โครงการศูนย์บริการจอดเรือ แหลมบาลีฮาย เมืองพัทยา สร้างบนผืนน้ำเนื้อที่ 120 ไร่ นับถึงปัจจุบันยังไม่มีการใช้งานตามที่ได้ออกแบบไว้เลยตั้งแต่สร้างแล้วเสร็จ เนื่องจากประสบปัญหาคลื่นที่วิ่งผ่านเข้าด้านในที่จอดเรือมีขนาดใหญ่ จนส่งผลให้ท่าเทียบเรือแบบลอยน้ำเกิดความเสียหายหลุดลอยออกจากตำแหน่งเดิม หลังจากการซ่อมแซมบางส่วน สามารถจอดได้เฉพาะเรือขนาดเล็กเท่านั้น
โครงการนี้ประกอบด้วย การก่อสร้างพื้นที่จัดเก็บเรือริมชายฝั่งทะเลแหลมบาลีฮาย ขนาดพื้นที่ 120 ไร่ มีลักษณะเป็นท่าเทียบเรือแบบลอยน้ำได้ สามารถรองรับเรือขนาดต่ำกว่า 500 ตันกรอส พร้อมยังมีองค์ประกอบอื่นๆเช่น ทุ่นสำหรับยกเรือระบบ Hydro Lift สามารถใช้จอดเรือเร็วได้ 360 ลำ โดยโครงการนี้ไม่เข้าข่ายที่ต้องจัดทำ รายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการนี้จึงจัดทำเฉพาะรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น แล้วเสร็จไปตั้งแต่ มีนาคม 2553 โดยบริษัทเทสโก้ เจ้าของงานคือเมืองพัทยา
หากสังเกตจากภาพถ่ายดาวเทียม Google Earth เริ่มปรากฏหลักฐานว่ามีการพัฒนาท่าเทียบเรือ ณ แหลมบาลีฮาย ในช่วงระหว่างปี 2010-2013 (ไม่มีภาพถ่ายระหว่างนั้น จึงไม่ทราบปีที่แน่นอน) โดยเมืองพัทยามีแผนจะพัฒนาให้เป็นศูนย์จอดเรือเพื่อการนันทนาการขนาดใหญ่ โดยตั้งใจให้เป็น Hub พร้อมระบบเชื่อมต่อ แต่นับตั้งแต่มีการก่อสร้างยังไม่เคยถูกใช้งานเนื่องจากโครงสร้างชำรุดเสียหายตั้งแต่ยังไม่เปิดใช้
เมืองพัทยาเคยตั้งคณะกรรมการสอบหาข้อเท็จจริงเพื่อหาคนรับผิดชอบในเรื่องนี้ แต่เรื่องก็เงียบไปตั้งแต่ปี 2560
หลังจากรัฐได้มีแนวคิดพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) โครงการท่าเรือนี้ได้ถูกนำมาปัดฝุ่นกันอีกรอบ โดยหวังจะพัฒนาปรับปรุงให้ใหญ่โตขึ้นเพื่อเป็นหนึ่งในกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ โดยหวังทำเป็นพื้นที่นำร่อง NEO Pattaya พัฒนาพื้นที่ท่าเรือพัทยาใต้ และเขาพัทยา พัฒนาท่าเทียบเรือรองรับเรือสําราญขนาดใหญ่ มีพื้นที่ตรวจคนเข้าเมือง ศุลกากร บริเวณแหลมบาลีฮาย เพิ่มพื้นที่นันทนาการทางน้ํา ทางเดิน Sky walk เชื่อมท่าเรือสําราญ บริเวณถนนคนเดิน ปรับปรุงภูมิทัศน์ ย้ายสายไฟฟ้าลงดิน รื้อถอนอาคารรุกล้ําพื้นที่ในทะเล เป็นต้น รวมทั้ง โครงการก่อสร้างสนามกีฬา แห่งชาติภาคตะวันออก รองรับแข่งขันกีฬาระดับสากล ผนวกกับโครงการ Neo เกาะล้าน พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ สร้างรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืน
ก่อนที่รัฐจะคิดไปพัฒนาโครงการอลังการเช่นนี้ รัฐควรพิจารณาถึงโครงการเดิมที่ไม่เคยมีการใช้งานให้ประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพของงบประมาณกว่า 700 ล้านบาทเสียก่อน เพราะรัฐกำลังจะพัฒนาสิ่งใหม่ลงบนซากปรักหักพังของโครงการเก่าที่มีความเสียหายอยู่เดิม โดยที่ยังไม่สามารถหาคนมารับผิดชอบได้ แม้เรื่องราวจะผ่านไปมากกว่า 10 แล้วก็ตาม