Derosion lattice เป็นเทคโนโลยีจากประเทศไต้หวันเพื่อลดทอนพลังงานคลื่นพร้อมทั้งดักทรายที่มาพร้อมคลื่นไว้บริเวณใกล้ชายฝั่ง สร้างจากวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีความมั่นคงแข็งแรงทนทาน เมื่อใช้งานจะวาง Derosion lattice ไว้ใต้น้ำในเขตน้ำตื้นใกล้ชายหาด (www.reshore.tech)
Derosion lattice แตกต่างจากการเติมทรายชายหาดเนื่องจากไม่จำเป็นต้องทำซ้ำทุกๆสองสามปี ทรายที่มาทับถมจาก Derosion lattice จะไม่ถูกกัดเซาะออกไปอีก และไม่ก่อให้เกิดปัญหาทรายทับถมบนสิ่งมีชีวิตหรือปะการังใต้ทะเลด้วย (www.reshore.tech)
หลักการของ Derosion lattice คือการลดทอนพลังงานคลื่นจากแรงเสียดทานและการสั่นสะเทือน (friction and vibration) ทำให้ตะกอนที่มากับคลื่นสามารถตกทับถมบนชายหาดได้ ซึ่งแตกต่างจากเขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่ง หรือ รอดักทราย ที่จะส่งผลกระทบต่อทิศทางของคลื่นทำให้เกิดการกัดเซาะบริเวณพื้นที่ชายฝั่งข้างเคียงได้ (www.reshore.tech)
สำหรับประเทศไทยมีการทดลองใช้ Derosion lattice บริเวณตำแหน่งสิ้นสุดปลายกำแพงกันคลื่นของกรมเจ้าท่า ณ ชายหาดบ่ออิฐ-เกาะแต้ว จ.สงขลา เป็นแห่งแรก และแห่งเดียว โดยทำการติดตั้งมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 ด้วยความร่วมมือของบริษัท Thai Wring Syatems จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และกรมเจ้าท่า
จากการสำรวจภาคสนามพบว่า Derosion lattice ที่ถูกวางในพื้นที่นี้ อยู่ในแนวเดียวกันกับฐานของกำแพงกันคลื่นแบบหินเรียงของกรมเจ้าท่าพอดี จากการสอบถามทราบว่าต้องการนำมาวางเพื่อลดการกัดเซาะด้านท้ายน้ำ ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นนี้
ต่อมาในช่วง ปลายเดือนมกราคม 2565 ซึ่งเป็นช่วงฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ Beach Lover ได้กลับไปสำรวจสภาพของชายหาด ณ ตำแหน่งปลายกำแพง บริเวณที่ติดตั้ง Derosion lattice พบว่า ณ เวลาที่สำรวจอุปกรณ์นี้ได้จมอยู่ใต้น้ำทั้งหมด ส่วนชายหาดด้านหลัง Derosion lattice พบการกัดเซาะ ต้นไม้ล้ม และสันชายหาดถูกกัดเซาะเป็นแนวยาวดังรูป
ต่อมาในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2565 Beach Lover ได้สำรวจพื้นที่เดิมอีกครั้งพบว่าต้นสนแนวนอกสุดนั้นหายไปหมดแล้ว สันหาดถูกแทนที่ด้วยก้อนหินคละขนาด
Derosion lattice ยังคงวางอยู่ในตำแหน่งเดิม ดูมีสภาพที่เก่าไปบ้าง แต่จากการสังเกตยังไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งของอุปกรณ์หลุดออกจากที่ตั้ง
ส่วนชายหาดด้านหลัง Derosion lattice และส่วนถัดไปที่ไม่มี Derosion lattice ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ และไม่พบป้ายประชาสัมพันธ์โครงการนี้แล้ว แม้จะยังไม่เสร็จสิ้นระยะเวลาโครงการ ที่จะถึงในเดือนสิงหาคม 2565 ก็ตาม
การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆเพื่อแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งนั้นเป็นสิ่งที่หน่วยงานที่รับผิดชอบควรเร่งดำเนินการ เพราะที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่า หากใช้การแก้ไขปัญหาแบบเดิมๆ ก็จะนำมาซึ่งการสูญเสียชายหาดจากผลกระทบชิ่งแบบโดมิโน่ของการแก้ไขปัญหาแบบเดิม และเกิดภาพวนซ้ำไปมาไม่รู้จักจบสิ้น
หากหน่วยงานได้นำเทคโนโลยีใดมาทดลองใช้แล้วได้ผลดี ก็ควรเร่งนำมาใช้ต่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่หากทดลองแล้วไร้ประสิทธิภาพ ก็ควรยอมรับและละทิ้งความพยามนั้น พร้อมทั้งเร่งหาหนทางใหม่ๆเพื่อแก้ไขปัญหากันต่อไป