กำแพงกันคลื่นที่จะเกิดขึ้นที่หาดแตงโม เกาะสุกร จ.ตรัง [13 พ.ย.2562]

ไม่เคยไปหาดแตงโม (Watermelon beach ในภาพจาก google earth) และไม่เคยไปเกาะสุกร จ.ตรัง สงสัยว่ามีการกัดเซาะระดับที่ชาวบ้านเดือดร้อนมากจนต้องใช้งบประมาณรวม 50 ล้านบาท (ปี 63 ใช้ 10 ล้านบาท) เพื่อสร้างกำแพงกันคลื่น 350 เมตร ขนาดนั้นเลยหรือ? ภาพจาก google แสดงให้เห็นถึงชายหาดธรรมชาติ บนเกาะที่มีความเป็น local สูง และแทบจะไม่มีชุมชนตั้งประชิดชายหาดเลย สังเกตเห็นร่องรอยลางๆของกำแพงอยู่บริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของหาดแตงโม คำถามตัวโตๆ … เรามีความจำเป็นขนาดนั้นเลยหรือ ?!? (ที่มา:งบประมาณของกรมโยธาธิการและผังเมืองที่เสนอต่อสภาฯ)

Beachlover

November 13, 2019

ใกล้แล้ว! การมาถึงของโครงสร้างบางอย่าง ณ หาดมหาราช [5 พ.ย.2562]

หาดมหาราช หาดทรายชายทะเลที่สงบ ร่มรื่น และมีความเป็นส่วนตัวมาก หาดทรายขาวน้ำไม่ลึกมาก สามารถเล่นน้ำได้ดี มีชายหาดร่มรื่นด้วยทิวสน มีการจัดแต่งเป็นที่พักผ่อน ที่ชมทิวทัศน์ ให้ความสะดวกในการพักผ่อนที่กลมกลืนกับธรรมชาติพอสมควร ด้านหลังแนวหาดเป็นสวนหย่อมและเป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ประทับยืนหันหน้าออกสู่ทะเล มีที่พัก ร้านอาหาร ให้บริการนักท่องเที่ยว (http://www.painaidii.com) ชายหาดแห่งนี้เคยมีการสร้างกำแพงกันดินเพื่อปรับภูมิทัศน์ไปแล้วหนึ่งครั้ง ซึ่งปัจจุบันกำแพงนั้นได้ถูกพืชชายหาดปกคลุมจนเกือบมิด นั่นย่อมแสดงให้เห็นว่า ชายหาดแห่งนี้ค่อนข้างเสถียร แทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงกายภาพใดๆ แนวกำแพงกันดินเดิมริมชายหาด แม้ช่วงที่เกิดพายุซัดฝั่งอย่างพายุปาบึกเมื่อเดือนมกราคม 2562 จากการลงพื้นที่สำรวจก็ไม่ปรากฏร่องรอยของการกัดเซาะชายฝั่ง มีเพียงทรายที่ถูกคลื่นซัดขึ้นมาบนถนนและน้ำที่กระเซ็นข้ามมาด้านในเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่วันนี้ (พ.ย.2562) เริ่มเห็นเสาเข็มจำนวนมากมาวางริมชายหาด มีการปักหมุดเขตการก่อสร้าง อะไรซักอย่าง คาดเดาได้ว่าน่าจะเป็นกำแพงกันคลื่นที่จะวางตัวอยู่บนชายหาดอย่างแน่นอน   เราจะสร้างกำแพงทับลงไปบนชายหาดที่สมบูรณ์แบบนี้หรือ ?  เราต้องใช้โครงสร้างทางวิศวกรรมป้องกันชายหาดที่ไร้ร่องรอยการกัดเซาะด้วยหรือ ?                                     […]

Beachlover

November 13, 2019

ความคืบหน้างานเติมทรายหาดชลาทัศน์ สงขลา [5 พ.ย.2562]

