พาชมชายหาด เกาะยาวน้อย

เกาะยาวน้อย ตั้งอยู่ในเขต อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา อำเภอเกาะยาว มีพื้นที่ 147.8 ตารางกิโลเมตร แบ่งออกเป็น 2 เกาะ มี 3 ตำบลคือ เกาะยาวน้อย , เกาะยาวใหญ่ , พรุใน ชาวบ้านบนเกาะยาวน้อยจำนวนกว่า 4,600 คน นั้นส่วนใหญ่ 99% นับถือศาสนาอิสลาม มีอาชีพประมง ค้าขาย หมู่เกาะที่นี่สวยงามมีเกาะเล็กเกาะน้อยรอบๆ เกาะ เป็นเกาะที่เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชอบความสงบ ชื่นชอบธรรมชาติ รักสงบ (http://www.phangnga.go.th/koh-yaw-noi.html)

ทิวทัศน์จากเกาะยาวน้อย (ภาพเมื่อ: เม.ย.2564)

บนเกาะยาวน้อยเองนั้น มิได้มีชายหาดและทัศนียภาพบนเกาะที่สวยงามมากมายสักเท่าไหร่ แต่มีความหลากหลายของทรัพยากร ทั้งนาข้าว ป่าชายเลน ป่าชายหาด ทรัพยากรประมง และยังมีนกเงือกอพยพมาอยู่ที่นี่จำนวนมาก แต่สิ่งที่ตราตรึงใจคือ ทัศนียภาพรอบๆเกาะ เมื่อมองออกจากเกาะยาวน้อย จะพบเกาะแก่งรูปร่างแปลกตารายล้อมเกาะจำนวนมาก และนี่เอง คือแม่เหล็กที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวต่างชาติให้มาเสพความสวยงามของธรรมชาติอันสุขสงบที่นี่

ทิวทัศน์จากเกาะยาวน้อย (ภาพเมื่อ: เม.ย.2564)
ทิวทัศน์เกาะยาวใหญ่ที่เห็นได้จากเกาะยาวน้อย (ภาพเมื่อ: เม.ย.2564)

เกาะยาวน้อยวางตัวในแนวเหนือใต้ และมีพื้นที่ชายหาดหลักๆบนสองฝั่งทะเล คือฝั่งตะวันตก ซึ่งอยู่ติดกับเกาะยาวใหญ่ มีสภาพเป็นอ่าว พื้นที่ริมทะเลแถบนี้ส่วนมากเป็นหิน ดิน ทรายหยาบปนหิน ป่าชายเลน เป็นตำแหน่งที่อับคลื่นลมมากกว่าฝั่งตะวันออก จึงใช้เป็นท่าเรือ ที่จอดเรือประมง และกระชังปลาของชาวบ้าน

ชายหาดฝั่งตะวันตกของเกาะยาวน้อย (ภาพเมื่อ: เม.ย.2564)
ชายหาดฝั่งตะวันตกของเกาะยาวน้อย (ภาพเมื่อ: เม.ย.2564)
ชายหาดฝั่งตะวันตกของเกาะยาวน้อย (ภาพเมื่อ: เม.ย.2564)

ส่วนชายหาดท่องเที่ยวจะตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของเกาะเป็นส่วนใหญ่ เป็นที่น่าสังเกตว่าทรายบนหาดค่อนข้างละเอียดกว่าฝั่งตะวันตก สันหาดและแนวถนนเลียบชายหาดแถบนี้นั้นมีระดับสูงกว่าระดับน้ำทะเลไม่มาก และมีโขดหินใต้น้ำ หลากหลายขนาด รอบๆเกาะและบนชายหาดของทั้งสองฝั่งของเกาะ

หาดป่าทราย ฝั่งตะวันออกของเกาะยาวน้อย (ภาพเมื่อ: เม.ย.2564)

จากการสำรวจวัสดุประกอบหาดเบื้องต้น พบหินทรายสีแดงปนหินทรายแป้ง เศษหิน เศษเปลือกหอย พบว่ามีตะกอนทรายจริงๆค่อนข้างน้อย ขนาดตะกอนมีความหลากหลายสูง พบหินปูนที่ละลายน้ำได้ดีปะปนด้วย

วัสดุประกอบหาด ฝั่งตะวันตกของเกาะยาวน้อย (ภาพเมื่อ: เม.ย.2564)

ด้วยลักษณะภูมิประเทศของเกาะนั้นมีพื้นที่เลียบชายหาดค่อนข้างแคบ สันหาดและแนวถนนเลียบชายหาดมีระดับสูงกว่าระดับน้ำทะเลไม่มาก ประกอบกับ Tidal range หรือพิสัยการขึ้นลงของระดับน้ำทะเลที่นี่ค่อนข้างสูง (http://www.hydro.navy.mi.th/servicestide.htm) ยามน้ำลงเราจะพบชายหาดที่กว้างมากๆ ส่วนยามน้ำขึ้น น้ำทะเลจะขึ้นมาประชิดริมฝั่งมากๆเช่นกัน โดยในบางจังหวะเวลาคลื่นอาจยกระดับพ้นขอบฝั่งซัดขึ้นมาบนถนนบ้าง ท้องถิ่นจึงได้สร้างกำแพงกันคลื่นเพื่อป้องกันในตำแหน่งที่สำคัญๆไว้บางส่วน สามารถรับชมภาพมุมสูงเพิ่มเติมได้จาก https://www.youtube.com/watch?v=LnT6EyFQN1Q

กำแพงกันคลื่นชายหาดฝั่งตะวันออกของเกาะยาวน้อย (ภาพเมื่อ: เม.ย.2564)
กำแพงกันคลื่นชายหาดฝั่งตะวันออกของเกาะยาวน้อย (ภาพเมื่อ: เม.ย.2564)
กำแพงกันคลื่นด้านทิศใต้ของหาดป่าทราย ฝั่งตะวันออกของเกาะยาวน้อย (ภาพเมื่อ: เม.ย.2564)

ด้วยการพัฒนาของพื้นที่เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ท้องถิ่นจึงต้องการสร้างโครงสร้างป้องกันชายฝั่งมากขึ้นโดยหวังว่า จะเพิ่มความมั่นคงปลอดภัยให้กับการรองรับนักท่องเที่ยวในอนาคต ในสองตำแหน่ง ได้แก่ หาดป่าทราย ทางฝั่งตะวันออกของเกาะ และ ถนนเลียบชายฝั่งไปสู่ท่าเทียบเรือบ้านอันเป้าทางฝั่งตะวันตกของเกาะ

สิ่งที่ท้องถิ่นคิดนั้น จะบรรลุตามวัตถุประสงค์ได้จริงหรือไม่ คงขึ้นอยู่กับรูปแบบของงานป้องกันชายฝั่งที่หน่วยงานที่รับผิดชอบจะพิจารณา ให้สอดรับกับบริบทพื้นที่และสอดคล้องตามวัตถุประสงค์ โดยต้องมุ่งหวังเพื่อเก็บชายหาดไว้ให้ยังคงสมบูรณ์สวยงามอยู่คู่กับเกาะยาวน้อยต่อไป