มติเอกฉันท์ชาวบ้านไม่เอา “สันดอนทราย” ในอ่าวปัตตานี

ที่มา: https://www.facebook.com/theagandath/ โดย อัลอามีน มะแต และ ดร.อลิสา หะสาเมาะ

จากการที่คณะกรรมาธิการการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย สำนักกรรมาธิการ 3 สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้จัดทำโครงการศึกษาเรื่อง “สำรวจความต้องการสันดอนทราย จากโครงการขุดลอกอ่าวปัตตานี” โดยลงพื้นที่สำรวจ จัดเก็บข้อมูลและประมวลผลตั้งแต่วันที่ 13 ธ.ค.2563 แล้วประมวลผลเสร็จเมื่อวันที่ 18 ม.ค.2564 นั้น ผลสรุปที่ได้จากโครงการนี้พบว่า ชาวบ้านในชุมชนที่ตอบแบบสอบถามจำนวน 315 คน ประกอบอาชีพประมง 100% ปรากฏว่าทั้งหมด 100% ไม่ต้องการสันดอนทราย โดยต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบด้วยการนำกองทราย ซึ่งเกิดจากวัสดุขุดลอกไปทิ้งนอกอ่าวไทย

ภาพแสดงถึงบริเวณที่ทิ้งตะกอนทรายจากการขุดลอก ซึ่งเกิดเป็นสันดอนทรายใหม่กลางอ่าวปัตตานีตามเส้นสีแดง

“สันดอนทราย” มีที่มาที่ไปอย่างไร

สำหรับโครงการขุดลอกอ่าวปัตตานีเพื่อแก้ปัญหาการตื่นเขินเกิดขึ้นจาก 2 หน่วยงานคือ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และ ศอ.บต. เริ่มศึกษาความเป็นไปได้มาตั้งแต่ปี 2558 ต่อมาได้ชงเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.) ครั้งที่ 1/2560 ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหมสมัยรัฐบาล คสช.เป็นประธานพิจารณา ปรากฏว่าที่ประชุม คปต.มีมติเห็นชอบในหลักการและอนุมัติงบกลางปี 2560 ตามแผนบูรณาการเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ ตามที่กรมเจ้าท่าทำเรื่องเสนอเป็นเงิน 664,994,414 บาท โดยมอบหมายให้คณะทำงานชุดที่มี พล.อ อุดมเดช สีตบุตร ผู้แทนพิเศษรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ผทพ.) รับไปดำเนินการตามการร้องขอจากชาวบ้านให้แก้ไขปัญหาเรื่องความตื้นเขินของอ่าวปัตตานี

“อ่าวปัตตานี” ตั้งอยู่ที่ไหน

“อ่าวปัตตานี” ตั้งอยู่ตอนเหนือของ จ.ปัตตานี มีพื้นที่ 74 ตร.กม. ปากอ่าวเปิดออกสู่อ่าวไทยทางทิศตะวันตก ด้านเหนือจรดแหลมโพธิ์หรือแหลมตาชี ซึ่งเป็นสันทรายยื่นออกไปในทะเลยาว 16 กม. โดยแม่น้ำปัตตานีและแม่น้ำยะหริ่งไหลที่ลงสู่อ่าวปัตตานี ได้พัดพาตะกอนมาทับถมภายในอ่าวทำให้ค่อนข้างตื้นเขิน มีประชาชนอาศัยอยู่โดยรอบและได้ใช้ประโยชน์จากอ่าวปัตตานีมากกว่า 50,000 คน ประกอบด้วย 8 ตำบลใน 2 อำเภอ คือ ต.แหลมโพธิ์ ต.ตะโละกาโปร์ ต.ยามู ต.บางปู อ.ยะหริ่ง ต.บาราโหม ต.ตันหยงลุโละ ต.บานา ต.รูสะมิแล อ.เมืองปัตตานี ทั้งหมดประกอบอาชีพหลักประมงพื้นบ้าน ทั้งที่ใช้เรือยนต์และไม่ใช้เรือยนต์

“วัสดุจากการขุดลอก” ทิ้งที่ไหน อย่างไร

โครงการขุดลอกอ่าวปัตตานีเริ่มกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียช่วง เม.ย.2560 ถึงกลางปี 2562 ผลการทำประชาคมได้ข้อสรุปว่า วัสดุที่ได้จากการขุดลอกกว่า 11,082,700 ลบ.ม. จะถูกนำไปจัดการ 4 แนวทางคือ

1) นำออกไปทิ้งในทะเลอ่าวไทยที่ระดับน้ำลึกไม่ต่ำกว่า 15 ม. ห่างจากอ่าวปัตตานีประมาณ 9 กม. 2) นำไปทิ้งบนฝั่ง 3) นำไปทิ้งริมอ่าวปัตตานี และ 4) นำไปเสริมชายหาด

