ความคืบหน้างานสร้างกำแพงกันคลื่นหาดบ่ออิฐ-เกาะแต้ว

ชายฝั่งทะเลแถบบ้านบ่ออิฐ เกาะแต้ว เรื่อยมาทางทิศเหนือถึงเขารูปช้าง เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำนาทับ แต่เดิมมีเพียงโครงสร้างเขื่อนกันคลื่นด้านทิศเหนือของปากน้ำเพื่อป้องกันการกัดเซาะเพียง 4 ตัว แต่เนื่องจากผลกระทบของโครงสร้างนั้นนำมาซึ่งผลกระทบชิ่งแบบเป็นโดมิโน่ของชายหาดส่วนถัดไป อีกทั้งหน่วยงานรับผิดชอบเลือกที่จะสร้างโครงสร้างป้องกันชายฝั่งต่อไปเรื่อยๆ จึงเกิดโครงสร้างทั้งเขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่ง รอดักทราย กำแพงกันคลื่นประชิดฝั่ง ต่อเนื่องยาวไปทางทิศเหนือจวบจนถึงปัจจุบัน มีเขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่งรวมทั้งสิ้น 18  ตัว รอดักทราย 3 ตัว และกำแพงกันคลื่นตลอดทั้งแนวยาวประมาณ 8.5 กิโลเมตร ริมถนนหมายเลข สข3004

และแน่นอนว่า ชายหาดด้านถัดไปของตำแหน่งสิ้นสุดโครงสร้างตัวสุดท้าย ซึ่งสำหรับบริเวณนี้คือปลายกำแพงกันคลื่น ย่อมเกิดการกัดเซาะอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

กรมเจ้าท่า ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างกำเเพงกันคลื่นบริเวณนี้พร้อมโครงสร้างประกอบอื่นๆเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ระยะทาง 3,450 เมตร งบประมาณ 219,935,000 บาท จะแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2564 โดยทาง Beach Lover ได้เคยนำเสนอไปเมื่อกลางปี 2562 ในช่วงที่โครงการเพิ่งริเริ่มก่อสร้าง ติดตามได้จาก https://beachlover.net/กำแพง-เขารูปช้าง/

Beach Lover ได้ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้างานก่อสร้างกำแพงกันคลื่นนี้อย่างต่อเนื่อง พบการเปลี่ยนแปลงของชายหาดตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 ถึง สิงหาคม 2563 ตามรูป

หากสังเกตตำแหน่งอ้างอิงในภาพ (ป้ายตรงสามแยกในวงกลมสีขาว) จะพบชายหาดและต้นสนริมชายหาดยังคงอยู่ในช่วงเดือนตุลาคม 2562 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่งานก่อสร้างยังไม่ได้เริ่มขึ้นบริเวณนี้ แต่หลังจากนั้นจะพบว่าชายหาดและต้นสนริมทะเล (ขวามือของถนน) ค่อยๆหายไป โดยถูกแทนที่ด้วยกองหินและถนนเพื่องานลำเลียงวัสดุก่อสร้าง

ภาพเมื่อ: 24 สิงหาคม 2563
ภาพเมื่อ: 24 สิงหาคม 2563
ภาพเมื่อ: 24 สิงหาคม 2563

โครงการนี้ประกอบด้วย (1) โครงสร้างกำแพงหินทิ้งป้องกันการกัดเซาะริมทะเลพร้อมงานป้องกันการกัดเซาะจากคลื่นกระโจน และ (2) การปรับปรุงภูมิทัศน์อันประกอบด้วยลานเอนกประสงค์พื้นที่ 21,700 ตารางเมตร และงานปฏิมากรรมริมทะเล

แท้จริงแล้วประมาณสองในสามของงานก่อสร้างนี้ (ประมาณ 2 กิโลเมตร) เป็นการสร้างโครงสร้างใหม่ลงบนชายฝั่งที่มีกำแพงกันคลื่นแบบคอนกรีตแนวดิ่ง และกำแพงกันคลื่นแบบหินทิ้งเดิมอยู่แล้ว น่าตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดกรมเจ้าท่าถึงต้องการสร้างกำแพงกันคลื่นอีกรูปแบบหนึ่งลงบนชายฝั่งที่มีกำแพงกันคลื่นรูปแบบอื่น ของหน่วยงานอื่นๆอยู่แล้ว หากมีความจำเป็นจริง เหตุใดจึงไม่สร้างบริเวณที่ไม่มีโครงสร้างป้องกัน

โครงสร้างกำแพงกันคลื่นแบบหินทิ้งเดิม
โครงสร้างกำแพงกันคลื่นคอนกรีตแนวดิ่งเดิม

ในฐานะประชาชนผู้เสียภาษี คงจะต้องรอคอยคำตอบถึงเหตุผลของงานก่อสร้าง ที่ทับลงไปบนพื้นที่ที่มีโครงสร้างป้องกันเดิมอยู่แล้ว ต่อไปอย่างใจเย็น