมลงพื้นที่ในครั้งนี้ ณ พื้นที่ป่าชายเลน บ้านเกาะแมว ต.ปากน้ำแหลมสิงห์ อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี

สำหรับในพื้นที่บ้านเกาะแมวแห่งนี้ กรมทช. ดำเนินการในปี พ.ศ. 2556 ระยะทาง 1,000 เมตร และในปี พ.ศ. 2558 ระยะทาง 2,000 เมตร โดยทช. ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดทำโครงการวิจัยการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศชายฝั่งทะเล (หาดโคลน) ภายหลังการปักไม้ไผ่ชะลอความรุนแรงของคลื่น ท้องที่จังหวัดจันทบุรี ในปี พ.ศ. 2563 โดยศึกษาในพื้นที่ป่าชายเลนบ้านเกาะแมว ซึ่งศึกษาโครงสร้างป่า องค์ประกอบของชนิดไม้ป่าชายเลน ความหลากหลายของชนิดพันธุ์ไม้ป่าชายเลน โดยการวางแปลงตัวอย่างหลังแนวไม้ไผ่ที่ปักใน ปี พ.ศ. 2556, 2558 พร้อมทั้งเก็บตัวอย่างดินเพื่อศึกษาสมบัติทางกายภาพของดิน และปักท่อพลาสติก (PVC) ในแปลงตัวอย่างเพื่อประเมินการสะสมของตะกอนดินที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ได้ศึกษาการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ป่าชายเลนหลังปักไม้ไผ่ชะลอคลื่น ปี พ.ศ. 2556 และ 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนการปักไม้ไผ่ การมีส่วนร่วมและความพึงพอใจของประชาชนต่อการปักไม้ไผ่ชะลอคลื่น เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนการปักไม้ไผ่ชะลอคลื่น การเพิ่มขึ้นของพื้นที่ป่าชายเลนส่งผลให้ประชาชนที่อาศัยอยู่รายรอบป่าชายเลนบ้านเกาะแมว มีความพึงพอใจในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งด้วยวิธีการปักไม้ไผ่ชะลอคลื่น ดังนั้น จึงต้องเร่งส่งเสริมการมีส่วนร่วมโดยด่วน เริ่มจากกระบวนการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน ในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งร่วมกับภาครัฐและท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างยั่งยืนต่อไป