Google earth หาดมหาราช จ.สงขลา ไร้การกัดเซาะ [15 ม.ค.2563]

ในโพสก่อนหน้านี้ได้ไล่เรียงเรื่องราวของชายหาดมหาราช โดยใช้ภาพถ่ายจากการสำรวจภาคสนามในเดือน พ.ย.2562 ถึง ม.ค.2563 แม้จะได้ข้อมูลที่เห็นภาพเชิงประจักษ์ แต่ยังมีข้อจำกัดเรื่องความยาวนานของข้อมูล [ศึกษาโพสที่เกี่ยวข้องจาก https://beachlover.net/ตอกเข็มแล้ว-หาดมหาราช/]

วิธีการที่ง่ายและประหยัดที่สุดในยุคนี้ที่จะสามารถศึกษาประวัติการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งได้ในระยะยาวคือการศึกษาจากภาพถ่ายดาวเทียม Google Earth ที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายใช้งานสะดวกโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

หากศึกษาจาก Google earth ย้อนหลังไปตั้งแต่ปี 2013 (หรือ พ.ศ.2556) จนถึงปี 2019 (หรือ พ.ศ.2562) ณ พื้นที่ชายหาดมหาราช พบการเปลี่ยนแปลงดังภาพ

มี.ค.2556
ส.ค.2558
มี.ค.2558
มี.ค.2562

ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมลักษณะนี้ แม้จะมีข้อจำกัดเรื่องของแนวชายฝั่งที่เป็นแนวน้ำตัดกับทราย ที่จะแปรเปลี่ยนไปตามระดับน้ำขึ้นลง หากเราต้องการกำจัดอิทธิพลเรื่องระดับน้ำแตกต่างกันที่ว่านี้ออกไป นิยามของแนวชายฝั่งอีกตัวหนึ่งที่ใช้กันอย่างแพร่หลายคือ แนวพืชขึ้นถาวร (Permanent vegetation line) [ศึกษาเพิ่มเติมจาก https://beachlover.net/shoreline-detection/]

เมื่อเรามองภาพรวมของหาดมหาราชทั้งสี่ภาพด้านบนจะพบว่า แนวพืชขึ้นถาวร (แนวขอบของหญ้า ผักบุ้งทะเล หรือต้นสน) นั้นไม่มีร่องรอยการเปลี่ยนแปลงที่จะสามารถบ่งบอกได้ว่าบริเวณนี้เผชิญปัญหากัดเซาะชายฝั่งจนต้องสร้างโครงสร้างป้องกันชายฝั่ง นอกจากนั้นยังพบว่ากำแพงกันดินที่ท้องถิ่นเคยสร้างไว้เดิมเพื่อปรับภูมิทัศน์ยังถูกปกคลุมมิดด้วยหญ้าและผักบุ้งทะเล นั่นย่อมชี้ให้เห็นว่าชายหาดมีเสถียรภาพต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลานาน

กำแพงกันดินที่ท้องถิ่นเคยสร้างไว้เดิมเพื่อปรับภูมิทัศน์
กำแพงกันดินที่ท้องถิ่นเคยสร้างไว้เดิมเพื่อปรับภูมิทัศน์

จริงอยู่ว่า ภาพถ่ายดาวเทียมจาก Google earth นั้นยังมีข้อจำกัดเรื่องระยะเวลาที่ถ่ายภาพ เช่น ไม่มีรอบการวนกลับมาถ่ายซ้ำคงที่ มีความถี่ต่ำมากในการวนมาถ่ายตำแหน่งเดิม จึงอาจไม่มีภาพของชายหาดในช่วงเวลาที่หาดเปลี่ยนแปลงอย่างเด่นชัด แม้กระนั้นก็ตาม หากชายหาดนี้ถูกกัดเซาะอย่างรุนแรงจนเป็นเหตุผลให้เกิดโครงสร้างกำแพงกันคลื่นมูลค่ากว่า 167 ล้านบาทในปี 2563 ก็น่าจะเห็นร่องรอยการกัดเซาะบนพื้นถนน หรือพื้นที่ด้านในถนนบ้าง แต่สิ่งที่เห็นเชิงประจักษ์คือสภาพชายหาดที่สมบูรณ์ มีพืชชายหาดขึ้นปกคลุม แสดงให้เห็นถึงเสถียรภาพของชายหาดที่ไร้การเปลี่ยนแปลงมาเป็นระยะเวลานาน ซึ่งสอดคล้องกับภาพถ่ายดาวเทียมจาก Google earth และภาพจากการสำรวจภาพสนาม

จะสร้างอะไร อย่างไร ได้ผลแบบใด เป็นเรื่องที่สามารถถกเถียงกันได้ แต่หากไร้ซึ่ง “ความจำเป็น” ที่เป็น “เหตุ” แล้วนั้น ไม่ว่าจะออกมาในรูปแบบใด ย่อมไร้ซึ่ง “ความชอบธรรม” ในการดำเนินโครงการทั้งสิ้น