สำรวจความเสียหายของโครงสร้างป้องกันชายฝั่ง เกาะพีพี หลังพังยับเยิน

ตามที่สื่อหลายสำนัก รายงานข่าวเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาถึงความเสียหายของกำแพงกันคลื่นและทางเดินสาธารณะบนเกาะพีพี จ.กระบี่ เป็นต้นว่า (Click ที่ชื่อหัวข้อข่าว เพื่อนำไปสู่บทความเฉพาะเต็ม)

ทะเลคลั่งที่เกาะพีพี คลื่นลมหัวนอน 3 เมตร ซัดเขื่อนพังกว่า 100 เมตร

ระทึก! เกาะพีพีคลื่นรุนแรงซัดฝั่ง ทำเขื่อนกั้นบริเวณหน้าโรงพยาบาลเกาะพีพี พังเสียหาย

เกาะพีพีระทึก คลื่นลมแรงซัดชายฝั่ง เขื่อนกั้นน้ำหน้า รพ.เกาะพีพี พังเสียหาย

คลื่นซัดฝั่งรุนแรง ทำให้เขื่อนกั้นบริเวณหน้าโรงพยาบาลเกาะพีพี พังเสียหาย

ส.ส.ภูมิใจไทย จี้รัฐบาล เร่งใช้งบ 67 แก้ปัญหาเขื่อนท่าเทียบเรือเกาะพีพีพังถล่ม

หน่วยงานลงพื้นที่สำรวจประเมินความเสียหายแนวเขื่อนหน้าเกาะพีพี จ.กระบี่ ถูกคลื่นพัดพังเสียหาย

Beach Lover ได้ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายของโครงสร้างตามข่าวนี้ ตลอดทั้งแนวกว่า 300 เมตร บริเวณทิศตะวันตกของอ่าวต้นไทร ในวันที่ 9 สิงหาคม 2567 มีสภาพทั่วไปตามรูป

ตามข้อมูลที่สามารถสืบค้นได้ พบว่า โครงสร้างที่ได้รับความเสียหายตามภาพนี้ คือกำแพงกันคลื่นแบบเกเบี้ยน ที่ถูกวางทับด้วยโครงสร้างทางเดินเท้าและเสาไฟฟ้า และวางลงไปชายหาดอีกชั้นหนึ่ง เริ่มสร้างตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2558 แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2559 ด้วยงบประมาณรวม 14.78 ล้านบาท นอกจากนั้นยังมีการตั้งงบประมาณเพื่อซ่อมแซมในปี 2562-2563 ด้วยงบประมาณ 1.743 ล้านบาท โดย อบต.อ่าวนาง จ.กระบี่

จากการเดินเท้าสำรวจตลอดทั้งแนว พบว่า เกิดความเสียหายทางทิศตะวันตกของโครงสร้างเป็นหลัก (ทิศตะวันตกของท่าเทียบเรือ) โดยเสียหายเกือบ 100% แทบไม่มีทางที่จะซ่อมแซมให้กลับสู่สภาพเดิมได้เลยนอกจากการรื้อออกและสร้างใหม่ ส่วนหนื่งเกิดการน้ำหนักของโครงสร้างทางเดินคอนกรีตที่วางทับลงไปบนกล่องเกเบี้ยน ที่อาจไม่ได้ถูกออกแบบไว้ให้รองรับน้ำหนักของโครงสร้างด้านบนรวมถึงแรงดันด้านข้างมากนัก

จึงพบว่า การพังทลายนี้เป็นการพังจากโครงสร้างด้านบนที่มีฐานที่ไม่แข็งแรงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อถูกคลื่นซัดข้ามและกระทบกับผิวโครงสร้าง จึงเกิดรอยแยกและพังทลายลงมาในที่สุด เกือบตลอดทั้งแนวยังพบว่ากล่องเกเบี้ยนยังวางอยู่ตามแนวชายหาดเกือบจากในแนวเดิม มีการเคลื่อนไปบ้างตามความรุนแรงของคลื่น บางส่วนมีสภาพชำรุดเช่น พบการแตกและหลุดออกมาของหินที่อยู่ด้านในกล่องบ้าง โดยมีบางส่วนยังอยู่ในสภาพปกติ

พบว่าชายหาดส่วนปลายสุดของกำแพงและทางเดินนี้ทางทิศตะวันตกยังอยู่ในสภาพดี ไร้ร่องรอยของการกัดเซาะอย่างรุนแรง แตกต่างจากชายหาดส่วนที่มีโครงสร้างกำแพงและทางเดินสาธารณะนี้เป็นอย่างมาก

เมื่อทำการบินสำรวจ ยิ่งเป็นที่ประจักษ์ว่า โครงสร้างที่พังเสียหายนี้ วางตัวอยู่บนชายหาดที่น้ำท่วมถึงเกือบตลอดเวลา ไม่น่าแปลกใจหากจะเกิดการพังเสียหาย เพราะยื่นล้ำลงไปรับแรงปะทะของคลื่นมากกว่าชายหาดปกติที่อยู่บริเวณข้างเคียง ประกอบกับ แนวชายหาดด้านหน้าส่วนที่โครงสร้างนี้วางตัวอยู่เป็นร่องน้ำลึกว่าพื้นที่อื่นข้างเคียง ยิ่งส่งผลให้คลื่นที่วิ่งเข้ามาปะทะยังคงความรุนแรงได้มากกว่าพื้นที่ส่วนอื่นที่น้ำตื้นกว่า

ผู้ประกอบการบนเกาะพีพียังให้ข้อมูลกับ Beach Lover ว่า ในอดีตชายหาดบริเวณอ่าวต้นไทรยื่นยาวออกไปไกลกว่านี้มาก แต่ค่อยๆหดสั้นลงจนมีสภาพตามที่เห็นในปัจจุบัน

This image has an empty alt attribute; its file name is 22-1024x576.jpg

เราไม่สามารถทวงคืนผืนแผ่นดินที่หดหายไปในอดีตจากธรรมชาติได้ และสิ่งนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานและประชาชนต้องยอมรับให้ได้ หนทางที่ดีที่สุดอาจไม่ใช่การต่อสู้เรียกร้องเอาคืน แต่อาจเป็นการรอมชอม ประนีประนอมกับกระบวนการทางธรรมชาติที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรุนแรงกว่าในอดีตมาก

หากเราดำเนินการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งแบบเดิม เราก็คงได้ผลลัพธ์ที่ไม่ต่างจากเดิม น่าจะถึงเวลาที่หน่วยงานและประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียบนเกาะ จะถือเอาโอกาสนี้พัฒนา “พีพีโมเดล” เพื่อการป้องกันชายฝั่งอย่างยั่งยืน ให้สมกับเกาะที่ดึงเม็ดเงินเข้าสู่จังหวัดและประเทศมหาศาล และเพื่อให้สอดรับกับกระแสการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals, SDGs) ของโลกในปัจจุบัน