“รั้วไม้ชายหาด” วัดท่าไทร ยังสบายดี ?

Beach Lover เคยพาชม รั้วไม้ ณ ชายหาดหน้าวัดท่าไทรไปแล้วหลายครั้ง ติดตามได้จาก https://beachlover.net/หาดเต่าไข่-วัดท่าไทร-ยัง/ การปักไม้ในพื้นที่นี้นับเป็นพื้นที่แรกๆที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช) รับมาปฏิบัติเอง หลังจากที่ชาวบ้าน ผู้ประกอบการ ได้ดำเนินการเองไปบ้างแล้วก่อนหน้านั้น งบประมาณที่ทางกรมฯใช้ในพื้นที่นี้คือ 495,000 บาท สำหรับระยะทาง 594 เมตร หรืออาจกล่าวได้ว่า งบประมาณที่ใช้เพื่อการปักไม้คือ 833 บาทต่อเมตร

(ภาพเมื่อ: 14 พ.ค.2565)

Beach Lover ได้ไล่เรียงภาพถ่ายในมุมเดิมๆ โดยมีตำแหน่งอ้างอิงเดิมให้ได้ชมกันอีกครั้งตั้งแต่ กันยายน 2563 จนถึง พฤษภาคม 2565 ตามภาพ พบว่า การเว้าโค้งด้านทิศเหนือส่วนถัดจากกำแพงกันคลื่นแบบหินทิ้งมีรูปแบบที่ไม่แตกต่างกันในแต่ละภาพ สิ่งที่แตกต่างพบเพียงการทับถมของทรายที่เข้ามาตกสะสมตามฤดูกาลเท่านั้น โดยพบว่าภาพในเดือนธันวาคม ซึ่งช่วงปลอดมรสุมทรายเข้ามาทับถมจนเกือบมิดปลายไม้และมีระดับเกือบเสมอกับสันทรายชายหาดด้านใน และหลังจากนั้นทรายส่วนนี้ก็ถูกคลื่นซัดหายไปตามฤดูกาลเหมือนเดิม โดยปรากฏลักษณะของการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลนี้ในรูปแบบเดียวกันตลอดทั้งแนวปักไม้เกือบ 600 เมตร

โครงการปักไม้หน้าวัดท่าไทร (ภาพเมื่อ: 14 พ.ค.2565)

จากการเดินสำรวจตลอดแนวเกือบ 600 เมตร พบว่าพื้นที่ทิศเหนือสุดของแนวปักไม้ ไม่พบการเปลี่ยนแปลงของชายหาดที่มีความแตกต่างจากพื้นที่ที่มีการปักไม้แต่อย่างใด ซึ่งเหมือนกับที่ Beach Lover เคยสำรวจและแสดงความเห็นไว้ในการสำรวจครั้งก่อนหน้านี้เมื่อสองปีก่อน https://beachlover.net/หาดเต่าไข่-วัดท่าไทร-ยัง/

จุดสิ้นสุดโครงการปักไม้ทางทิศเหนือ (ภาพเมื่อ: 14 พ.ค.2565)
พื้นที่ทิศเหนือถัดจากโครงการปักไม้ (ภาพเมื่อ: 14 พ.ค.2565)

วัตถุประสงค์ของการก่อสร้างรั้วไม้ในพื้นที่นี้ตามจริงคือต้องการบรรเทาผลกระทบจากการกัดเซาะด้านท้ายน้ำถัดจากกำแพงกันคลื่นแบบหินทิ้งที่ก่อสร้างไปแล้วก่อนหน้านี้ แต่รั้วไม้นี้จะป้องกันการกัดเซาะด้านท้ายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพตามที่หวังตั้งใจไว้หรือไม่ คงเป็นประเด็นที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ต้องตอบคำถามโดยมีข้อมูลสนับสนุนเชิงวิชาการอย่างเพียงพอ อาทิ ข้อมูลจากการสำรวจในแต่ละช่วงเวลาในบริเวณที่มีและไม่มีรั้วไม้ ผลวิเคราะห์ปริมาณทรายที่รั้วไม้ดักเอาไว้ได้ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้หน่วยงานอื่นๆยอมรับ และเห็นไปในทิศทางเดียวกัน

มิฉะนั้น มาตรการ “ไม้หลักปักผืนทราย” ที่กรม ทช โปรโมทไว้ซึ่งมีทั้งที่ดำเนินการไปบ้างแล้ว และกำลังจะดำเนินการต่ออีกในหลายพื้นที่ จะเกิดข้อกังขาตามมามากมาย