ความคืบหน้างานเติมทรายหาดชลาทัศน์ สงขลา ยังคงอยู่บริเวณหน้าฐานทัพเรือ ก่อนถึงสนามยิงปืน โดรนสามารถบินเข้าใกล้ได้มากที่สุดเพียงเท่านี้ น่าติดตามว่า ลมมรสุมตะวันออกเฉียงกำลังจะเข้าสงขลาประมาณปลายเดือนนี้แล้ว หากยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อชายหาด ทั้งที่เติมไปแล้วและที่กำลังดำเนินการอยู่ รอติดตามอย่างใจเย็น

Beachlover

November 12, 2019

กำแพงกันคลื่น หาดบางศิลา-บ้านหัวหิน จ.สตูล [3 พ.ย.2562]

หากขับรถผ่านถนเลียบหาดบางศิลา ต่อเนื่องมาถึงหาดบ้านหัวหิน จ.สตูล ยามนี้ จะมองทะเลไม่เห็นเลยเนื่องจากมีกำแพงกันคลื่นกั้นเกือบตลอดทั้งชายหาด เปิดทางลงชายหาดได้เป็นจุดๆเท่านั้น กำแพงกันคลื่นที่ว่านี้สร้างต่างเวลา ต่างวาระ ต่างรูปแบบ ปัจจุบันแนวกำแพงกันคลื่นยาวประมาณ 4.3 กิโลเมตร สร้างมาสุดที่หาดบ้านหัวหิน ตอนใต้ของหาดบางศิลา ซึ่งเหลือหาดทรายธรรมชาติอีกประมาณ 1 กิโลเมตรสุดท้าย ณ บริเวณสุดปลายกำแพงได้เกิดการกัดเซาะเข้ามาจนถึงถนนเลียบชายหาด เนื่องจากอิทธิพลของคลื่นที่เลี้ยวเบนบริเวณส่วนปลายของกำแพง นอกจากนั้นเมื่อคลื่นวิ่งเข้าปะทะกำแพงจะทำให้เกิดคลื่นสะท้อนเอาทรายด้านหน้ากำแพงออกไปนอกชายฝั่ง ส่งผลให้ระดับสันชายหาดลดต่ำลง ระดับน้ำด้านหน้ากำแพงกันคลื่นลึกขึ้น จนชายหาดด้านหน้ากำแพงหดหายไปในที่สุด และอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของกำแพงอีกด้วย   กลายเป็นว่า “ยิ่งสร้าง ยิ่งกัด”  “ยิ่งสร้าง ยิ่งพัง” หรือไม่ โดยทั่วไปวิศวกรเลือกใช้กำแพงกันคลื่นในกรณีที่พื้นที่ด้านในมีชุมชนหนาแน่น มีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจในระดับสูงจนไม่สามารถรอให้ชายหาดปรับสมดุลตามธรรมชาติได้ ต้องใช้โครงสร้างป้องกันเท่านั้น และมีระดับการกัดเซาะที่เข้าข่ายวิกฤตต้องหาทางรับมือโดยด่วน แต่จากบริบทของพื้นที่ ไม่พบหลักฐานที่จะเป็นเหตุผลทางวิชาการใดที่เข้าข่าย “จำเป็น” ต้องลงมือดำเนินการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น คำถามตัวโตๆสำหรับเรื่องราวนี้คือ กำแพงกันคลื่น ณ หาดบางศิลา ต่อเนื่องมาถึงหาดบ้านหัวหิน จ.สตูล ที่ดำเนินการไปแล้ว และกำลังดำเนินการเพิ่มเติมบางส่วนในตอนนี้ มีความ “จำเป็น” หรือไม่ ….. ใครตอบดี ?!?  

