เกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี ชายฝั่งทะเลศรีราชา

ที่มา: https://www.facebook.com/DMCRTH

วันที่ 1 กรกฎาคม 2566 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก รายงานการเกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี บริเวณชายฝั่งทะเลศรีราชา จ.ชลบุรี ห่างชายฝั่ง 5 กม. อ้างอิงข้อมูลจากกลุ่มไลน์ RT Bangsaen โดยสถานีวิจัยประมงศรีราชา คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รายงานข้อมูลคุณภาพน้ำตรวจวัดที่สถานี ST5 ซึ่งพบปริมาณออกซิเจนละลายน้ำต่ำที่ระดับพื้นท้องน้ำ ประกอบกับพบการสะพรั่งของไดโนแฟลกเจลเลตชนิด Noctiluca scintillans จากการสำรวจ ซึ่งแพลงก์ตอนชนิดนี้ไม่สร้างสารชีวพิษ และมักพบว่าเป็นสาเหตุทำให้เกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีในหลายพื้นที่ นอกจากนั้น พบปลาตายเล็กน้อยในพื้นที่เกิดปรากฏการณ์ฯ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยฯ จะติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดต่อไป

เกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี บริเวณชายหาดบางแสน

ที่มา: https://www.facebook.com/DMCRTH

วันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๖๔ กรม ทช. โดยศูนย์วิจัย ทช. อ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันออก รายงานการเกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี บริเวณชายหาดบางแสน จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ ๑๙ และ ๒๓-๒๕ กรกฎาคม ๒๕๖๔ จากกลุ่มไลน์ ชื่อ RT Bangsaen โดยสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล ม.บูรพา อ.วิชญา กันบัว ภาควิชาวาริชศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ ม.บูรพา และข้อมูลความเข้มข้นของคลอโรฟิลล์ เอ จาก สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.)

ผลการสำรวจ พบการสะพรั่งของไดโนแฟลกเจลเลตชนิด Noctiluca scintillans บริเวณแหลมแท่น มีความหนาแน่น ๒๖๐-๒๘๙,๕๐๐ เซลล์/ลิตร บริเวณหน้าศาลเจ้าพอแสน มีความหนาแน่น ๑,๗๘๐-๘,๕๐๐ เซลล์/ลิตร บริเวณวงเวียนบางแสน มีความหนาแน่น ๑,๔๔๐-๙๑,๐๐๐ เซลล์/ลิตร และบริเวณหาดวอนนภา มีความหนาแน่น ๘๔๐-๑,๓๕๘,๐๐๐ เซลล์/ลิตร

สำหรับในวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๖๔ พบขนาดเซลล์อยู่ในช่วง ๕๐๐ ถึง ๘๐๐ ไมโครเมตร พบเซลล์สืบพันธุ์ทั้งแบบอาศัยเพศและแบบไม่อาศัยเพศจำนวนมาก คาดว่าเป็นช่วงของการแบ่งเซลล์ ณ จุดสูงสุดของการสะพรั่งในครั้งนี้ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยฯ จะติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดต่อไป