แต่ข้อเท็จจริงที่ได้จากการลงสำรวจภาคสนามพบว่า ผู้รับเหมาและกรมเจ้าท่าไม่ได้นำวัสดุจากการขุดลอกไปทิ้งตามกำหนด โดยรวมมีการนำไปทิ้งทะเลอ่าวไทยเพียงบางส่วน และนำไปทิ้งบนฝั่งเพียงจุดเดียวคือ ส่วนที่ขุดลอกจากร่องน้ำชุมชนบ้านลาโจ๊ะกูนำไปถมนากุ้งร้างของอดีตกำนัน ต.แหลมโพธิ์ สำหรับปริมาณส่วนใหญ่นำไปทิ้งกลางอ่าวปัตตานี และตามแนวบริเวณข้างๆ ร่องน้ำที่ขุดเป็นจุดย่ๆ อมๆ ทั้งที่อยู่เหนือผิวน้ำและใต้น้ำ

ปรากฏว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ที่มีการทิ้งตะกอนจากการขุดลอกอ่าวปัตตานีจำนวนมากไปทั้งนั้น กลับกลายเป็นแหล่งทำกินของชาวบ้าน รวมทั้งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำด้วย ทำให้บริเวณนั้นเกิดการตื้นเขิน ซึ่งมีหลักฐานชี้ชัดที่สามารถเห็นได้ด้วยสายตาตามภาพประกอบ

ข้อมูลน่าสนใจที่ได้รับจากพื้นที่สำหรับผลสรุปที่ได้จากการสำรวจมีดังนี้

ชาวบ้านที่ตอบแบบสอบถามทั้งสิ้น 315 ราย ส่วนใหญ่อยู่ใน ต.แหลมโพธิ์ 237 ราย รองลงมา ต.ตันหยงลุโละ 26 ราย, ต.บางปู 24 ราย, ต.บาราโหม 12 ราย, ต.บานา 9 ราย และ ต.ตะโละกาโปร์ 7 ราย เฉลี่ยอายุ 48 ปี ทุกคนล้วนมีอาชีพทำการประมงพื้นบ้าน แบ่งเป็นชาย 263 ราย คิดเป็น 83.49% และหญิง 52 ราย คิดเป็น 16.15% ลักษณะของเรือประมงมีทั้งใช้เรือยนต์และไม่ใช่เรือยนต์ เช่น การทอดแห วางลอบดักปูตามแนวชายฝั่ง งมหาหอยแครงด้วยมือเปล่า ตกเบ็ดปลาดุกทะเล ใช้ตะแครงลากหอยด้วยมือ จับกุ้งและปลาด้วยฉมวกแทงปลา และอื่นๆ

สาเหตุที่ ต.แหลมโพธิ์มีจำนวนมากกว่าที่อื่นๆ เนื่องจากมีพื้นที่ติดต่อรอบอ่าวปัตตานีเป็นแนวยาวตามการทับถมของสันทรายตั้งแต่อดีตที่ยึดออกไปจนถึงสุดปลายแหลมตาชี รวมระยะทางกว่า 16 กม. ประกอบไปด้วย 4 หมู่บ้าน และมีอาชีพทำประมงพื้นบ้านทั้งในอ่าวปัตตานีและทะเลนอกอ่าวไทย นอกจากนี้พื้นที่ตำบลอื่นๆ นับได้ว่าได้ใช้ประโยชน์ในอ่าวปัตตานีมากที่สุด ขณะที่ตำบลอื่นๆ มีการเปลี่ยนแปลงอาชีพได้ง่ายกว่าเพราะอยู่ใกล้กับชุมชนเมือง

100% ไม่ต้องการ “สันดอนทราย”

ปรากฏว่าทั้ง 315 รายที่ตอบแบบสอบถามระบุชัดเจนว่า ไม่ต้องการสันดอนทราย และต้องการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบนำสันดอนทรายทั้งหมดออกจากไปจากพื้นที่รอบๆ อ่าวปัตตานี ด้วยส่วนเหตุผลสำคัญเรียงตามลำดับมากไปหาน้อยคือ 1) เนื่องจากทำให้จับสัตว์น้ำได้น้อยลง 2) ขัดขวางเส้นทางเดินเรือ และ 3) ทำให้พื้นที่ทำประมงลดน้อยลง

