วิชาการ: ระยะถอยร่นชายฝั่งทะเล

ระยะถอยร่นเปรียบเสมือนแนวกันชนระหว่างทะเลกับผืนแผ่นดิน เพราะเป็นการรักษาความสมดุลของกระบวนการชายฝั่งไม่ให้ถูกรบกวนจากกิจกรรมของมนุษย์บนพื้นที่ชายฝั่ง และเป็นการลดผลกระทบจากปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลจากภัยธรรมชาติ ที่อาจมีต่อชีวิตและทรัพย์สินของรัฐและเอกชนที่อยู่บริเวณชายฝั่ง 

ระยะถอยร่นเป็นหนึ่งในมาตรการเพื่อจัดการชายฝั่งทะเล ทั้งเพื่อการจัดการภัยพิบัติชายฝั่งทะเลและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ชายฝั่งทะเลอย่างยั่งยืน โดยมากมักกำหนดจากแนวระดับน้ำทะเลขึ้นเฉลี่ยถึงแนวที่พิจารณาแล้วว่าจะปลอดภัยต่อภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในอดีตและอาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยทั่วไประยะถอยร่นเป็นระยะที่หากจะมีการพัฒนาใดๆ จะต้องถอยร่นห่างจากชายฝั่งเข้าไปให้พ้นระยะนี้เพื่อป้องกันความเสียหายจากภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้น เป็นระยะทางสงวนไว้ให้กระบวนการชายฝั่งทะเลจะสามารถปรับสมดุลได้ตามปกติไม่ถูกแทรกแซง จึงเป็นมาตรการที่ไม่รบกวนต่อกระบวนการทางธรรมชาติของชายฝั่งทะเล และไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำเหมือนการใช้โครงสร้างชายฝั่งทะเล โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อ

  • ป้องกันชีวิตและทรัพย์สินจากพิบัติภัยที่เกิดขึ้นบริเวณชายฝั่งทะเล เช่น พายุซัดฝั่ง การกัดเซาะ  เป็นต้น
  • ลดงบประมาณเพื่อใช้ในการป้องชายฝั่ง
  • สงวนพื้นที่ชายฝั่งให้คงทัศนียภาพที่งดงามตามธรรมชาติ 
  • ลดความขัดแย้งในการใช้ประโยชน์ร่วมกันบริเวณชายฝั่ง
  • ประชาชนสามารถเข้าถึงชายฝั่งทะเลได้อย่างเท่าเทียม
  • รักษาพื้นที่ชายฝั่งเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์
  • ลดความเสี่ยงภัยที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
ถนนอยู่ประชิดชายหาดมากเกินไปจนได้รับผลกระทบจากกระบวนการธรรมชาติ
และเป็นเหตุให้ต้องสร้างโครงสร้างป้องกันชายฝั่งมาป้องกันถนนอีกชั้นหนึ่ง

ในความเป็นจริง พื้นที่ใดที่ปล่อยให้มีการพัฒนามากเกินไปแล้ว พื้นที่นั้นจะกำหนดระยะถอยร่นได้ยาก เนื่องจากจะเกิดแรงต่อต้านทางสังคม ทั้งยังไม่คุ้มกับค่าเวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ถูกพัฒนาไปแล้วก่อนหน้านี้  การใช้มาตรการระยะถอยร่นชายฝั่งจึงควรเร่งประกาศใช้ในพื้นที่ที่ยังไม่มีการพัฒนา เพื่อจำกัดการพัฒนาไม่ให้ประชิดชายฝั่งมากเกินไป โดยกำหนดเป็นเขตห้ามรุกล้ำสำหรับสิ่งปลูกสร้างถาวร ซึ่งอาจใช้ร่วมกับนโยบายผังเมืองชายฝั่งทะเล จะช่วยลดผลกระทบจากภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้น ลดความเสียหายต่อสิ่งชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐและเอกชน และส่งเสริมการใช้ประโยชน์ของพื้นที่บนชายหาดได้อย่างยั่งยืน

ตัวอย่างระยะถอยร่นชายฝั่งทะเลหาดชลาทัศน์ จ.สงขลา (ที่มา: ขวัญชนก และสมปรารถนา, 2563)

การพิจารณาว่าระยะถอยร่นในแต่ละพื้นที่ควรเป็นระยะเท่าใดนั้น มีปัจจัยและรายละเอียดที่จำเป็นต้องคำนึงถึงมากมายที่จำเป็นต้องศึกษาอย่างรอบด้านก่อนการนำมาตรการนี้มาใช้เพื่อคุ้มครองชายหาด อ่านเพิ่มเติมเรื่องระยะถอยร่น ได้จาก https://conference.thaince.org/index.php/ncce25/article/view/578 และ https://beachlover.net/การกำหนดระยะถอยร่น/ และ https://beachlover.net/setback-negombo-srilanka/