Beach Lover ได้เคยนำเสนอสภาพความเสียหายของกำแพงกันคลื่นปากน้ำปราณไปเมื่อ มิถุนายน 2563 ตาม Link https://beachlover.net/กำแพง-ปากน้ำปราณ-เสียหาย/ ณ ในเวลานั้นพบว่าลานเอนกประสงค์ที่ปูด้วยอิฐตัวหนอนด้านหลังกำแพงกันคลื่นนั้นเสียหายเพียงบางส่วน โดยกำแพงกันคลื่นแนวดิ่งนั้นเริ่มเอียงลงทะเลแล้ว
ในเดือนธันวาคม 2563 ซึ่งเป็นช่วงฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ Beach Lover ได้ลงสำรวจความเสียหายของกำแพงกันคลื่นนี้อีกครั้ง พบว่ากำแพงกันคลื่นที่เคยเอียงลงทะเล บัดนี้ได้ล้มลงทั้งแผงและหมดหน้าที่ของความเป็นกำแพงกันคลื่นไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และพบว่าลานเอนกประสงค์ด้านหลังกำแพงก็ไหลลงทะเลด้วยเช่นกัน
ส่วนที่ถัดจากกำแพงที่พังลงนั้น เดิมทีมีความเสียหายเกิดขึ้นอยู่แล้ว และหน่วยงานที่รับผิดชอบได้นำ Big bag ใส่ทรายมาวางเพื่อป้องกันความเสียหายด้านหลังกำแพง จากการสำรวจสภาพในครั้งนี้พบความเสียหายเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะพื้นที่ด้านหลังกำแพงและ Big bag
นอกจากนี้ยังพบว่า สะพานปลาที่มีสภาพพังเสียหายบัดนี้โครงสร้างหลักได้พังลงทะเลเกือบหมดแล้ว และจากคำบอกเล่าของผู้เกี่ยวข้องพบว่าซากที่พังของสะพานและหล่นลงทะเลนั้น วางตัวประหนึ่งเป็นรอดักทรายเนื่องจากวางตัวตั้งฉากกับการเคลื่อนตัวของตะกอนเลียบชายฝั่งซึ่งมีทิศเคลื่อนที่จากใต้ขึ้นเหนือ
โดยพบการกัดเซาะในพื้นที่ด้านทิศเหนือของซากสะพานปลา ซึ่งเดิมเคยมีอาคารร้านค้าตั้งอยู่ริมทะเล แล้วถูกรื้อถอนไป แต่ยังคงพบซากปรักหักพังของโครงสร้างคอนกรีตบางอย่างหลงเหลือทิ้งไว้บนชายหาด
ล่าสุด กรมโยธาธิการและผังเมืองมีแผนใช้งบประมาณเพื่อฟื้นฟูบูรณะกำแพงกันคลื่นบริเวณนี้พร้อมปรับภูมิทัศน์ความยาว 930 เมตร มูลค่างานรวม 147.963 ล้านบาท (อ้างอิงข้อมูลจากสำนักงบประมาณ, 2563) ปัจจุบันยังมิได้ลงมือก่อสร้าง โดยพบว่ามีเครือข่ายประชาชนแถบปากน้ำปราณได้ร้องเรียนให้ปรับรูปแบบและปรับเปลี่ยนแนวของโครงสร้างที่กรมโยธาวางแผนไว้ว่าจะยาวต่อเนื่องจากสามแยกถึงศาลสมเด็จพ่อกรมหลวงชุมพรฯ
นอกจากนี้พื้นที่ส่วนหนึ่งของโครงการทางด้านทิศเหนือของซากสะพานปลายังมีคดีความฟ้องร้องเรื่องการรุกพื้นที่สาธารณะเพื่อใช้ประโยชน์ส่วนตัว โดยยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งนี่อาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้โครงการนี้ยังมิได้ลงมือก่อสร้าง
หากมีความคืบหน้าประการใด Beach Lover จะนำมาเสนอในโอกาสถัดไป