อะไรเกิดขึ้นที่หาดตะโละกาโปร์ ?

การกัดเซาะบริเวณหาดตะโละกาโปร์ จ.ปัตตานี เมื่อเดือนมีนาคม 2564 พอจะวิเคราะห์เบื้องต้นได้จากภาพนี้

พื้นที่ลานปูนที่ยื่นล้ำของอาคารทางด้านล่างของภาพ ส่งผลให้เกิดการกัดเซาะทางด้านเหนือของลานปูนนี้ เนื่องจากการเลี้ยวเบนของคลื่นคล้ายอิทธิพลของการเลี้ยวเบนในพื้นที่ถัดจากกำแพงกันคลื่น (https://beachlover.net/seawall/)

ภาพเมื่อ เม.ย.2564
ภาพเมื่อ เม.ย.2564

ถัดจากนั้นขึ้นไปทางตอนเหนืออีกเล็กน้อยพบต้นมะพร้าววางขวางลำอยู่ใต้น้ำในมุมที่ค่อนข้างตั้งฉากกับชายฝั่ง วางตัวประหนึ่งรอดักทรายใต้น้ำ (https://beachlover.net/groin/) ส่งผลให้ชายหาดด้านทิศเหนือถัดขึ้นไปเกิดการกัดเซาะแบบเว้าแหว่ง

หากการกัดเซาะในพื้นที่หาดตะโละกาโปร์เกิดตามธรรมชาติโดยแท้ เราจะเห็นการกัดเซาะในลักษณะของการกินระยะที่ค่อนข้างเท่ากันในหาดเดียวกัน แต่จากภาพที่ปรากฏพบว่า เกิดการเว้าแหว่งของชายหาดเป็นจุดๆเฉพาะตำแหน่ง ในขณะที่ชายหาดส่วนถัดไปทางตอนเหนือยังคงสมบูรณ์ ซึ่งนั่นหมายความว่า ต้องมีตัวกระตุ้นบางอย่างที่ส่งผลให้ชายหาดเกิดการกัดเซาะแบบไม่เป็นไปตามธรรมชาติ

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงที่เห็นดังภาพอาจแตกต่างกันไปตามทิศทางของคลื่นลม บางฤดูกาลเราอาจไม่เห็นอิทธิพลของโครงสร้างที่ยื่นล้ำนี้ได้อย่างเด่นชัด ในขณะที่บางฤดูกาลโครงสร้างนี้เองที่อาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งอย่างมีนัยสำคัญ