วิชาการ: ระยะถอยร่นชายฝั่งทะเล

ระยะถอยร่นเปรียบเสมือนแนวกันชนระหว่างทะเลกับผืนแผ่นดิน เพราะเป็นการรักษาความสมดุลของกระบวนการชายฝั่งไม่ให้ถูกรบกวนจากกิจกรรมของมนุษย์บนพื้นที่ชายฝั่ง และเป็นการลดผลกระทบจากปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลจากภัยธรรมชาติ ที่อาจมีต่อชีวิตและทรัพย์สินของรัฐและเอกชนที่อยู่บริเวณชายฝั่ง  ระยะถอยร่นเป็นหนึ่งในมาตรการเพื่อจัดการชายฝั่งทะเล ทั้งเพื่อการจัดการภัยพิบัติชายฝั่งทะเลและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ชายฝั่งทะเลอย่างยั่งยืน โดยมากมักกำหนดจากแนวระดับน้ำทะเลขึ้นเฉลี่ยถึงแนวที่พิจารณาแล้วว่าจะปลอดภัยต่อภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในอดีตและอาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยทั่วไประยะถอยร่นเป็นระยะที่หากจะมีการพัฒนาใดๆ จะต้องถอยร่นห่างจากชายฝั่งเข้าไปให้พ้นระยะนี้เพื่อป้องกันความเสียหายจากภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้น เป็นระยะทางสงวนไว้ให้กระบวนการชายฝั่งทะเลจะสามารถปรับสมดุลได้ตามปกติไม่ถูกแทรกแซง จึงเป็นมาตรการที่ไม่รบกวนต่อกระบวนการทางธรรมชาติของชายฝั่งทะเล และไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำเหมือนการใช้โครงสร้างชายฝั่งทะเล โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อ ป้องกันชีวิตและทรัพย์สินจากพิบัติภัยที่เกิดขึ้นบริเวณชายฝั่งทะเล เช่น พายุซัดฝั่ง การกัดเซาะ  เป็นต้น ลดงบประมาณเพื่อใช้ในการป้องชายฝั่ง สงวนพื้นที่ชายฝั่งให้คงทัศนียภาพที่งดงามตามธรรมชาติ  ลดความขัดแย้งในการใช้ประโยชน์ร่วมกันบริเวณชายฝั่ง ประชาชนสามารถเข้าถึงชายฝั่งทะเลได้อย่างเท่าเทียม รักษาพื้นที่ชายฝั่งเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์ ลดความเสี่ยงภัยที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ในความเป็นจริง พื้นที่ใดที่ปล่อยให้มีการพัฒนามากเกินไปแล้ว พื้นที่นั้นจะกำหนดระยะถอยร่นได้ยาก เนื่องจากจะเกิดแรงต่อต้านทางสังคม ทั้งยังไม่คุ้มกับค่าเวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ถูกพัฒนาไปแล้วก่อนหน้านี้  การใช้มาตรการระยะถอยร่นชายฝั่งจึงควรเร่งประกาศใช้ในพื้นที่ที่ยังไม่มีการพัฒนา เพื่อจำกัดการพัฒนาไม่ให้ประชิดชายฝั่งมากเกินไป โดยกำหนดเป็นเขตห้ามรุกล้ำสำหรับสิ่งปลูกสร้างถาวร ซึ่งอาจใช้ร่วมกับนโยบายผังเมืองชายฝั่งทะเล จะช่วยลดผลกระทบจากภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้น ลดความเสียหายต่อสิ่งชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐและเอกชน และส่งเสริมการใช้ประโยชน์ของพื้นที่บนชายหาดได้อย่างยั่งยืน การพิจารณาว่าระยะถอยร่นในแต่ละพื้นที่ควรเป็นระยะเท่าใดนั้น มีปัจจัยและรายละเอียดที่จำเป็นต้องคำนึงถึงมากมายที่จำเป็นต้องศึกษาอย่างรอบด้านก่อนการนำมาตรการนี้มาใช้เพื่อคุ้มครองชายหาด อ่านเพิ่มเติมเรื่องระยะถอยร่น ได้จาก https://conference.thaince.org/index.php/ncce25/article/view/578 และ https://beachlover.net/การกำหนดระยะถอยร่น/ และ https://beachlover.net/setback-negombo-srilanka/