อีกทั้งยังมีประเด็นอื่น ๆ สามารถสรุปข้อคิดเห็นของชาวบ้านได้ดังนี้ (1) รายได้ของครัวเรือนลดลง เนื่องจากจับสัตว์น้ำน้อยลงอย่างมาก และไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จนบางครอบครัวต้องให้ลูกออกจากเรียนกลางคัน เพราะไม่มีเงินส่งลูกเรียน ในขณะที่บางครอบครัวมีปัญหาครอบครัวตามมา เนื่องจากมีปัญหารายได้ (2) ปัญหาเรือติดกลางสันดอนทรายและทำลายเครื่องมือประมง เช่น อวนขาด เรือพลิกคว่ำ เป็นต้น ซึ่งส่งผลให้ชาวบ้านมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่จับสัตว์น้ำและมีรายได้ลดลง (3) ระบนิเวศเปลี่ยนแปลงส่งผลให้แหล่งอาหารของสัตว์น้ำลดลง เช่น หญ้าทะเล แหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์วัยอ่อน และ (4) กระแสน้ำไม่แรง เนื่องจากมีสันดอนทรายขัดขวางทางน้ำ ทำให้ระยะเวลาการทำประมงสั้นลงจากเดิม ที่ต้องอาศัยกระแสน้ำในการพัดพาอวนให้ลอยตามกระแสน้ำ ในการจับสัตว์น้ำ

หลากหลายประเด็น มากมายผลกระทบ

นอกจากนี้ผลกระทบจากการทิ้งวัสดุขุดลอกผิดแบบ ทำให้โครงการขุดลอกอ่าวปัตตานีไม่ได้แก้ไขปัญหาความตื้นเขินของอ่าวปัตตานี ชาวบ้านประสบปัญหาดังนี้

1) ทรัพยากรสัตว์น้ำทะเลชายฝั่งและแหล่งอาหารของสัตว์น้ำลดลงอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลให้ชาวประมงพื้นบ้านจับสัตว์น้ำทะเลลดลง อย่างไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งสาเหตุมาจากทางโครงการได้ทิ้งตะกอนทราย หรือวัสดุขุดลอก ไปทับถมบริเวณที่ทำมาหากินของชาวบ้านเป็นบริเวณกว้าง ทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ หญ้าทะเล สาหร่ายผมนาง

2) ระบบนิเวศทางทะเลเปลี่ยนแปลงไป จากผลของการทิ้งตะกอนกลางอ่าวปัตตานี มีการเกิดขึ้นของเกาะแก่ง หรือ เนินทรายเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ชาวบ้านไม่คุ้นชินกับระบบนิเวศใหม่ ชาวประมงพื้นบ้านเล่าว่า ปกติตนเองใช้เวลาในการทำประมง 5-6 ชั่วโมงต่อวัน แต่ตั้งแต่มีการขุดลอกอ่าวปัตตานี ส่งผลกระทบทำให้กระแสน้ำขึ้นน้ำลงเปลี่ยนแปลงไป คือ น้ำขึ้น 3 ชั่วโมง และน้ำลง 3 ชั่วโมง เวลาในการทำประมงน้อยลง เกิดภาวะน้ำเปรี้ยว และนำไปสู่ภาวะน้ำนิ่ง (หรือน้ำตาย) ส่งผลกระทบต่อการอยู่รอดของสัตว์น้ำและปัญหาแมงกะพรุนไฟกระทบกับชาวประมงที่ทำอวนลอย

3) การสัญจรทางทะเลมีความลำบากมากขึ้นและมีต้นทุนเพิ่มขึ้นในการทำประมง เพราะการเกิดขึ้นของสันดอนทรายกลางอ่าว ส่งผลให้เส้นทางสัญจรทางน้ำเดิมที่ชาวบ้านใช้สัญจรในการออกทำการประมง บางพื้นที่ไม่สามารถสัญจรได้ในช่วงเวลาน้ำลงต่ำ จากเดิมมีรายได้วันละ 1,000 บาท ปัจจุบันเหลือ 200-300 บาท

4) รายได้ที่ลดลงจากเดิม อย่างเห็นได้ชัด เศรษฐกิจชุมชนได้รับความเดือดร้อนเป็นห่วงโซ่ บางครอบครัวถึงขั้นไม่สามารถส่งเงินให้ลูกไปเรียน จนต้องออกจากการเรียนหนังสือกลางคัน นอกจากนี้ประชาชนรอบอ่าวปัตตานีที่รับจ้างแรงงานในร้านอาหารต้มยำกุ้ง ในประเทศมาเลเซีย ไม่สามารถเดินทางไปประกอบอาชีพหาโอกาสทางเศรษฐกิจจากประเทศเพื่อนบ้านได้ เนื่องจากการปิดประเทศจากสถานการณ์โรคระบาดโควิค-19