ความลาดชันชายหาดบนเกาะภูเก็ต

Beach Lover ได้พาสำรวจสภาพชายหาด รวมถึงโครงสร้างป้องกันชายฝั่ง บริเวณเกาะภูเก็ตฝั่งตะวันตกไปแล้ว ติดตามได้จากโพสในหมวดสถานการณ์ชายฝั่ง ครั้งนี้ขอพาสำรวจความลาดชันชายหาดทั้ง 47 ตำแหน่งกันบ้าง ว่าเป็นอย่างไร

ความลาดชันชายหาดเป็นลักษณะทางกายภาพของชายฝั่งที่แสดงให้เห็นถึงพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากการเกิดน้ำท่วม และความรวดเร็วในการกัดเซาะของแนวชายฝั่ง เพราะพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่มีความลาดชันสูง แนวชายฝั่งจะกัดเซาะช้ากว่าบริเวณชายฝั่งที่มีความลาดชันต่ำ ตามกฎของ Brunn  แม้ว่ากฎของ Brunn จะใช้ไม่ได้กับพื้นดินทุกประเภท แต่มีประโยชน์ในการให้ข้อมูลเชิงลึกว่าพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่มีที่ราบลุ่ม จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมและการเปลี่ยนแปลงสภาพชายฝั่ง โดยทั่วไปพื้นที่ที่มีความลาดชันต่ำมีโอกาสที่คลื่นขนาดใหญ่สามารถซัดเข้าโจมตีพื้นที่ด้านในฝั่งได้มาก โดยเฉพาะหากเกิดคลื่นพายุรุนแรงในฤดูมรสุม ส่งผลให้เกิดภาวะน้ำท่วมพื้นที่หลังหาด สร้างความเสียหายต่อที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ตลอดจนพัดพาเอาตะกอนออกสู่ทะเลได้มาก

การสำรวจข้อมูลความลาดชันชายหาดในพื้นที่ศึกษา 47 ตำแหน่งสำรวจ เป็นการสำรวจโดยใช้เครื่องวัดความลาดชันแบบพกพา ณ ตำแหน่งสำรวจบริเวณชายหาดส่วนหน้า (Foreshore) พบว่าค่าเฉลี่ย ค่าสูงสุด และค่าต่ำสุด ของความลาดชันชายหาดเป็น 6.33 , 13.70 และ 2.20 องศา ตามลำดับ จากการศึกษาที่ผ่านมาสำหรับชายหาดในประเทศไทยพบว่ามีความลาดชันชายหาดเฉลี่ยเท่ากับ 6.60 องศา (Ritphring, et al.,2018) เมื่อนำข้อมูลความลาดชันชายหาด มาพล็อตกราฟแจกแจงความถี่ พบว่า ความลาดชันชายหาดช่วง 5-6 องศา เป็นช่วงที่มีความถี่สูงสุด จำนวน 13 ตำแหน่งสำรวจ รองลงมาคือช่วง 4-5 องศา จำนวน 7 ตำแหน่งสำรวจ

กราฟแจกแจงความถี่ของความลาดชันชายหาด ณ ตำแหน่งสำรวจ

————————————

อ้างอิง: Ritphring, S., Somphong, C., Udo, K. and Kazama, S. 2018. Projections of future beach loss due to sea level rise for sandy beaches along Thailand’s coastlines. Journal of Coastal Research SI. 85: 541-545.