งานปักไม้ไผ่โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง

โดยทั่วไปเรามักพบเห็นโครงการป้องกันชายฝั่งที่ดำเนินงานโดยกรมโยธาธิการและผังเมืองในรูปแบบของโครงสร้างทางวิศวกรรมขนาดใหญ่ โดยเน้นที่กำแพงกันคลื่นรูปแบบต่างๆเป็นหลัก (ศึกษาได้จากโพสเก่าๆ) โครงการนี้น่าจะเป็นโครงการแรกๆของกรมโยธาฯที่ทำการปักไม้ไผ่เพื่อป้องกันชายฝั่ง

โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันตกโดยการปักไม้ไผ่ชะลอคลื่นนี้ กำลังเกิดขึ้นที่แหลมใหญ่ สมุทรสงคราม ความยาว 4 กิโลเมตร ด้วยงบประมาณ 25.9 ล้านบาท

Google Earth
ที่มา: ระบบข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ
ที่มา: ระบบข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ

เนื่องจาก Beach Lover ยังไม่มีรายละเอียดของโครงการ รวมถึงสถานการณ์กัดเซาะจนเป็นเหตุผลความจำเป็นให้ต้องดำเนินโครงการนี้ แต่จากข้อมูลเท่าที่มีข้างต้น พบประเด็นที่น่าตั้งข้อสังเกตคือ

(1) การปักไม้ไผ่ชะลอคลื่นนั้น เป็นมาตรการที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเน้นย้ำมาตลอดว่าเป็นการช่วยเร่งให้ตะกอนตกทับถมเพื่อให้เกิดการเจริญเติบโตของป่าชายเลนด้านใน เพราะสำหรับหาดโคลนแล้วถือว่าโครงสร้างป่าชายเลนและระบบรากที่ช่วยยึดเกาะตะกอนนั้นเป็นปราการทางธรรมชาติ ที่ช่วยกันคลื่นลมและส่งเสริมให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพที่ดีที่สุด โดยมักพบว่าดำเนินการร่วมไปกับการปลูกป่าชายเลน หรือ มีป่าชายเลนที่ต้องการให้เกิดความสมบูรณ์อยู่ด้านใน

คำถาม: งานอนุรักษ์ป่าชายเลนนั้น เป็นหนึ่งในภารกิจของกรมโยธาธิการและผังเมืองหรือไม่ ?

(2) งานปักไม้ไผ่ชะลอคลื่นที่ดำเนินการโดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ผ่านมา ใช้งบประมาณ 4 ล้านบาทต่อหนึ่งกิโลเมตร (https://beachlover.net/ทช-ปักไม้ไผ่-ปี63/) หากปักไม้ระยะทาง 4 กิโลเมตรตามโครงการนี้ควรใช้งบประมาณเพียง 16 ล้านบาทเท่านั้น

คำถาม: เหตุใดราคากลางของกรมโยธาธิการและผังเมือง (39.186 ล้านบาท) หรือแม้แต่วงเงินงบประมาณที่ชนะการประกวดราคา (25.9 ล้านบาท) จึงสูงลิ่วกว่าของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างมาก

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้จะว่าอย่างไร … รอติดตามอย่างใจเย็น