Beachlover

November 8, 2019

หาดหัวหิน ละงู จ.สตูล [3 พ.ย.2562]

หาดหัวหิน อ.ละงู สตูล หาดด้านหลังเกาะรังนกและเกาะลิดี มีกำแพงกันคลื่นเกือบตลอดแนวชายหาดทรายซึ่งยาวต่อเนื่องมาจากหาดบางศิลาจนถึงปากคลองทางตอนใต้ บริเวณนี้คือหาดทายธรรมชาติผืนสุดท้ายที่หลงเหลืออยู่ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร ชายหาดที่เหลืออยู่นี้ยังคงมี “สุขภาพดี” อยู่มาก หน้าหาดมีผักบุ้งทะเลปกคลุมผืนทราย ช่วยป้องกันการพัดพาของทรายโดยลม มีป่าชายหาดเป็นปราการทางธรรมชาติ ส่วนด้านในนั้นเป็นถนนเส้นเล็กๆที่ชาวบ้านใช้เดินทางเข้าออก ถัดจากส่วนนี้ไปทางทิศเหนือ กำลังมีโครงการก่อสร้างกำแพงบางส่วนเพิ่มเติมของหาดบางศิลา เราคงต้องลุ้นกันต่อไปว่า หาดธรรมชาติผืนสุดท้ายนี้จะยังคงความเป็นธรรมชาติแบบนี้อยู่ไปได้อีกนานเท่าใด คำถามสำคัญในการวิเคราะห์ว่าโครงการป้องกันชายฝั่งใดควรทำหรือไม่ คือ “ความจำเป็น” หากไม่ทำจะเกิดความเสียหายมากกว่า โดยสัดส่วนความเสียหายนั้นจะต้องถูก “ชั่งน้ำหนัก” กับผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นว่า “ได้สัดส่วน”กันหรือไม่ โดยต้องออกแบบแนวทางเลือกในการป้องกันที่เป็นไปได้ทั้งหมด เพื่อหา “แนวทางเลือกที่มีผลกระทบต่อธรรมชาติน้อยที่สุด” เกิด “ความขัดแย้งต่อการใช้ประโยชน์พื้นที่น้อยที่สุด” เมื่อนั้น มันจะเป็นแนวทางเลือกที่ผู้มีส่วนได้เสียยอมรับกันมากที่สุด “กำแพงกันคลื่น” คือ The best solution สำหรับพื้นที่นี้หรือไม่ ควรต้องถูกตอบก่อนการดำเนินโครงการผ่านการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และรับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้เสียผ่านเวทีประชาพิจารณ์ เมื่อกำแพงกันคลื่นไม่ต้องทำการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ปลายปี 2556 หน่วยงานที่รับผิดชอบจะตอบคำถามนี้อย่างไร?

Beachlover

November 5, 2019

เติมทรายชายหาดพัทยา มองเห็นอะไรเป็นบทเรียน [26 ต.ค.2562]