Beachlover

April 17, 2022

วิชาการ: แนวคิดเพื่อจัดการปากร่องน้ำ

การเคลื่อนที่ของตะกอนชายฝั่งทะเลในลักษณะขนานโดยไหลเลียบไปกับชายฝั่ง และตะกอนจากแผ่นดินที่ไหลลงไปรวมไปในแม่น้ำที่ไหลออกชายฝั่งทะเล ล้วนแล้วแต่ส่งผลให้เกิดการตกตะกอนสะสมจนปากแม่น้ำที่ไหลลงทะเลปิดในบางฤดูกาล หากปากร่องน้ำใดมีการเข้าออกของเรือ จะส่งผลให้ไม่สามารถนำเรือเข้าออกได้ในบางช่วงเวลา ในอดีตชาวบ้านรวมถึงหน่วยงานท้องถิ่นที่ใช้ประโยชน์ช่วยกันขุดเปิดปากร่องน้ำกันเองบ้าง  หรือร้องขอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบใช้วิธีการขุดปากร่องน้ำเพื่อบรรเทาปัญหานี้บ้าง เมื่อมีการพัฒนาเมืองและพัฒนาทางเศรษฐกิจมากขึ้น ส่งผลให้มีการเข้าออกของเรือที่มีขนาดใหญ่มากขึ้น และกินระยะน้ำลึกมากกว่าในอดีต หน่วยงานที่รับผิดชอบ (กรมเจ้าท่า) เริ่มหันมาใช้วิธีการสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำ (Jetty) เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการออกแบบให้ปลายสุดของเขื่อนกันคลื่นอยู่บริเวณร่องน้ำลึก ส่งผลให้ตะกอนที่ไหลออกไปนอกฝั่งมีโอกาสที่จะกลับมาปิดปากร่องน้ำได้ลดน้อยลง ทั้งยังป้องกันไม่ให้ตะกอนที่ไหลเลียบชายฝั่งมาปิดปากร่องน้ำด้วย โดยมากเป็นโครงสร้างขนาดใหญ่ยื่นยาวลงไปในทะเล ซึ่งถือเป็นโครงสร้างที่แทรกแซงกระบวนการทางชายฝั่งทะเลอย่างหนักด้วยขนาดที่ใหญ่และยาว พบว่าแม้จะมีโครงสร้างนี้แล้วยังจำ เป็นต้องขุดลอกร่องน้ำร่วมด้วย เนื่องจากนานวันเข้าตะกอนมีโอกาสไหลล้นข้ามโครงสร้างที่ดักตะกอนไว้มาปิดปากร่องน้ำเช่นเดิม นั่นหมายความว่าโครงสร้างนี้ชะลอระยะเวลาการขุดลอกออกไปเท่านั้น โครงสร้างนี้ไม่ถือว่าเป็นโครงสร้างเพื่อป้องกันชายฝั่ง แต่การเกิดขึ้นของเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำมักนำมาซึ่งโครงสร้างป้องกันชายฝั่งในพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งนี้เนื่องจากโครงสร้างนี้ยื่นยาวออกไปนอกชายฝั่งจนถึงระยะน้ำลึกจึงเป็นการกีดขวางการเคลื่อนตัวของตะกอนเลียบชายฝั่ง ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อการกัดเซาะทางด้านท้ายน้ำหรือส่วนถัดไปของชายหาดตามทิศทางที่ตะกอนเคลื่อนที่ ส่งผลให้พื้นที่ถัดไปเกิดการกัดเซาะอย่างรุนแรง และตามมาซึ่งโครงสร้างป้องกันชายฝั่งอื่นๆต่อเนื่องไปอีก Beach Lover เห็นทั้งความจำเป็น ความเดือดร้อนของผู้ใช้ปากร่องน้ำ และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำ จึงมีแนวคิดเพื่อจัดการปากร่องน้ำที่ไหลลงสู่ทะเลดังต่อไปนี้ (1) กำหนดให้การขุดลอกปากร่องน้ำทุกแห่งนำตะกอนที่ได้จากปากร่อง ที่ได้พิจารณาแล้วว่าเป็นตะกอนที่คุณสมบัติใกล้เคียงกับพื้นที่ชายฝั่งปากร่องน้ำที่ถูกกัดเซาะ  ไปถมในพื้นที่ที่ถูกกัดเซาะนั้น หากดำเนินการได้จะทำให้ตะกอนไม่ถูกทิ้งให้เสียประโยชน์  บรรเทาผลกระทบด้านท้ายน้ำ และได้แผ่นดินกลับคืนมาบางส่วน (2) ควรกำหนดให้มาตราการถ่ายเททรายข้ามร่องน้ำ สำหรับร่องน้ำที่มีการสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำ (Jetty) เป็นมาตรการประจำที่ต้องดำเนินการทุกปากแม่น้ำตามรอบวนซ้ำที่ได้ศึกษาไว้  โดยถ่ายเทจากฝั่งของปากร่องน้ำที่เกิดการทับถมไปอีกฝั่งที่ถูกกัดเซาะ ซึ่งจะบรรเทาความเสียหายได้บางส่วน ดีกว่าการสร้างโครงสร้างป้องกันต่อไปเรื่อยและเกิดการกัดเซาะต่อไปอย่างต่อเนื่อง (3) ให้อำนาจและงบประมาณกับท้องถิ่น เพื่อให้สามารถจัดสรรงบประมาณในการลงทุนเครื่องจักรสำหรับใช้ในการขุดลอกปากร่องน้ำขนาดเล็กในพื้นที่ (รถขุดแขนยาวและโป๊ะลอยน้ำพร้อมขายึดในภาพราคารวมประมาณ 6 ล้านบาท) เพื่อบรรเทาปัญหาตะกอนปิดปากร่องน้ำได้อย่างทันท่วงที โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำ เพื่อหลีกเลี่ยงกระทบต่อพื้นที่ข้างเคียง (4) หากจำเป็นต้องสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำ ควรรวบรวมความจำเป็นของเรือที่สัญจรในปากร่องในใกล้กันมารวมจอดในที่เดียวกัน เพื่อลดจำนวนโครงสร้างและเป็นการจำกัดผลกระทบให้เหลือน้อยที่สุด

