“ป่าชายหาด” คือ พื้นที่รอยต่อระหว่างทะเลกันป่าดิบแล้งตามชายฝั่งทะเลที่น้ำทะเลท่วมไม่ถึง ชายหาดเป็นกรวดทรายและโขดหินเป็นแนวกว้าง เช่น ตามเกาะต่างๆในทะเลของไทย ทั้งบริเวณในเขตอ่าวไทยและอันดามัน ดินค่อนข้างเค็มเนื่องจากมีไอเค็มจากฝั่งทะเลพัดเขาถึง สภาพป่าจะผิดแผกไปจากป่าพรุ ป่าบึงน้ำจืด และป่าชายเลน หรือป่าเลนน้ำเค็มโดยสิ้นเชิง ความชุ่มชื้นและปุ๋ยอินทรีย์ในดินมีน้อยมาก สังคมพืชโดยถือเอาความสูงเป็นเกณ์แบ่งได้ 3 ชั้น พันธุ์ไม้หลัก มีสนทะเล กระทิงหรือสารภีทะเล และหูกวางเป็นหลัก
“ป่าชายหาด” นับเป็นป่าสังคมหนึ่งของป่าดิบ มีปริมาณฝนระหว่าง 1,500-4,000 มม/ปี และพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 50 เมตร ปริมาณพื้นที่ของป่าชนิดนี้ยังไม่อาจประเมินได้ แต่มีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับพื้นที่ป่าประเภทอื่นในประเทศไทย (อ่านเพิ่มเติมได้จาก วารสารราชบัณฑิต)
แนวคิดการปลูกป่าชายหาดเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศชายฝั่งทะเล เนินทรายชายฝั่ง เพื่อเป็นปราการทางธรรมชาติป้องกันคลื่นลมนั้นเริ่มปรากฏให้เห็นในระยะหลังๆที่สังคมเริ่มมีความรู้ความเข้าใจเรื่อง Eco-friendly มากขึ้น มีการเริ่มตระหนักว่า ความสมบูรณ์ของป่าชายหาดอาจทดแทนโครงสร้างป้องกันชายฝั่งอย่างกำแพงกันคลื่นได้
ตัวอย่างเช่นโครงการ การพัฒนาแนวทางการปลูกป่าชายหาดด้วยหลักการป่านิเวศ (Eco-forest) เพื่อป้องกันผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล การกัดเซาะชายฝั่ง และพายุซัดฝั่ง ณ ชายหาดชลาทัศน์ จ.สงขลา ปลูกป่าชายหาดเสริมความมั่นคง ป่าปลายแหลมตะลุมพุก จ.นครศรีธรรมราช
Beach Lover ขอพาชมแปลงปลูกป่าชายหาด ณ วนอุทยานปราณบุรี หรือ หาดปราณคีรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ พบว่ามีการวางแปลงปลูกต้นสนทะเล ต้นไม้ชายหาดหลายชนิด และพบการให้น้ำในแปลงเป็นระบบ สปริงเกอร์ขนาดเล็ก
(ภาพเมื่อ มกราคม 2567)