เขียนและเรียบเรียง โดย อภิศักดิ์ ทัศนี  เผยแพร่ใน https://www.facebook.com/Beach-for-life เมื่อ 22 ตุลาคม 2562 ———————————————————————————– ผมมีโอกาสเดินทางไปดูการเติมทรายที่ชายหาดพัทยา 2 ครั้ง ครั้งเเรก เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2561 ตอนนั้นโครงการเติมทรายชายหาดพัทยากำลังดำเนินการก่อสร้างอยู่ เเต่ใกล้จะเสร็จเเล้ว เราเห็นชายหาดพัทยาเหนือ ถึงพัทยากลาง มีการเติมทรายเเละเปิดให้ประชาชน นักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการร่มเตียงได้ใช้พื้นที่ชายหาด เป็นภาพที่น่าประทับใจสำหรับผมนะ เพราะการเติมทรายพัทยา ถือเป็นการเติมทรายที่มีการศึกษา ออกเเบบ เเละดำเนินการได้จนเกือบจะเเล้วเสร็จ ภาพชายหาดที่กว้างยาวออกไป 35 เมตร จากเดิมที่มีชายหาดเพียงเเค่ 10-15 เมตร มันเป็นภาพที่เราประทับใจ เเละตื่นตาตื่นใจ รุ่งเช้าของอีกวันในการไปดูการเติมทรายชายหาดพัทยา ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับผู้คุมงานโครงการเติมทราย ได้ฟังรายละเอียดการออกเเบบ วิธีการทำงาน การติดตามผลกระทบสิ่งเเวดล้อมในขณะดำเนินโครงการ เเละการประชาสัมพันธ์โครงการเพื่อสร้างการรับรู้เเละความร่วมมือจากประชาชน ผู้ประกอบการิมชายหาดพัทยา ครั้งเเรกนั้นผมมีข้อสรุปสั้นๆ เพื่อเป็นการย้อนเตือนความจำให้กับทุกท่านก่อน ที่จะพูดถึงสิ่งที่ได้ไปพบเห็น เรียนรู้จากการเดินทางไปดูโครงการเติมทรายครั้งที่ 2 ของผม เรียนรู้อะไรการเดินทางครั้งแรก การเติมทรายชายหาดพัทยา เป็นงานที่มีรายละเอียดเชิงเทคนิคค่อนข้างมาก […]

Beachlover

October 26, 2019

ปากคลองสำโรง [7 ต.ค.2562]

ปากคลองสำโรงปิดเป็นปัญหาที่ชุมชนเก้าเส้งไม่อยากให้เกิดขึ้น https://www.youtube.com/watch?v=ch9e8TJ2osM ในบางฤดูกาลของทุกปี ปากคลองสำโรง คลองเส้นที่เชื่อมทะเลสาบสงขลาและอ่าวไทย มีทางออก ณ ชุมชนเก้าเส้งจะมีตะกอนทรายไหลมาปิด จนทำให้ชาวบ้านไม่สามารถนำเรือเข้าออกได้ และน้ำในคลองไม่สามารถไหลถ่ายเทได้อย่างสะดวก ปัญหาลักษณะนี้เป็นปกติที่เกิดขึ้นบริเวณปากคลองริมทะเล เนื่องด้วยกระบวนการทางชายฝั่งร่วมกับการไหลของน้ำในคลองที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละฤดูกาล การแก้ไขปัญหาควรผ่านการคิดพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะพื้นที่ปากแม่น้ำ ปากคลองเป็นพื้นที่อ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงมาก หากผลีผลามดำเนินมาตรการโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบ ความเสียหายที่เกิดขึ้นอาจเกินเยียวยา อย่างที่พบเห็นทั่วไปบริเวณปากคลองที่ใช้การสร้างโครงสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำ (Jetty) เพื่อแก้ไขปัญหานี้ ทุกแห่งได้ส่งผลกระทบต่อการกัดเซาะในพื้นที่ถัดไปอย่างรุนแรง จนนำมาซึ่งโครงการป้องกันชายฝั่งแบบไม่มีที่สิ้นสุด หาดส่วนถัดจากชุมชนเก้าเส้งคือหาดชลาทัศน์ ที่กำลังใช้มาตการเติมทรายชายหาด เพิ่มความกว้างชายหาดมากกว่า 50 เมตร หากปากคลองสำโรงมีการสร้างโครงสร้างเพื่อแก้ไขปัญหาทรายปิดปากคลองเหมือนที่อื่นๆ คาดเดาได้ไม่ยากว่าจะเกิดอะไรกับหาดชลาทัศน์ที่ใช้งบประมาณกว่า 270 ล้านบาทในการเติมทรายอยู่ในขณะนี้

Beachlover

October 19, 2019

หาดพัทยา ชลบุรี [18 ต.ค.2562]