Beachlover

April 8, 2022

Elastocoast คืออะไร

Elastocoast คือวัสดุที่ใช้เพื่อเททับแนวเขื่อนป้องกันการกัดเซาะตลิ่งแม่น้ำและทะเล ประกอบด้วยหินกรวดขนาดเล็กที่ถูกยึดติดกันด้วยโพรียูรีเทน 2 องค์ประกอบ (Two-component polyurethane) โดยหินกรวดนี้จะถูกน้ำยาเคลือบเหมือนมี Film บางๆของโพรียูรีเทนมาหุ้ม เมื่อน้ำยานี้แข็งตัว Film บางๆที่เคลือบหินกรวดจะเป็นตัวยึดให้หินทุกก้อนติดกันเฉพาะส่วนที่ contact กัน ซึ่งจะทำให้เกิดช่องว่างระหว่างก้อนกรวดนี้ ส่งผลให้โครงสร้างที่ถูกเททับด้วย Elastocoast มีความพรุนน้ำสูง ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการการรับแรงปะทะและสลายพลังงานคลื่น มีการประยุกต์ใช้ Elastocoast เป็นหนึ่งในวัสดุรูปแบบใหม่เพื่องานป้องกันริมตลิ่งแม่น้ำและชายฝั่ง โดยได้ถูกทดสอบครั้งแรกเมื่อปี 2004-2007 แถบ North-Sea islands ทางตอนเหนือของประเทศเยอรมัน หลังจากนั้นได้ถูกวิจัยและทดสอบใน 2 พื้นที่ Pilot area ในประเทศเนเธอร์แลนด์ในเมื่อปี 2007 ข้อมูลจากกองวิศวกรรม กรมเจ้าท่า ระบุว่า Elastocoast คือวัสดุคอมโพสิตที่มีความยืดหยุ่นซึ่งพัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในการป้องกันการ กัดเซาะแนวชายหาดโดยเฉพาะ ประกอบด้วยก้อนกรวดผสมกับโพลียูรีเทนซับน้ำที่พัฒนาขึ้นเป็นพิเศษ ทำให้วัสดุมีลักษณะเหมือนหินที่มีโครงสร้างแบบเซลล์เปิด ผลิตโดยการนำของเหลวสองชนิดที่ทำจากโพลียูรีเทนสังเคราะห์มาผสมกันในพื้นที่ หน้างานแล้วจึงใส่ก้อนกรวดลงไป คุณสมบัติด้านความยืดหยุ่นจะช่วยปกป้องแนวกำแพงหินจากแรงกระแทกของน้ำได้ เนื่องจากช่องว่างระหว่างก้อนหินจะคอยดูดซับพลังงานเอาไว้ ขณะที่หากใช้คอนกรีตหรือยางมะตอยที่มีพื้นผิวแข็งและทึบตันจะถูกพังทลาย โดย แรงกระแทกจากคลื่นได้อย่างรวดเร็ว สามารถใช้ก้อนหินที่มีขนาดต่างๆ มาปูทับกันให้ได้ความหนาต่างๆ ตามต้องการ โดยมีภาพประกอบงานก่อสร้าง […]

