กำแพงกันคลื่น ณ แหลมงู เกาะลันตาน้อย

ฝั่งตะวันออกของเกาะลันตาน้อย ในเขตหมู่ 3 เป็นที่ตั้งของแหลมงู ซึ่งมีลักษณะเป็นแหลมขนาดเล็กยื่นลงไปในทะเล มีถนนหมายเลข กบ.5035 ตัดเลาะริมชายฝั่ง ฝั่งหนึ่งของพื้นที่มีบ้านชาวประมง 4-5 หลังคาเรือน ปลูกสร้างอยู่ในทะเล สภาพพื้นที่โดยรวมรอบๆเป็นหาดทรายปนโคลนและป่าชายเลน

ภาพเมื่อ ตุลาคม 2563
บ้านชาวประมงที่อยู่ติดกับพื้นที่โครงการ (ภาพเมื่อ ตุลาคม 2563)

การใช้ประโยชน์บริเวณชายฝั่งส่วนใหญ่เป็น การใช้ประโยชน์สําหรับจอดเรือประมง การนําผลผลิตสัตว์น้ําที่จับได้ขึ้นฝั่ง และการชักลากเรือขึ้นจอดบนหาดเพื่อซ่อมแซมเป็นคร้ังคราว ส่วนการใช้ประโยชน์ด้านในชายฝั่งซึ่งอยู่ถัดจากแนวถนนสาย กบ.5035 พบว่า เป็น พื้นที่ป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าหลังสอดและป่าควนบากันเกาะ (เอกสารสรุปโครงการฯโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง)

พื้นที่โครงการ (เอกสารสรุปโครงการฯโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง)

ด้วย Beach Lover ไม่ได้ติดตามการกัดเซาะชายฝั่งทั้งเกาะลันตาใหญ่และลันตาน้อยเท่าใดนัก จึงได้ลองค้นข้อมูลภาพและข่าวจากสื่อเพื่อให้ทราบถึงข้อมูลการกัดเซาะบริเวณนี้จนเป็นเหตุจำเป็นต้องสร้างโครงสร้างนี้ พบว่าไม่ปรากฏทั้งภาพและข้อมูลใดๆที่ระบุว่าแหลมงูถูกกัดเซาะตั้งแต่อดีตจนถึงก่อนการเริ่มลงนามในสัญญาจ้างในปี 2560 พบเพียง VDO clip เพื่อโปรโมทโครงการโดยกรมโยธาธิการและผังเมืองเท่านั้น (https://www.youtube.com/watch?v=T1sTkptM6GE)

Beach Lover ได้ลงสำรวจพื้นที่แหลมงูพบว่า โครงสร้างป้องกันชายฝั่งนี้มีสองลักษณะ ได้แก่กำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันได และแบบหินเรียง เหมือนกับอีกหลายโครงการที่กรมโยธาธิการและผังเมืองดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน รวมระยะทางประมาณ 300 เมตร ด้วยงบประมาณ 41.238 ล้านบาท ดำเนินการก่อสร้างโดยบริษัท เอสซีจี 1995 จำกัด ซึ่งถือเป็นบริษัทที่ชนะการประกวดราคาและได้ก่อสร้างโครงการป้องกันชายฝั่งมากเป็นอันดับที่สองเมื่อคิดจากงบประมาณเพื่อการป้องกันชายฝั่งทะเลตั้งแต่ปี 2558-2562 (https://beachlover.net/เปิด-5-รายชื่อบริษัท-งานป้องกันชายฝั่ง/)

กำแพงกันคลื่นทั้งสองรูปแบบ (ภาพเมื่อ ตุลาคม 2563)
โครงสร้างกำแพงกันคลื่นแบบหินเรียง (เอกสารสรุปโครงการฯโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง)
โครงสร้างกำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันได (เอกสารสรุปโครงการฯโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง)

บริเวณกำแพงกันคลื่นที่อยู่ติดกับบ้านชาวประมงนั้น ได้จัดทำทางลาดสำหรับการขึ้นลงเรือกว้าง 5 เมตร ความชัน 1:5 เท่าที่สำรวจยังไม่พบว่าเรือประมงใช้ทางลาดนี้สำหรับการลากเรือขึ้นลง รวมถึงชาวประมงได้ระบุว่าทางลาดชันเกินกว่าที่จะใช้งานได้

ทางลาดสำหรับการขึ้นลงเรือ (ภาพเมื่อ ตุลาคม 2563)

นอกจากนี้ยังมีทางลาดสำหรับรถเข็น จัดทำเป็นทางลาดแบบหมุนกลับ 180 องศา โดยในวันที่สำรวจพบว่าบางส่วนจมอยู่ใต้น้ำทะเล

ทางลาดสำหรับรถเข็น (ภาพเมื่อ ตุลาคม 2563)
ทางลาดสำหรับรถเข็น (ภาพเมื่อ ตุลาคม 2563)