Elastocoast กับกำแพงกันคลื่น

Elastocoast คือวัสดุที่ใช้เพื่อเททับแนวเขื่อนป้องกันการกัดเซาะตลิ่งแม่น้ำและทะเล ประกอบด้วยหินกรวดขนาดเล็กที่ถูกยึดติดกันด้วยโพรียูรีเทน 2 องค์ประกอบ (Two-component polyurethane) โดยหินกรวดนี้จะถูกน้ำยาเคลือบเหมือนมี Film บางๆของโพรียูรีเทนมาหุ้ม เมื่อน้ำยานี้แข็งตัว Film บางๆที่เคลือบหินกรวดจะเป็นตัวยึดให้หินทุกก้อนติดกันเฉพาะส่วนที่ contact กัน ซึ่งจะทำให้เกิดช่องว่างระหว่างก้อนกรวดนี้ ส่งผลให้โครงสร้างที่ถูกเททับด้วย Elastocoast มีความพรุนน้ำสูง ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการการรับแรงปะทะและสลายพลังงานคลื่น

Beach Lover ได้เคยนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับ Elastocoast ไปแล้ว ติดตามได้จาก https://beachlover.net/elastocoast-คืออะไร/ วันนี้ขอพาชมโครงการของกรมเจ้าท่าที่ใช้ Elastocoast เป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบโครงการกำแพงป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณบ้านทุ่งใหญ่ ต.เขารูปช้าง หรือที่ชาวบ้านแถบนี้เรียกกันว่าริมทะเลบ่ออิฐ-เกาะแต้ว ที่เพิ่งแล้วเสร็จสมบูรณ์ไปเมื่อปลายเดือนกันยายน 2565 ด้วยระยะทาง 3,450 เมตร งบประมาณ 219,935,000 บาท

พบว่า มีการใช้ Elastocoast กับพื้นที่ด้านในส่วนถัดจากโครงสร้างหลัก หรือ กำแพงกันคลื่นแบบหินเรียงตลอดทั้งแนว โดยมีระดับอยู่ใกล้เคียงกับสันของกำแพงกันคลื่นพอดี โดยพบว่าพื้นที่ด้านในส่วนถัดจาก Elastocoast เข้ามามีการปูทับด้วยคอนกรีตบล็อคเพื่อเป็นทางเดินเท้า

จากการสำรวจพบเศษหินขนาดเล็กที่หลุดล่อนออกจากการเคลือบประสานด้วยน้ำยาอยู่บ้าง โดยยังไม่พบความเสียหายในลักษณะเดียวกันกับพื้นที่อื่นๆที่ใช้ Elastocoast เหมือนกัน อาจเกิดจากการที่พื้นที่อื่นๆได้ใช้ Elastocoast เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างหลักเพื่อป้องกันชายฝั่ง แต่ในพื้นที่นี้ Elastocoast ถูกใช้กับพื้นที่ด้านในโครงสร้างหลักอีกที จึงมิได้ปะทะแรงคลื่นโดยตรง

มีข้อน่าสังเกตว่า สีของโครงสร้าง Elastocoast ในพื้นที่เดียวกันและต่อเนื่องกันนั้นแตกต่างกัน ไม่แน่ใจว่ามีเหตุผลในเชิงวิศวกรรมหรือเชิงวิชาการหรือไม่