การเดินทางของเม็ดทราย: ตอนที่ 10 ปลายแหลมตาชี

“นี่มันยาวมากเลยนะ เดินจนเหนื่อยละยังไม่ถึงที” รุ่นพี่เริ่มบ่นปนหอบ หลังเดินไปตามทางคอนกรีตเล็กๆเชื่อมระหว่างที่จอดรถไปยังปลายแหลม

“จริงๆคนที่นี่เค้าเรียกแถวนี้ว่าแหลมโพธิ์กันนะพี่ เพราะแต่ก่อนมีต้นโพธิ์ขึ้นอยู่เยอะเลย” คนท้องถิ่นอย่างดาด้าเริ่มเล่าที่มาของชื่อแหลมตาชีในอดีต “คนที่อาศัยอยู่แหลมโพธิ์นี้เมื่อก่อนบ้านอยู่ที่กรือแซะอาชีพหลักคือประมง พอล่องเรือมาหาปลาแถวนี้แล้วเกิดพายุ กลับบ้านไม่ได้ เลยสร้างกระท่อมหลังเล็กๆ เพื่อพักรอคลื่นลมสงบ ต่อมาชาวบ้านจากหมู่บ้านอื่นๆ ก็มาสร้างที่พักเพิ่มมากขึ้นจนถึงตอนนี้ก็มีสภาพอย่างที่เห็น การเดินทางสมัยก่อนค่อนข้างลำบาก ไม่มีถนนและไฟ ต้องใช้เรือเป็นหลัก คนทั่วไปเลยไม่ค่อยรู้จักแหลมโพธิ์ ตอนนี้การเดินทางสะดวกทำให้แหลมโพธิ์เป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้น” ดาด้าเล่าต่อด้วยความภาคภูมิใจกับความรู้ในท้องถิ่นของตนเอง

Google Earth แหลมตาชีและอ่าวปัตตานี

แหลมตาชีหรือแหลมโพธิ์ สัญลักษณ์ที่สำคัญของชายฝั่งทะเลจังหวัดปัตตานี ณ ที่แห่งนี้ตะกอนทรายที่เดินทางเลียบชายฝั่งมาตั้งแต่ปากแม่น้ำโกลกจะเคลื่อนที่มาสะสม เติมเต็มให้แหลมตาชีงอกยื่นยาวออกไปเรื่อยๆ โดยฝั่งซ้ายหรือทิศใต้ของปลายแหลมเป็นป่าชายเลนในอ่าวปัตตานี ส่วนฝั่งขวาหรือทิศเหนือเป็นป่าชายหาดและทะเลฝั่งอ่าวไทย (https://beachlover.net/เม็ดทรายสุดท้ายที่ปลายแหลมตาชี/)

“ปลายแหลมมันยื่นยาวขึ้นเกือบทุกปี รูปทรงของสันทรายที่ปลายแหลมก็เปลี่ยนแปลงไปตามกระบวนการทางธรรมชาติตลอด ตรงปลายสุดนี้เป็นสันทรายขนาดใหญ่มากๆ กว้างกว่า 180 เมตรได้ ยื่นยาวออกไปจากแนวป่าสนประมาณ 320 เมตร” เม็ดทรายเริ่มเล่าความรู้ที่ตัวเองค้นเจอผ่าน Smartphone บ้าง

“นี่ๆ ดูตรงโน้นสิ มันมีสันทรายเล็กๆตรงปลายแหลม น่าจะเดินข้ามไปได้นะ ไปกันไหม” รุ่นพี่ชี้ชวนน้องๆให้เดินข้ามไปยังสันทรายปลายแหลมที่ตอนนี้พอจะเดินลุยน้ำข้ามไปได้เนื่องจากเป็นช่วงน้ำลงพอดี

นักวิชาการบางสำนักชี้ว่า ปลายแหลมนี้กำลังค่อยๆโค้งเข้าไปปิดปากอ่าวปัตตานีในอนาคต ในขณะที่บางสำนักชี้ว่า โอกาสเกิดแบบนั้นน่าจะมีความเป็นไปได้น้อยตราบเท่าที่ยังมีน้ำไหลออกจากปากแม่น้ำปัตตานี

“บ้านพี่ที่นรามันไม่มีแหลมทรายสวยๆแบบนี้เลย เท่าที่รู้ก็มีที่นี่กับที่ตะลุมพุก ไว้พอทรายไปตะลุมพุกอย่าลืมถ่ายรูปส่งมาให้ดูบ้างนะ น่าจะสวยเหมือนกัน” รุ่นพี่พูดพลางภาวนาอยู่ในใจว่า “หวังว่าที่นี่ จะยังคงสวยงามแบบนี้ต่อไป ขออย่าให้มีโครงการพัฒนาอะไรมาทำลายปลายแหลมแห่งนี้เลย”