ระบบการวิเคราะห์เส้นชายฝั่งดิจิตอล (Digital Shoreline Analysis System, DSAS) 

ระบบการวิเคราะห์เส้นชายฝั่งดิจิตอล (Digital Shoreline Analysis System, DSAS) เป็นเครื่องมือหนึ่งในโปรแกรมระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (ArcGIS) มีขั้นตอนการทำงาน ดังภาพที่ 1 ถูกพัฒนาโดยหน่วยสำรวจธรณีวิทยาประเทศสหรัฐอเมริกา (United States Geological Survey: USGS) ใช้คำนวณทางสถิติของการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งในหลายช่วงระยะเวลา

ภาพที่ 1 แผนภาพแสดงขั้นตอนการทำงานของ DSAS (Himmelstoss et al., 2018)

โดยข้อมูลที่นำเข้าคือ แนวชายฝั่ง (Shoreline) และเส้นอ้างอิง (Baseline) เพื่อสร้างเส้นแบ่งระยะที่ตั้งฉากกับแนวชายฝั่ง (Transect) โดยโปรแกรมจะสร้างเส้น Transect ตามที่ผู้ใช้กำหนดระยะที่ต้องการไว้ และจะทำการคำนวณค่าสถิติต่างๆของการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งให้ ยกตัวอย่างเช่น 

– Shoreline Change Envelope (SCE) คือ ระยะทางระหว่างแนวชายฝั่งเส้นในสุดกับเส้นนอกสุด ดังภาพที่ 2

– Net Shoreline Movement (NSM) คือ ระยะทางสุทธิระหว่างแนวชายฝั่งปีที่เก่าที่สุดและแนวชายฝั่งปีที่ใหม่ที่สุด ดังภาพที่ 2

– End Point Rate (EPR) คือ อัตราการเปลี่ยนแปลงชายฝั่ง โดยคำนวณจากค่า NSM หารด้วยระยะเวลาระหว่างปีที่เก่าที่สุดและปีที่ใหม่ที่สุด ดังภาพที่ 2

ภาพที่ 2 การคำนวณ SCE, NSM และ EPR (Himmelstoss et al., 2018)

การศึกษาที่ผ่านมาในประเทศไทย เจนจิรา ได้ประยุกต์ใช้สาระสนเทศภูมิศาสตร์เพื่อการวิเคราะห์สถานการณ์การกัดเซาะชายฝั่งโดยใช้ระบบวิเคราะห์เส้นชายฝั่งดิจิตอล (เจนจิรา, 2560) บริเวณตำบลสองคลอง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงชายฝั่งในช่วงระยะเวลา 15 ปี ตั้งแต่ ปี พ.ศ.2540-2559 โดยการแปลภาพถ่ายดาวเทียมร่วมกับการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงชายฝั่งโดยระบบวิเคราะห์เส้นชายฝั่งดิจิตอล

เอกรักษ์และวุฒิพงษ์ ได้ศึกษาการตรวจสอบและการพยากรณ์ผลกระทบจากโครงสร้างวิศวกรรมชายฝั่งทะเลต่อการเปลี่ยนแปลงแนวชายฝั่งบริเวณปากร่องน้ำทะเลสาบสงขลาดยใช้เทคนิคเชิงพื้นที่ (เอกรักษ์และวุฒิพงษ์, 2562) ในช่วงระยะเวลา 48 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2510-2558 โดยการแปลภาพถ่ายทางอากาศร่วมกับการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงชายฝั่งโดยระบบวิเคราะห์เส้นชายฝั่งดิจิตอล