ตอกเข็มแล้ว!! หาดมหาราช จ.สงขลา [11ม.ค.2563]

หาดมหาราช หาดทรายชายทะเลที่สงบ ร่มรื่น และมีความเป็นส่วนตัวมาก หาดทรายขาวน้ำไม่ลึกมาก สามารถเล่นน้ำได้ดี มีชายหาดร่มรื่นด้วยทิวสน มีการจัดแต่งเป็นที่พักผ่อน ที่ชมทิวทัศน์ ให้ความสะดวกในการพักผ่อนที่กลมกลืนกับธรรมชาติพอสมควร ด้านหลังแนวหาดเป็นสวนหย่อมและเป็นที่ตั้งของพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 5 ประทับยืนหันหน้าออกสู่ทะเล มีที่พัก ร้านอาหาร ให้บริการนักท่องเที่ยว หาดมหาราช ชายหาดที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ไม่ปรากฏร่องรอยของการกัดเซาะชายฝั่ง สังเกตได้จากพืชที่ขึ้นปกคลุมแสดงให้เห็นถึงความมีเสถียรภาพของชายหาด

ชายหาดแห่งนี้เคยมีการสร้างกำแพงกันดินเพื่อปรับภูมิทัศน์ไปแล้วหนึ่งครั้ง ซึ่งปัจจุบันกำแพงนั้นได้ถูกพืชชายหาดปกคลุมจนเกือบมิด นั่นย่อมแสดงให้เห็นว่า ชายหาดแห่งนี้ค่อนข้างเสถียร แทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงกายภาพใดๆ

แนวกำแพงกันดินเดิมริมชายหาด
แนวกำแพงกันดินเดิมริมชายหาด

แม้ช่วงที่เกิดพายุซัดฝั่งอย่างพายุปาบึกเมื่อเดือน ม.ค.2562 จากการลงพื้นที่สำรวจของทีมงาน beachlover ก็ไม่ปรากฏร่องรอยของการกัดเซาะชายฝั่ง มีเพียงทรายที่ถูกคลื่นซัดขึ้นมาบนถนนและน้ำที่กระเซ็นข้ามมาด้านในเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ทีมงาน beachlover ได้พบว่าต้นเดือน พ.ย.2562 เริ่มเห็นเสาเข็มจำนวนมากมาวางริมชายหาด มีการปักหมุดเขตการก่อสร้าง อะไรซักอย่าง แต่ยังไม่มีป้ายบอกถึงรายละเอียดโครงการ คาดเดาได้ว่าน่าจะเป็นกำแพงกันคลื่นที่จะวางตัวอยู่บนชายหาดอย่างแน่นอน

พ.ย.2562 เริ่มเห็นการนำเสาคอนกรีตมาวางริมชายหาด

ต่อมาเดือน ธ.ค.2562 ทีมงาน beachlover พบว่าเริ่มมีการลงมือปรับพื้นที่พร้อมการติดตั้งป้ายระบุรายละเอียดของโครงการ พบว่าชายหาดที่สมบูรณ์แห่งนี้กำลังจะมีการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันไดยาว 1.102 กิโลเมตร พร้อมปรับภูมิทัศน์โดยทำซุ้มไม้ระแนงอีก 5 แห่ง งบประมาณทั้งสิ้น 167.2 ล้านบาท โดยใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปี 1 เดือน คิดเป็น 151.72 ล้านบาท ต่อ 1 กิโลเมตร แล้วสำหรับโครงการนี้ ซึ่งถือว่าสูงมากกว่าโครงสร้างรูปแบบคล้ายกันที่เคยสร้างที่อ่าวน้อย จ.ประจวบฯ และที่อื่นๆ

ป้ายระบุรายละเอียดโครงการ
ปรับพื้นที่เพื่อการก่อสร้าง (ธ.ค.2562)
ปรับพื้นที่เพื่อการก่อสร้าง (ธ.ค.2562)
ภาพจำลองเมื่อโครงการแล้วเสร็จ
ภาพจำลองเมื่อโครงการแล้วเสร็จ
ภาพจำลองเมื่อโครงการแล้วเสร็จ
ภาพจำลองเมื่อโครงการแล้วเสร็จ

ต่อมาในเดือน ม.ค.2563 ทีม beachforlife ได้พบว่าโครงการนี้ได้เริ่มดำเนินการเปิดพื้นที่เพื่อก่อสร้างมากขึ้น เริ่มพบเห็นการเข้างานของเครื่องจักรหนัก และเริ่มลงเสาเข็มแล้วตามแนวชายหาดแล้ว

ม.ค.2563
ม.ค.2563
ม.ค.2563
ม.ค.2563
ม.ค.2563
ม.ค.2563

โครงสร้างกำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันไดนี้ ทางกรมโยธาธิการและผังเมืองในฐานะเจ้าของโครงการได้เคยระบุว่า เป็นโครงสร้างที่ถูกตามหลักวิชา ลดการสะท้อนของคลื่นได้มากกว่ากำแพงกันคลื่นในแนวดิ่งแบบที่เกิดขึ้นที่อ่าวประจวบฯ บ้านหน้าศาล และอีกหลายที่ที่เคยดำเนินการมา

ในเชิงวิชาการนั้นไม่ผิดที่ว่ากำแพงลักษณะนี้จะสะท้อนคลื่นออกไปน้อยกว่ากำแพงแนวดิ่ง แต่ใช่ว่าจะไม่เกิดผลกระทบต่อชายหาดส่วนถัดไป หรือชายหาดด้านหน้ากำแพง เพราะไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด ถ้าโครงสร้างนั้นไม่เอียงรับคลื่นในแนวเดียวกับชายหาดธรรมชาติ และไม่ดูดซับพลังงานคลื่นเหมือนอย่างที่ทรายบนชายหาดกระทำต่อคลื่น โครงสร้างนั้นล้วนแล้วแต่รบกวนสมดุลของชายฝั่งทั้งสิ้น

เรื่องของรูปแบบของโครงสร้างป้องกันที่เหมาะสมนั้น เป็นสิ่งที่สามารถถกเถียงกันได้ตามหลักวิชาการ หากมีความจำเป็นต้องดำเนินการ แต่คำถามตัวโตๆก่อนที่เราจะไปถกเถียงในประเด็นนั้นคือ

เราจะสร้างกำแพงกันคลื่นทับลงไปบนชายหาดที่สมบูรณ์แห่งนี้จริงๆหรือ ?

เราต้องใช้โครงสร้างทางวิศวกรรมป้องกันชายหาดที่ไร้ร่องรอยการกัดเซาะด้วยหรือ ?

เรามีความ “จำเป็น” ขนาดนั้นเลยหรือ ?!?!? 

ยากจะคาดเดากับการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานที่รับผิดชอบ ได้แต่พยายามส่งต่อข้อมูลเท่าที่พอจะมีแรงทำ … รอติดตามอย่างใจเย็น