สำรวจการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ชายฝั่ง ปลายสุดแดนฝั่งอันดามัน

ที่มา: https://www.facebook.com/DMCRTH

วันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๖๔ กรม ทช. โดยสำนักงาน ทช.ที่๗ (ตรัง) สำรวจ พื้นที่ชายฝั่งในท้องที่ จ.สตูล ๓ พื้นที่ ได้แก่

(๑) บริเวณระบบหาดบางศิลา (T8E315) ท้องที่ ต.ละงู อ.ละงู จ.สตูล สภาพโดยทั่วไปมีเขื่อน/กำแพงป้องกันคลื่นแบบลาดเอียง และหินทิ้งเกือบตลอดแนวของชายหาด ยาวต่อเนื่องกันจนถึงจุดสิ้นสุดของโครงสร้าง พบการกัดเซาะชายฝั่งยาวประมาณ ๕๐ เมตร อาคารบ้านเรือนของราษฎรได้รับความเสียหาย ๔ หลัง สาเหตุเกิดจากการเลี้ยวเบนของคลื่น (End effect) เมื่อสิ้นสุดโครงสร้าง พื้นที่ถัดจากบริเวณที่ถูกกัดเซาะเป็นชายหาดธรรมชาติคงเหลืออยู่ความยาวประมาณ ๑ กม. ได้สอบถามความคิดเห็นของราษฎรบริเวณนี้เกี่ยวกับการก่อสร้างเขื่อน/กำแพงป้องกันคลื่น ได้รับแจ้งว่า ไม่เห็นด้วย หากจะมีการก่อสร้างเขื่อน/กำแพงป้องกันคลื่นบริเวณนี้

(๒) บริเวณระบบหาดท่าแพ-ตันหยงโป (T8E316) ท้องที่ ต.ตันหยงโป อ.เมือง จ.สตูล สภาพโดยทั่วไปบริเวณบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของราษฎรมีเขื่อน/กำแพงป้องกันคลื่นแบบตั้งตรง และแบบลาดเอียง ตลอดแนว ส่วนที่ไม่มีบ้านเรือน ไม่มีการก่อสร้างเขื่อน/กำแพงป้องกันคลื่น และมีสภาพสมดุล และ (๓) บริเวณระบบหาดบากันเคย-ปูยู(T8E317) ท้องที่ ต.ตันหยงโป อ.เมือง จ.สตูล สภาพโดยทั่วไปบริเวณบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของราษฎรมีเขื่อน/กำแพงป้องกันคลื่นแบบตั้งตรง ตลอดแนว

สำรวจการเปลี่ยนแปลงพื้นที่แนวชายฝั่งช่วงหาดเทพา-แหลมโพธิ์

ที่มา: https://www.facebook.com/DMCRTH

วันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๔ กรม ทช. โดยสำนักงาน ทช.ที่๙ (ปัตตานี) สำรวจติดตามและเก็บข้อมูลสถานภาพชายฝั่ง บริเวณพื้นที่ท่าเทียบเรือปัตตานี ต.บานา อ.เมือง จ.ปัตตานี ซึ่งอยู่ในระบบหาดเทพา-แหลมโพธิ์ ผลการสำรวจพบว่า มีลักษณะทางกายภาพชายฝั่งเป็นหาดโคลน พื้นที่แนวชายฝั่งส่วนใหญ่ประกอบด้วยโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ได้แก่ เขื่อนหินทิ้ง ประเภทลาดเอียง ความยาวประมาณ ๔๐๐ เมตร เขื่อนกันทรายและคลื่น ความยาวประมาณ ๑,๒๗๐ เมตร และท่าเรือที่มีลักษณะยืนรุกล้ำลำน้ำไปในทะเล ความยาวประมาณ ๗๕๐ เมตร โดยมีวัตถุประสงค์สำหรับเป็นท่าเทียบเรือประมงใช้สำหรับขนส่งและค้าขายอาหารทะเล พร้อมทั้งท่าเรือแหล่งนี้ยังเป็นแหล่งอุตสาหกรรมประมงที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของจังหวัดปัตตานี อีกทั้งลักษณะโครงสร้างที่ยืนรุกล้ำลำน้ำไปในทะเลยังช่วยกันคลื่นและทรายมาปิดทับถมปากร่องแม่น้ำปัตตานี ปัจจุบันไม่พบการชำรุดของโครงสร้างดังกล่าว