สืบเนื่องจากฝนที่ตกลงมาอย่างหนักเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม ส่งผลให้ชายหาดพัทยาที่ผ่านการเติมทราย โดยกรมเจ้าท่าด้วยงบประมาณกว่า 429 ล้านบาท ที่แล้วเสร็จและส่งมอบไปเมื่อปลายเดือน ก.พ. เกิดการตัดเป็นร่องตามแนวทางระบายน้ำลงทะเล ปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก แต่เกิดขึ้นทุกครั้งที่เกิดฝนตกหนัก โดยพบว่าถนนเลียบชายหาดเกือบตลอดแนวเกิดน้ำท่วมขังและไหลผ่านร่องระบายน้ำลงชายหาดที่เกิดจากการลดระดับสันทางเดินเลียบหาด และไหลลงชายหาดโดยตรงประมาณสิบกว่าร่องตลอดแนว 2.8 กิโลเมตร ปัญหาระบบระบายน้ำที่ขาดประสิทธิภาพนี้ เมืองพัทยากำลังดำเนินการแก้ไขในระยะยาวโดยการปรับปรุงระบบระบายน้ำเดิม และพัฒนาระบบปั๊มน้ำลงทะเลโดยไม่ผ่านชายหาด ซึ่งคาดว่าน่าจะแก้ไขปัญหาในระยะยาวได้ แต่กว่าโครงการจะแล้วเสร็จ ไม่แน่ใจว่าทรายจำนวนกว่า 370,000 กว่าลูกบาศก์เมตร ตลอดแนว 2.8 กิโลเมตรนี้ จะอยู่ในสภาพใด  

Beachlover

October 18, 2019

ประเด็นชวนคิดจากงบประมาณแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของรัฐ [16 ต.ค. 2562]

จากแผนงบประมาณประจำปีของกรมเจ้าท่าและกรมโยธาธิการและผังเมืองในปีที่ผ่านมาและแผนงบประมาณผูกพันในปีนี้และปีถัดไป มีข้อน่าชวนคิดบางประเด็น บางโครงการเกิดขึ้นในพื้นที่ติดกัน ตามกรณีที่ยกมาในภาพคือหาดบริเวณชิงโค จ.สงขลา กรมเจ้าท่าได้ตั้งงบและดำเนินการก่อสร้างไปแล้วบางส่วนสำหรับโครงการป้องกันชายฝั่งแถบธรรมสถานหาดทรายแก้วและพื้นที่ใกล้เคียง โดยโครงการนี้มีโครงสร้างเขื่อนกันคลื่นท่าเทียบเรือ (Habour breakwater) ยื่นล้ำลงไปในทะเลค่อนข้างยาวตามภาพ ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลให้หาดตั้งแต่แถบโรงแรมหาดแก้วรีสอร์ทไปทางทิศเหนือซึ่งเกิดการกัดเซาะอย่างหนัก ในการนี้ หากดูจากงบประมาณของกรมโยธาธิการและผังเมืองพบว่าได้ตั้งงบประมาณส่วนนี้รอเพื่อแก้ไขปัญหานี้ไว้แล้วเช่นกัน โดยได้ดำเนินการไปบ้างแล้วบางส่วนสอดรับกับโครงการของกรมเจ้าท่า ทั้งสองหน่วยงานมีวิศวกรผู้มีความรู้ และทราบดีอยู่แล้วว่าจะเกิดผลกระทบอย่างไรหากก่อสร้างโครงการตามแผน โดยสังเกตได้จากแผนงบประมาณที่ได้ตั้งรอไว้เพื่อแก้ไขปัญหาการกัดเซาะที่เกิดจากการสร้างโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะของอีกหน่วยงานหนึ่ง ดูจะเป็นคำพูดที่ย้อนแย้งแต่เป็นจริงก็คือ โครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งของหน่วยงานหนึ่ง ส่งผลให้เกิดการกัดเซาะกระทบชิ่งไปยังพื้นที่ถัดไป ทำให้อีกหน่วยงานหนึ่ง เข้ามาสร้างโครงสร้างป้องกันต่อเนื่องไป คำถามที่ตามมาคือ ต้องสร้างไปเรื่อยๆใช่หรือไม่ ? ประเทศเรามิได้ร่ำรวยพอที่จะสร้างโครงสร้างป้องกันชายฝั่งไปเรื่อยๆตลอดแนวสามพันกว่ากิโลเมตร คำถามต่อมาคือ การแก้ไขปัญหาการกัดเซาะของหน่วยงานแรกนั้นๆไม่สัมฤทธิ์ผลใช่หรือไม่ ? ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ใช่หรือไม่ ? จึงต้องเกิดโครงการป้องกันการกัดเซาะของอีกหน่วยงานหนึ่งในพื้นที่ถัดไป คำถามสุดท้าย หากเป็นจริงตามข้อ 1 และ 2 แปลว่าการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมานั้น หน่วยงานควรยอมรับได้แล้วว่าไม่บรรลุวัตถุประสงค์ในการป้องกัน เพราะป้องกันได้เพียงบางส่วนและส่งผลกระทบชิ่งไปยังพื้นที่ข้างเคียง จนต้องสร้างโครงสร้างป้องกันไปเรื่อยๆ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะมานั่งคุยกันอย่างจริงจัง มิใช่การมีระดมสมองพูดกันแต่เรื่องเดิมๆในทัศนะการแก้ไขปัญหาแบบเดิมๆ ซึ่งเมื่อจบการถกเถียงทุกกรมกองก็กลับไปเดินหน้าแก้ปัญหาแบบเดิมๆต่อไป เราสูญเสียชายหาดที่สมบูรณ์ไปแล้วมากมาย แต่ยังคงมีอีกหลายแห่งที่ยังคงสภาพสวยงามอยู่ แม้เราจะช้ามากแล้ว แต่ไม่มีอะไรสายเกินไป ปักหมุดทางความคิดใหม่เพื่อการแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่งแบบใหม่กันเถอะ มิฉะนั้นชายหาดบางแห่งอาจกลายเป็นตำนานให้ลูกหลานเราได้พูดถึงผ่านเพียงคำบอกเล่าและภาพถ่ายเก่าๆ

