หาดม่วงงาม เตรียมรับมรสุมแล้ว

ชายหาดม่วงงาม หมู่ 3 ตำบลม่วงงาม อ.สิงหนคร จ.สงขลา มีประชากรกว่า 3,000 คน มีที่อยู่อาศัยตั้งเรียงรายประชิดชายฝั่งตลอดทั้งแนว ส่งผลให้ยามฤดูมรสุม พื้นที่ริมทะเลแถบนี้มักได้รับผลกระทบรุนแรงกว่าชายหาดหมู่อื่นๆของม่วงงาม

Beach Lover ได้ลงพื้นที่สำรวจในวันที่ 2 พ.ย.2565 พบมีการวางกระสอบทรายขนาดเล็กเพื่อรับมือแล้วในบางตำแหน่ง แม้ว่าจะเป็นเพียงช่วงต้นมรสุมที่ยังไม่ส่งผลรุนแรงก็ตาม

ฤดูมรสุมที่ชายหาดแถบนี้ได้รับผลกระทบคือมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ โดยทั่วไปจะเริ่มต้นประมาณกลางเดือนตุลาคมของทุกปี เรื่อยไปถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์ หรือในบางปีอาจยาวนานกว่านั้น ลมทะเลจะแรงและพัดยาวนานกว่าฤดูอื่น ส่งผลให้คลื่นมีความสูงมากขึ้น ยิ่งรวมกับระดับน้ำทะเลในช่วงมรสุมที่จะยกตัวสูงขึ้นกว่าช่วงเวลาอื่นๆด้วยแล้ว ยิ่งทำให้คลื่นยกตัวเข้าปะทะบ้านเรือนริมชายฝั่งและส่งผลเสียหายกว่าฤดูกาลปกติ

เทศบาลเมืองม่วงงามได้ดำเนินการป้องกันชายฝั่งแถบนี้ โดยแจกถุงกระสอบขนาดเล็กให้ชาวบ้านได้นำทรายใส่กระสอบมาวางด้านหน้าชายหาดเพื่อป้องกันในยามมรสุม โดยดำเนินการแบบชั่วคราวเฉพาะยามจำเป็น อย่างไรก็ตามชาวบ้านเล่าให้ Beach Lover ฟังว่า ทรายที่นำมาใส่กระสอบก็คือทรายที่อยู่บนหาดบริเวณเดียวกันนี้เอง รวมถึงไม่ได้รื้อถอนกระสอบที่เคยวางไว้ในฤดูมรสุมก่อนหน้านี้ออกไปแต่อย่างใด เนื่องจากกระสอบถูกทรายกลบไปแล้วบ้าง ฉีกขาดไปแล้วบ้าง ไม่ก็หลุดออกไปจากที่ตั้งลงทะเลไปบ้าง

ด้วยวิถีชีวิตของประชาชนบริเวณนี้กว่า 80% เกี่ยวข้องกับการประมง จำเป็นต้องมีพื้นที่หน้าชายหาดเพื่อการจอดเรือ หากพื้นที่ชายหาดด้านหน้าหดหายไป หรือถูกแทนที่ด้วยกำแพงหิน กำแพงคอนกรีต จะยิ่งส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของประชาชน

จากการที่ Beach Lover ได้ติดตามการเปลี่ยนแปลงชายหาดม่วงงามหมู่ 3 มาในระดับหนึ่ง พบว่าการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่นี้เป็นแบบ “กัดเซาะชั่วคราว” หรือการเสียสมดุลของชายหาดแบบชั่วคราว เนื่องจากชายหาดมีความเป็นพลวัต ยามมรสุมชายหาดอาจถูกกัดเซาะไปบ้าง คลื่นขนาดใหญ่วิ่งเข้ามาส่งผลกระทบต่อโครงสร้างบ้านเรือนประชาชนที่ตั้งอยู่ประชิดชายหาดไปบ้าง แต่ยามปลอดมรสุม คลื่นขนาดเล็กจะหอบเอาทรายขึ้นมาเติมจนเต็ม พืชขึ้นปกคลุมชายหาด ชายหาดกลับมาเสถียรและสมบูรณ์อีกครั้ง ตราบเท่าที่ไม่มีการแทรกแซงสมดุลของชายฝั่งตามธรรมชาติ (https://beachlover.net/ดูกันชัดๆ-กัดเซาะ-ชั่วคร/)

น่าตามต่อถึงมาตรการที่ท้องถิ่นจะจัดการกับปัญหานี้ โดยส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและการใช้ประโยชน์ของชาวประมงบนชายหาดน้อยที่สุด แต่ยังสามารถต่อสู้กับการกัดเซาะชายฝั่งได้เช่นกัน