มาตรการ ICZM ร่วมแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง

รัฐควรใช้มาตรการ “จัดการพื้นที่ชายฝั่งทะเลแบบบูรณาการ” (ICZM)ร่วมด้วยเพื่อแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง

แม้จะพยามใช้มาตรการที่สอดคล้องและเป็นมิตรต่อธรรมชาติมากที่สุดแล้วก็ตาม พบว่าไม่มีแนวทางจัดการใดที่เป็นการแก้ปัญหาอย่างสมบูรณ์แบบโดยไม่มีผลกระทบ โดยเฉพาะแนวทางเพื่อการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งมักเป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบของกระบวนการทางธรรมชาติของชายฝั่งให้สอดคล้องกับการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ การใช้หลายแนวทางร่วมกันแก้ไขปัญหาอาจเป็นวิธีการที่เหมาะสมมากกว่าใช้เพียงมาตรการเดียว เป็นต้นว่า การถมทรายชายหาดเพื่อเพิ่มความกว้างพื้นที่ชายหาดอย่างที่ หาดพัทยา จ.ชลบุรี และ หาดชลาทัศน์ จ.สงขลา อาจมีผลทางลบต่อพื้นที่ข้างเคียงน้อยกว่าแนวทางเลือกอื่นก็จริง แต่ก็ยังเกิดผลกระทบต่อสัตว์หน้าดินและในทะเล ตลอดจนผลกระทบต่อพื้นที่แหล่งทรายที่นำมาใช้งาน แบบนี้ควรต้องหามาตรการอื่นมาช่วยในการบรรเทาความเสียหายเรื่องตะกอนฟุ้ง น้ำขุ่น และอื่นๆที่อาจเกิดขึ้น

หรือการสร้างเขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่งส่งผลของพื้นที่ชายหาดที่อยู่ถัดไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในกรณีนี้อาจใช้การเวนคืนพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ จ่ายค่าชดเชยเยียวยา แทนการสร้างโครงการต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ซึ่งก็จะก่อให้เกิดผลกระทบแบบโดมิโนต่อเนื่องไปเช่นกัน นอกจากนี้มาตรการทางกฎหมายอย่างการลงโทษ การออกระเบียบปฏิบัติ ก็ควรถูกนำมาใช้ร่วมด้วย

เนื่องจากชายฝั่งทะเลเป็นพื้นที่ที่มีการใช้ประโยชน์ในหลายมิติ มีผู้คนเข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย และมีแนวโน้มจะเพิ่มมากยิ่งขึ้นตามประชากรที่เพิ่มขึ้นและการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม หากต้องการรักษาทรัพยากรนี้ไว้อย่างยั่งยืนจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้มาตรการจัดการพื้นที่ชายฝั่งทะเลแบบบูรณาการร่วมกันกับมาตรการอื่นๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อบรรเทาปัญหาและแก้ไขความเสื่อมโทรมของพื้นที่ โดยการจัดการการใช้ประโยชน์และแก้ไขปัญหาความขัดแย้งให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

โดยใช้กระบวนการจัดการที่มีการผสมผสานกันระหว่างหน่วยงานและแผนงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง กลุ่มผู้ใช้ประโยชน์และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งนี้ต้องอาศัยองค์ความรู้ต่างๆ ทั้งทางวิทยาศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ เพื่อนำมาวางแผนการพัฒนาเพื่อนำไปปฏิบัติให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์พื้นที่ชายฝั่งทะเล โดยมีหลายมาตรการเพื่อการจัดการพื้นที่ชายฝั่งทะเล เช่น การจัดรูปองค์กร การบังคับใช้กฎหมาย การเสริมสร้างความรู้ การจัดการฐานข้อมูล การกำหนดระยะถอยร่น การแบ่งเขตการใช้ ประโยชน์พื้นที่ชายหาด การกำหนดมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม การมีส่วนร่วมของประชาชน การประเมินความเสี่ยง และการประเมินความเปราะบาง เป็นต้น