หาดสะกอมที่ Beach Lover พาไปชมในวันนี้ หมายถึงหาดสะกอม อ.เทพา จ.สงขลา บริเวณที่เป็นหาดสาธารณะ มีระยะทางตามแนวชายหาดระหว่างหัวแหลมที่ขนาบทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตกของหาดสะกอมประมาณ 1.2 กิโลเมตร เบื้องหน้าของชายหาดห่างออกไปประมาณ 3 กิโลเมตร คือเกาะขาม
หาดสะกอมแห่งนี้มีถนนเลียบชายหาดตลอดทั้งแนว พบว่าถนนเลียบหาดฝั่งทิศตะวันตกจากสามแยกทางเข้าหาดนั้นพังเสียหายตาม Clip VDO https://www.youtube.com/watch?v=x-KN-thBBnI
Beach Lover ได้ลงสำรวจพื้นที่นี้มาแล้วในปี 2557 (2014)โดยพบว่าถนนเส้นนี้ถูกตัดขาดไปแล้วบางส่วน แต่ไม่ได้รุนแรงเท่าที่พบเห็นในปัจจุบัน และสืบเนื่องจากพื้นที่หาดสะกอมบริเวณนี้เป็นชายหาดระหว่างหัวแหลมตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น การกัดเซาะชายฝั่งบริเวณนี้จึงไม่น่าจะมีผลมาจากปัจจัยภายนอกทางทิศตะวันออกหรือตะวันตกของชายหาดสักเท่าไหร่ นอกจากนั้นยังพบว่ามีตะกอนจำนวนมากไหลล้นข้ามหัวแหลมทางทิศตะวันออกเข้ามาบริเวณชายหาดตามภาพจาก Google Earth
จากการวิเคราะห์เบื้องต้นด้วยภาพถ่ายดาวเทียมจาก Google Earth พบร่องรอยของการสร้างรอดักทราย (Groin) ระหว่างปี 2002-2006 (ไม่มีภาพถ่ายระหวางช่วงเวลานี้มาพิสูจน์ว่าสร้างขึ้นปีใด) ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังจากที่มีการตัดถนนเลียบชายหาดนี้แล้ว หลังจากนั้นก็สังเกตได้อย่างชัดเจนว่าแนวของถนนเลียบชายฝั่งเส้นนี้เริ่มขยับเข้าหาทะเลมากขึ้น หมายความว่า เริ่มเกิดการกัดเซาะจนสันทรายและชายหาดด้านหน้าถนนค่อยๆหายไป พร้อมกับพื้นที่ของชายหาดด้านทิศตะวันออกของรอดักทรายเกิดการงอกเงยขึ้น ซึ่งเกิดขึ้นจากผลกระทบของรอดักทรายนั่นเอง (https://beachlover.net/groin/)
จริวอยู่ที่คลื่นใหญ่ลมแรงจากมรสุมและพายุเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่ง แต่ในกรณีคงปฏิเสธได้ยากถึงผลกระทบเชิงประจักษ์จากรอดักทรายเพียง 1 ตัวที่ไม่ทราบทั้งหน่วยงานและช่วงเวลาที่ทำการก่อสร้าง หากแม้สาเหตุนั้นเกิดจากพลังของธรรมชาติเพียงอย่างเดียว เราคงต้องเห็นการกัดเซาะในลักษณะที่เหมือนกันตลอดทั้งแนวชายหาดแล้ว
หากมองให้ลึกลงไปมากกว่าสาเหตุการพังทลายของถนนเลียบชายหาดสะกอม พบว่า ถนนเส้นนี้ไม่ได้มีความจำเป็นที่ต้องสร้างตั้งแต่ตอนแรกด้วยซ้ำ เพราะมิได้มุ่งหน้าไปสู่ชุมชนใดๆ ประกอบกับด้านหลังของถนนเป็นเขตประชิดติดเขาและไม่มีบ้านเรือนของประชาชนเลย เอาเข้าจริงๆเราควรให้น้ำหนักกับตั้งคำถามถึงการเกิดขึ้นของถนนเส้นนี้ มากเสียกว่าการตั้งคำถามถึงการเกิดขึ้นรอดักทรายจนส่งผลให้ถนนขาดเสียอีก
Beach Lover ได้เคยพาไปชมถนนเลียบชายหาดที่พังทลายเสียหายแบบนี้มาแล้วหลายครั้ง เช่น https://beachlover.net/ถนน-ปานาเระ-หายไปไหน/ เป็นต้น หาอ่านได้เพิ่มเติมจากโพสเก่าๆ
สุดท้ายเราควรตั้งคำถามกับการเกิดขึ้นของถนนเลียบชายหาดที่ไร้ความจำเป็นแบบนี้ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะท้ายที่สุดแล้วในหลายพื้นที่มันนำมาซึ่งโครงสร้างป้องกันชายฝั่ง ที่จะก่อให้เกิดผลกระทบแบบโดมิโน่ไม่จบสิ้น เป็นการสูญเสียงบประมาณแบบไร้ความจำเป็นอย่างยิ่ง
ทางออกของเรื่องราวนี้อาจเป็นการกำหนดระยะถอยร่นของถนนเลียบชายฝั่งอย่างจริงจัง (https://beachlover.net/วิชาการ-ระยะถอยร่นชายฝั่งทะเล/) ประเทศไทยมีกฎหมายเกี่ยวข้องกับระยะร่นอาคารจากแนวระดับน้ำทะเล แต่ยังไม่มีกฏหมายเรื่องเดียวกันนี้มาบังคับใช้กับถนนเลียบชายหาดเลยทั้งที่ในหลายประเทศได้มีข้อกำหนดและบังคับใช้กันอย่างจริงจัง (https://beachlover.net/การกำหนดระยะถอยร่น/) ได้แต่ลุ้นต่อไปว่า มันจะเกิดขึ้นไหมในช่วงชีวิตนี้