Beachlover

October 16, 2019

หาดทรายผืนสุดท้ายของชายหาดหัวหิน จ.สตูล [6 ต.ค. 2562]

หาดทรายขาวทอดยาวกว่า 1 กิโลเมตรแห่งนี้ คือหาดธรรมชาติส่วนสุดท้ายของชายหาดที่ชาวบ้านแถบนี้เรียกกันว่า “หาดหัวหิน” ซึ่งเป็นชายหาดส่วนถัดจากหาดบางศิลา อ.ละงู จ.สตูล มีเกาะลิดี อยู่ด้านนอกคอยกำบังคลื่นลม หาดแถบนี้จึงไม่มีปัญหากัดเซาะชายฝั่งเท่าใดนัก ต้นสนริมชายหาด และสันทรายที่ถูกปกคลุมด้วยผักบุ้งทะเลยังคงความสมบูรณ์อยู่มาก ปลายสุดของชายหาดด้านทิศใต้ติดกับปากน้ำสายเล็กๆที่ลัดเลาะเข้าไปในป่าชายเลน มีเรือประมงขนาดเล็กเข้าออกเป็นประจำ แม้จะมีสันทรายอยู่บริเวณปากร่องน้ำบ้างในบางฤดูกาลแต่ชาวบ้านยังสามารถสัญจรเข้าออกได้อย่างสะดวก หาดด้านทิศเหนือของหัวหินคือหาดบางศิลาที่ปัจจุบันนี้ไม่มีชายหาดธรรมชาติหลงเหลืออยู่แล้ว เนื่องจากการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นยาวตลอดแนว สามารถตามชมสภาพของหาดบางศิลาได้จากหัวข้อสถานการณ์ชายฝั่ง

Beachlover

October 14, 2019
1 30 31 32 33