วิชาการ: แนวคิดเพื่อจัดการปากร่องน้ำ

การเคลื่อนที่ของตะกอนชายฝั่งทะเลในลักษณะขนานโดยไหลเลียบไปกับชายฝั่ง และตะกอนจากแผ่นดินที่ไหลลงไปรวมไปในแม่น้ำที่ไหลออกชายฝั่งทะเล ล้วนแล้วแต่ส่งผลให้เกิดการตกตะกอนสะสมจนปากแม่น้ำที่ไหลลงทะเลปิดในบางฤดูกาล หากปากร่องน้ำใดมีการเข้าออกของเรือ จะส่งผลให้ไม่สามารถนำเรือเข้าออกได้ในบางช่วงเวลา ในอดีตชาวบ้านรวมถึงหน่วยงานท้องถิ่นที่ใช้ประโยชน์ช่วยกันขุดเปิดปากร่องน้ำกันเองบ้าง  หรือร้องขอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบใช้วิธีการขุดปากร่องน้ำเพื่อบรรเทาปัญหานี้บ้าง

เมื่อมีการพัฒนาเมืองและพัฒนาทางเศรษฐกิจมากขึ้น ส่งผลให้มีการเข้าออกของเรือที่มีขนาดใหญ่มากขึ้น และกินระยะน้ำลึกมากกว่าในอดีต หน่วยงานที่รับผิดชอบ (กรมเจ้าท่า) เริ่มหันมาใช้วิธีการสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำ (Jetty) เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการออกแบบให้ปลายสุดของเขื่อนกันคลื่นอยู่บริเวณร่องน้ำลึก ส่งผลให้ตะกอนที่ไหลออกไปนอกฝั่งมีโอกาสที่จะกลับมาปิดปากร่องน้ำได้ลดน้อยลง ทั้งยังป้องกันไม่ให้ตะกอนที่ไหลเลียบชายฝั่งมาปิดปากร่องน้ำด้วย โดยมากเป็นโครงสร้างขนาดใหญ่ยื่นยาวลงไปในทะเล ซึ่งถือเป็นโครงสร้างที่แทรกแซงกระบวนการทางชายฝั่งทะเลอย่างหนักด้วยขนาดที่ใหญ่และยาว พบว่าแม้จะมีโครงสร้างนี้แล้วยังจำ เป็นต้องขุดลอกร่องน้ำร่วมด้วย เนื่องจากนานวันเข้าตะกอนมีโอกาสไหลล้นข้ามโครงสร้างที่ดักตะกอนไว้มาปิดปากร่องน้ำเช่นเดิม นั่นหมายความว่าโครงสร้างนี้ชะลอระยะเวลาการขุดลอกออกไปเท่านั้น

โครงสร้างนี้ไม่ถือว่าเป็นโครงสร้างเพื่อป้องกันชายฝั่ง แต่การเกิดขึ้นของเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำมักนำมาซึ่งโครงสร้างป้องกันชายฝั่งในพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งนี้เนื่องจากโครงสร้างนี้ยื่นยาวออกไปนอกชายฝั่งจนถึงระยะน้ำลึกจึงเป็นการกีดขวางการเคลื่อนตัวของตะกอนเลียบชายฝั่ง ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อการกัดเซาะทางด้านท้ายน้ำหรือส่วนถัดไปของชายหาดตามทิศทางที่ตะกอนเคลื่อนที่ ส่งผลให้พื้นที่ถัดไปเกิดการกัดเซาะอย่างรุนแรง และตามมาซึ่งโครงสร้างป้องกันชายฝั่งอื่นๆต่อเนื่องไปอีก

Beach Lover เห็นทั้งความจำเป็น ความเดือดร้อนของผู้ใช้ปากร่องน้ำ และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำ จึงมีแนวคิดเพื่อจัดการปากร่องน้ำที่ไหลลงสู่ทะเลดังต่อไปนี้

(1) กำหนดให้การขุดลอกปากร่องน้ำทุกแห่งนำตะกอนที่ได้จากปากร่อง ที่ได้พิจารณาแล้วว่าเป็นตะกอนที่คุณสมบัติใกล้เคียงกับพื้นที่ชายฝั่งปากร่องน้ำที่ถูกกัดเซาะ  ไปถมในพื้นที่ที่ถูกกัดเซาะนั้น หากดำเนินการได้จะทำให้ตะกอนไม่ถูกทิ้งให้เสียประโยชน์  บรรเทาผลกระทบด้านท้ายน้ำ และได้แผ่นดินกลับคืนมาบางส่วน

การขุดลอกตะกอนบริเวณปากร่องน้ำบางสะพาน (ส.ค.2563)

(2) ควรกำหนดให้มาตราการถ่ายเททรายข้ามร่องน้ำ สำหรับร่องน้ำที่มีการสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำ (Jetty) เป็นมาตรการประจำที่ต้องดำเนินการทุกปากแม่น้ำตามรอบวนซ้ำที่ได้ศึกษาไว้  โดยถ่ายเทจากฝั่งของปากร่องน้ำที่เกิดการทับถมไปอีกฝั่งที่ถูกกัดเซาะ ซึ่งจะบรรเทาความเสียหายได้บางส่วน ดีกว่าการสร้างโครงสร้างป้องกันต่อไปเรื่อยและเกิดการกัดเซาะต่อไปอย่างต่อเนื่อง

(3) ให้อำนาจและงบประมาณกับท้องถิ่น เพื่อให้สามารถจัดสรรงบประมาณในการลงทุนเครื่องจักรสำหรับใช้ในการขุดลอกปากร่องน้ำขนาดเล็กในพื้นที่ (รถขุดแขนยาวและโป๊ะลอยน้ำพร้อมขายึดในภาพราคารวมประมาณ 6 ล้านบาท) เพื่อบรรเทาปัญหาตะกอนปิดปากร่องน้ำได้อย่างทันท่วงที โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำ เพื่อหลีกเลี่ยงกระทบต่อพื้นที่ข้างเคียง

(4) หากจำเป็นต้องสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำ ควรรวบรวมความจำเป็นของเรือที่สัญจรในปากร่องในใกล้กันมารวมจอดในที่เดียวกัน เพื่อลดจำนวนโครงสร้างและเป็นการจำกัดผลกระทบให้เหลือน้อยที่สุด