Beachlover

November 1, 2021

ควรรื้อทำลายโครงสร้างชายฝั่งที่หมดสภาพแล้ว

สำหรับโครงสร้างชายฝั่งที่หมดสภาพ ซึ่งหมายถึงหมดประสิทธิภาพหรือหมดหน้าที่ในการป้องกันชายฝั่งไปแล้ว หากปล่อยทิ้งไว้อาจก่อให้เกิดผลกระทบทั้งเชิงกายภาพ เช่น อาจก่อให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งเพิ่มเติม หรือ เป็นทัศนะที่อุจจาดตาบดบังทัศนียภาพที่สวยงามของชายหาด ในกรณีนี้ควรมีการวิเคราะห์ถึงการรื้อถอนทำลายเพื่อคืนสภาพชายหาดให้เป็นไปตามธรรมชาติ แต่ในหลายกรณีการมีอยู่ของโครงสร้างนั้น ได้ก่อให้เกิดบริบทใหม่ในเรื่องของการใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณนั้นขึ้นแล้ว เช่น อาจเกิดการทับถมของที่ดินจนเกิดชุมชนใหม่ขึ้น หรือร่องน้ำถูกเปิดตลอดทั้งปีจนชาวบ้านเปลี่ยนขนาดเรือจากเล็กเป็นใหญ่เพื่อการพาณิชย์แทนที่จะเป็นเพื่อการดำรงชีพหรือประมงขนาดเล็กเหมือนในอดีต ดังนั้น หากมีการรื้อถอนทำลายโครงสร้างที่มีอยู่อาจส่งผลกระทบถึงการใช้ประโยชน์ในบริบทใหม่ที่เกิดขึ้นนี้ได้ การสร้างยังต้องใช้ระยะเวลาในการศึกษาออกแบบ การรื้อโครงสร้างก็เช่นเดียวกัน จึงจำเป็นต้องศึกษาวิเคราะห์ในรายละเอียดอย่างรอบคอบก่อนดำเนินการใดๆ มิฉะนั้นอาจเกิดผลกระทบที่ยากจะคาดเดา

Beachlover

May 13, 2021

นิยามของแนวชายฝั่งทะเล (Shoreline)

แนวชายฝั่ง หมายถึงเส้นแบ่งระหว่างน้ำและพื้นแผ่นดิน แต่ในความเป็นจริงแนวชายฝั่งนั้นมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาตามธรรมชาติ ขึ้นอยู่กับการเคลื่อนที่ของตะกอน ระดับน้ำทะเล ความลาดชันชายหาด และปัจจัยอื่นๆ การระบุแนวชายฝั่งเป็นข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการบริหารจัดการพื้นที่ชายฝั่งและการออกแบบทางวิศวกรรมเช่นโครงการป้องกันชายฝั่ง Elizabeth H. Boak และ Ian L. Turner (Boak and Turner, 2005) ได้ทำการรวบรวมนิยามของการระบุแนวชายฝั่ง พบว่านิยาม ต่างๆที่ใช้ในการระบุชายฝั่งแบ่งได้เป็นสองกลุ่มได้แก่ กลุ่มแรก คือการระบุแนวชายฝั่งโดยขึ้นกับลักษณะเชิงกายภาพที่สังเกตได้ (รูป A และ B) และ การระบุแนวชายฝั่งกลุ่มที่ 2 ขึ้นอยู่กับการขึ้นลงของระดับน้ำทะเล (รูปที่ C) กลุ่มแรกที่ใช้การระบุแนวชายฝั่งโดยขึ้นกับลักษณะเชิงกายภาพที่สังเกตได้ เป็นลักษณะทางกายภาพของชายฝั่งที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน เช่น แนวพืชพรรณถาวรบริเวณชายฝั่ง (Permanent vegetation line) เป็นต้น สำหรับแหล่งข้อมูลที่สามารถนำมาประกอบการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงชายฝั่ง เช่น ภาพถ่ายทางอากาศ, การเดินสำรวจแนวชายฝั่งทะเล, การสำรวจแนวชายฝั่งโดยใช้เครื่อง GPS, แผนที่ชายฝั่ง เป็นต้น ส่วนกลุ่มที่ 2 ที่ใช้การระบุแนวชายฝั่งโดยขึ้นอยู่กับการขึ้นลงของระดับน้ำทะเล จำเป็นต้องใช้แผนที่ชายฝั่งและแผนที่เดินเรือ (Coastal […]

