ข้อห่วงกังวลจากการประชุมรับฟังความคิดเห็นโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ชิงโค สงขลา [26ก.พ.2563]

ที่มาข่าว: https://www.facebook.com/Beach-for-life

สถาบันทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียในโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ครั้งที่ 1 ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งโครงการดังกล่าวนี้ได้รับการจัดสรรงบประมาณประจำปีภายใต้แผนงานการเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ(งบพัