ริมชายฝั่งบริเวณนี้ถูกกัดเซาะไปแล้วกว่า 18 ไร่ หลังการก่อสร้างโครงสร้างป้องกันชายฝั่งตลอดแนวกว่า 20 กิโลเมตรบนคาบสมุทรตากใบ โดยกรมชลประทาน ชัยชนะจากการต่อสู้โดยลำพังของผู้หญิงคนนึงมาตลอดเกือบ 20 ปี ด้วยความเชื่ออย่างสุดใจว่า “ความจริงจะชนะทุกสิ่งแม้แต่ผู้ถืออำนาจรัฐ” จะถูกส่งต่อเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับนัก (อยาก) สู้ ทุกคน
โครงการศึกษาเพื่อพัฒนาลุ่มน้ำโกลก เป็นหนึ่งในโครงการความร่วมมือกันระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แห่งประเทศไทยกับกระทรวงเกษตรแห่งมาเลเซียที่ตกลงความร่วมมือกันเมื่อ กุมภาพันธ์ 2522 โดยรัฐบาลออสเตรเลียได้ส่งคณะที่ปรึกษาคือ บริษัท Snowy Mountain Engineering Corporation Limited (SMEC, https://www.smec.com/en_au) และ Mc Gowan International Pty Ltd. (MGI) มาดำเนินการศึกษาความเหมาะสมโครงการในช่วงกันยายน 2526-กันยายน 2528
โดยองค์ประกอบของโครงการนั้นมีหลายส่วน มีระยะเวลาก่อสร้างตามแผนในปีงบประมาณ 2538-2548 แต่ส่วนที่สำคัญอันเป็นเหตุแห่งคดีนี้คือ การสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำโกลก (Jetty, https://beachlover.net/wp-content/uploads/2019/07/Jetty.pdf) และ รอดักทราย (Groin, https://beachlover.net/wp-content/uploads/2019/07/Groin.pdf) เรื่อยมาทางทิศเหนือตลอดแนวกว่า 20 กิโลเมตร บนคาบสมุทรตากใบ
เหตุแห่งการสร้างรอดักทรายตลอดแนวกว่า 20 กิโลเมตรนั้น ด้วยพบว่าชายหาดแถบคาบสมุทรตากใบจะถูกกัดเซาะอย่างหนักหลังการสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำ เนื่องจากโครงสร้างนี้กีดขวางการเคลื่อนที่ของตะกอนเลียบชายฝั่งที่เคลื่อนที่ต่อเนื่องมาจากประเทศมาเลเซียขึ้นมาทางทิศเหนือ จึงส่งผลให้ชายหาดทางด้านทิศเหนือของโครงสร้าง ซึ่งในกรณีนี้คือคาบสมุทรตากใบเกิดการกัดเซาะอย่างหนัก ในขณะที่ทางทิศใต้ของโครงสร้างปากร่องน้ำคือประเทศมาเลเซียนั้นชายหาดจะเกิดการทับถม (ศึกษาตัวอย่างเพิ่มเติมกรณีที่โครงสร้างปากร่องน้ำส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชายฝั่งได้จาก https://beachlover.net/คดีสะกอม-จ-สงขลา/)
หลังการก่อสร้าง Jetty และ Groin แล้วเสร็จเมื่อปี 2542 (ตามที่ผู้ฟ้องระบุ ส่วนกรมชลประทานระบุว่าแล้วเสร็จเมื่อ 2546) คาบสมุทรตากใบตลอดระยะทางกว่า 20 กิโลเมตร ก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ชายหาดที่เคยเป็นแนวตรงทอดยาวจากปากน้ำโกลกไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือกลายสภาพเป็น “ชายหาดประดิษฐ์” เกิดการเว้าโค้งจากการก่อสร้างรอดักทราย ซึ่งเป็นผลกระทบแบบลูกโซ่อีกทอดหนึ่งจากการสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำทั้งสามแห่ง คือ โกลก ตากใบ และ น้ำแบ่ง โดยกรมชลประทาน โดยหลังการก่อสร้างโครงสร้างป้องกันชายฝั่งและปากแม่น้ำทั้งหมดแล้วเสร็จก็ได้โอนถ่ายให้กรมเจ้าท่าเป็นหน่วยงานผู้ดูแลต่อไปเมื่อปี 2546
โครงสร้างที่เป็นเหตุแห่งคดีคือรอดักทรายรูปตัวไอ (I Groin) ตลอดแนวของคาบสมุทรตากใบจำนวน 32 ตัว (จากภาพ Google earth แต่ในคดีระบุว่ามี 30 ตัว) ซึ่งมีหน้าที่ชะลอการเคลื่อนที่ของตะกอบเลียบชายฝั่ง ส่งผลให้พื้นที่ด้านเหนือน้ำซึ่งในกรณีนี้คือทิศใต้ทับถม ส่วนทิศเหนือซึ่งเป็นด้านท้ายน้ำถูกกัดเซาะ
จุดเริ่มต้นของการฟ้องคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อรอดักทรายซึ่งกรมชลประทานมีเจตนาสร้างเพื่อป้องกันชายฝั่งคาบสมุทรตากใบอันเกิดจากโครงสร้างปากร่องน้ำแล้วเสร็จเมื่อปี 2542 (ตามที่ผู้ฟ้องระบุ ส่วนกรมชลประทานระบุว่าแล้วเสร็จและส่งมอบให้กรมเจ้าท่าดูแลต่อเมื่อ 2546) พื้นที่ของผู้ฟ้องคดีที่เป็นสวนมะพร้าวและพืชพื้นถิ่นขึ้นประปราย ที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือติดกับรอดักทรายตัวสุดท้ายก็ถูกกัดเซาะไปเรื่อยๆจากเดิมเนื้อที่ 21 ไร่ 3 งาน 36 ตารางวา เหลือ 8 ไร่ 40 ตารางวา ในปี 2550 และเหลือเพียง 3 ไร่ 3 งาน 20 ตารางวา ในปี 2555
ทั้งหมดได้ดำเนินการเพียงลำพังไร้การสนับสนุนจากหน่วยงานทั้งรัฐเอกชนหรือ NGO โดยบุตรสาวทายาทของเจ้าของที่ดิน (ผู้ฟ้องคดี) และเป็นผู้รับมอบอำนาจ ด้วยเห็นแล้วว่า พื้นที่ทำกินผืนเดียวของผู้เป็นพ่อ (ผู้ฟ้องคดี) เสียหายจริงจากการดำเนินงานของภาครัฐ ทั้งที่มีเสียงรอบข้างย้ำเตือนอยู่ตลอดเวลาว่า “ประชาชนธรรมดาไม่มีทางสู้อำนาจรัฐได้” “เอาอะไรไปสู้กับเขา เขามีอำนาจมากกว่า” “สู้กับรัฐยังไงก็ไม่มีทางชนะ” แต่เธอก็พยายามนำความจริงให้ปรากฏต่อสาธารณะโดยไม่เกรงกลัวและท้อใจกับเสียงรอบข้าง ยังคงยืนหยัดอย่างมั่นคงและต่อสู้มาตลอดระยะเวลากว่า 16 ปี ด้วยความเชื่ออย่างสุดใจว่า “ความจริงจะชนะทุกสิ่งแม้แต่ผู้ถืออำนาจรัฐ”
ถึงวันนี้ วันที่ความยุติธรรมมาถึงจากการต่อสู้ยาวนานกว่า 16 ปี เมื่อศาลปกครองสูงสุดพิพากษาเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563 โดยอ่านคำพิพากษาเมื่อ 10 มิถุนายน 2563 ให้กรมชลประทานชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีจำนวน 2.224 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป และให้คืนค่าธรรมเนียมศาลแก่ผู้ฟ้องตามส่วนของการชนะคดี โดยมีข้อสังเกตว่า กรมชลประทานและกรมเจ้าท่าควรร่วมมือกันเร่งหาวิธีแก้ไขปัญหาในพื้นที่ดังกล่าวตามหลักวิชาการเพื่อมิให้เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีอีกกรณีเกิดความเสียหายต่อมาในภายหลัง (คำพิพากษา https://beachlover.net/คำพิพากษา-ศาลปกครองสูงสุด-คดีตากใบ/)
เนื้อหาในคดีนี้เป็นหนึ่งในบทเรียนสำคัญที่รัฐควรต้องพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนก่อนใช้มาตรการใดๆเพื่อการป้องกันพื้นที่ชายฝั่ง แต่อีกส่วนที่มีความสำคัญและน่าจดจำไม่แพ้กันคือ “ความเป็นนักสู้” ของทายาทเจ้าของที่ดิน ผู้ต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมจากรัฐยาวนานเพียงลำพังมาตลอดเกือบ 20 ปี ผู้ไม่ย่อท้อต่อเสียงรอบข้าง ผู้มิได้จบการศึกษาสูง ผู้มิได้มีความรู้ด้านกฎหมาย ผู้ร่างจดหมายถึงหน่วยงานรัฐด้วยถ้อยคำและภาษาบ้านๆที่เป็นการสื่อสารจากใจของประชาชนธรรมดาคนหนึ่ง ที่เพียงอยากเรียกร้องสิทธิความเป็นธรรมให้กับผู้เป็นพ่อ ถึงตอนนี้แม้ผู้เป็นพ่อ (ผู้ฟ้องคดีและเจ้าของที่ดิน) จะล่วงลับไปแล้วมากกว่า 7 ปี คำพูดก่อนจากไปที่ฝากฝังให้บุตรสาวเรียกร้องความเป็นธรรมและติดตามคดีนี้อย่างถึงที่สุด ภารกิจนี้ได้เสร็จสมบูรณ์แล้ว Mission นี้ Possible และปิดลงได้อย่างสมบูรณ์น่าจดจำ
แม้เรื่องราวของคดีนี้ได้ปิดฉากลงไปเมื่อต้นปี 2563 แล้วก็จริง แต่มันจะก่อให้เกิดผลสะเทือนกับประชาชนริมชายฝั่งที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ที่ยังเกรงกลัวต่อการใช้สิทธิของตนเอง ยังยำเกรงต่ออำนาจรัฐ และรู้สึกว่าสู้ยังไงก็ไม่มีทางชนะ เรื่องราวของ “นักต่อสู้” ในคดีนี้ น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้ “นักอยากสู้” ลุกขึ้นมากล้าใช้สิทธิของตนเอง กล้าส่งเสียงเพื่อเรียกร้องความถูกต้องและเป็นธรรมคืนกลับสู่ประชาชน
ขอเอาใจช่วยให้ “นักอยากสู้” กล้าออกมาเป็น “นักต่อสู้”