Beachlover

May 11, 2021

การแบ่งเขตการใช้ประโยชน์พื้นที่ (Zoning)

ด้วยการเพิ่มขึ้นของประชากร การพัฒนาของเมืองริมชายฝั่งทะเล ส่งผลให้ต้องใช้พื้นที่และทรัพยากรริมชายฝั่งเพิ่มมากข้ึน หากปราศจากการควบคุมและวางแผนอย่างรอบคอบ  อาจทำให้เกิดการเสียสมดุลของทรัพยากรธรรมชาติเนื่องจากการใช้ที่เกิดขีดความสามารถที่จะรองรับได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบเสียหายทั้งต่อทรัพยากรและการเข้าใช้ประโยชน์จากทรัพยากรนั้นโดยมนุษย์  การแบ่งเขตการใช้ประโยชน์พื้นที่ชายฝั่งทะเล เป็นหนึ่งในมาตรการเพื่อการจัดการพื้นที่ชายฝั่งทะเล โดยมีความหมายคือ การจัดสรรการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่ชายฝั่งนั้นให้มีความเหมาะสมตามศักยภาพของพื้นที่โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบทรัพยากร หรือหมายถึงการจัดการพื้นที่เพื่อให้เกิดสมดุลระหว่างการใช้ประโยชน์และการสงวนรักษา เป็นมาตรการไม่ซับซ้อน นับว่าเป็นหนึ่งในมาตรการที่ง่ายที่สุดเพื่อการจัดการพื้นที่ชายฝั่ง การแบ่งเขตการใช้ประโยชน์พื้นที่มีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของพื้นที่ โดยการจัดการการใช้ประโยชน์และแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยใช้กระบวนการจัดการที่มีการผสมผสานกันระหว่างหน่วยงานและแผนงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง กลุ่มผู้ใช้ประโยชน์และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งนี้ต้องอาศัยองค์ความรู้ต่างๆ ทั้งทางวิทยาศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ เพื่อนำมาวางแผนการพัฒนาเพื่อนำไปปฏิบัติ ให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์พื้นที่ชายฝั่งทะเล โดยทั่วไปประกอบด้วยขั้นตอนดังนี้ การรวบรวมข้อมูลชายฝั่ง เช่น เชิงกายภาพ การใช้ประโยชน์ สถานภาพของทรัพยากร  วิเคราะห์ประเด็นปัญหาต่างๆ เพื่อหาสาเหตุ มาตรการแก้ไข ผู้มีส่วนได้เสีย เสนอแนวทางการแบ่งเขต zoning โดยยึดหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน และสอดคล้องกับความต้องการสังคม และการใช้ประโยชน์ในอนาคต นำเสนอแนวทางการแบ่งเขต zoning เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน และนำแนวทางไปปฏิบัติให้มีผลบังคับใช้ทางกฎหมายต่อไป อย่างไรก็ตามการการทำ Beach Zoning ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งสภาพปัญหาของชายหาดนั้น สภาพแวดล้อมทางกายภาพ ชีวภาพ การใช้ประโยชน์ ข้อบังคับ นโยบายการพัฒนา […]

Beachlover

May 9, 2021

การดูดทรายในแม่น้ำ

เนื่องจากตะกอนทรายที่หล่อเลี้ยงชายฝั่งนั้น ส่วนหนึ่งไหลรวมมากับน้ำจืดที่ไหลลงสู่ทะเล ตะกอนบางส่วนอาจถูกดักตามเขื่อน อาคารบังคับน้ำต่างๆในแม่น้ำตามที่ได้กล่าวมาในหัวข้อก่อนหน้า ในบางพื้นที่ตะกอนจะตกทับถมในลำน้ำก่อนออกสู่ชายฝั่ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของตะกอน ลักษณะของลำน้ำ และการไหลของน้ำ โดยแตกต่างกันไปในแต่ละฤดูกาล การดูดทรายในลำน้ำ มักเป็นไปเพื่อความสะดวกในการเดินเรือ เพื่อประโยชน์ด้านการระบายน้ำ และเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมโดยเฉพาะการก่อสร้าง  หากมีการดูดทรายเหล่านี้ออกจากลำน้ำ เท่ากับว่าตะกอนทรายที่เดิมจะต้องไหลรวมกับน้ำจืดแล้วไหลลงทะเลจะมีปริมาณน้อยลง นั่นหมายถึงสมดุลของตะกอนที่ไหลจะบกลงทะเลนั้นลงลด ส่งผลให้ชายหาดเกิดการกัดเซาะมากขึ้น

Beachlover

May 8, 2021

กำแพงกันคลื่นของไทย…อยู่ตรงไหนบ้าง

Beach Lover ได้ทำการรวบรวมข้อมูลการมีอยู่ของกำแพงกันคลื่นในประเทศไทย เท่าที่พอจะสังเกตได้จากภาพถ่ายดาวเทียม Google Earth ร่วมกับการสำรวจภาคสนาม ในเดือนธันวาคมปี 2562 พบว่ามีทั้งหมด 179 ตำแหน่ง ใน 23 จังหวัด หรือก็คือในทุกจังหวัดที่มีพื้นที่ติดทะเล โดยมีระยะทางตามแนวชายฝั่งรวม 164.67 กิโลเมตร หากนำกำแพงกันคลื่นที่เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ชายฝั่งของประเทศไทยมาเรียงต่อกัน จะมีความยาวมากกว่าความยาวชายฝั่งของจังหวัดสงขลา ที่มีความยาวประมาณ 158 กิโลเมตร หรือประมาณ 4 เท่าของชายฝั่งที่มีของจังหวัดสมุทรสาคร โดยจากข้อมูลพบว่าจังหวัดที่มีระยะทางรวมของกำแพงกันคลื่นมากที่สุดคือ จ.นครศรีธรรมราช คือมีความยาวรวม 30.7 กิโลเมตร หรือคิดเป็น 13% ของความยาวชายฝั่งนครศรีธรรมราช อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกำแพงกันคลื่นนั้นเป็นโครงสร้างป้องกันชายฝั่งที่ค่อนข้างตั้งประชิดชายหาด อาจมีต้นไม้ เมฆ หรือสิ่งอื่นบดบัง รวมถึงข้อจำกัดเรื่องความละเอียดของภาพถ่ายด้วย จึงอาจมีกำแพงในอีกหลายพื้นที่ที่ไม่สามารถสังเกตเห็นได้จาก Google earth และไม่ได้ถูกรวบรวมไว้ในข้อมูลชุดนี้

Beachlover

May 7, 2021

ขยะทะเล

ขยะทะเลคือของเสียที่ถูกทิ้งลงทะเล โดยส่วนมากมักเป็นวัสดุเบาที่สามารถพัดพาได้ง่ายจากแหล่งกำเนิด โดยลม คลื่น และกระแสน้ำ  ส่วนใหญ่จะย่อยสลายได้ยาก เช่น แห อวน โฟม พลาสติก ผ้า ซึ่งถูกพัดพาลงมาจากแม่น้ำสู่ทะเล ตลอดจนจากเรือประมงนอกชายฝั่ง และจากการทิ้งขยะโดยตรงลงบนชายหาดและทะเล จากฐานข้อมูลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พบว่า จังหวัดชายฝั่งทะเลทั้งหมด 23 จังหวัด มีปริมาณขยะ ประมาณ 10 ล้านตัน/ปี ในจำนวนนี้มีประมาณ 5 ล้านตันที่ได้รับการจัดการไม่ถูกวิธี และพบว่าประมาณ 10% ของขยะที่ตกค้างเนื่องจากการจัดการไม่ถูกวิธีจะไหลลงทะเล ซึ่งนั่นหมายถึงมีขยะไหลลงทะเลปีละประมาณ 50,000-60,000 ตัน/ปี ซึ่งถือเป็นอันดับที่ 6 ของโลก (http://www.dmcr.go.th) ผลกระทบที่เกิดจากการมีขยะทะเลที่ชายหาดและในทะเลนั้นมีทั้งต่อตัวทรัพยากรชายหาด สิ่งมีชีวิต และผู้ใช้ชายหาด คือเป็นแหล่งเสื่อมโทรม สะสมเชื้อโรค ทัศนียภาพไม่สวยงาม ก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยของผู้ใช้ชายหาด นอกจากนั้น ขยะทะเลโดยเฉพาะพลาสติกยังเป็นสาเหตุการตายของสัตว์ทะเล เช่น พะยูน เต่า โลมา วาฬ ดังที่มักพบในข่าวสารต่างๆว่าสัตว์เหล่านี้มีขยะพลาสติกในท้องบ้าง ถูกขยะทะเลพันตามร่างกายบ้าง 

Beachlover

May 6, 2021
1 7 8 9 12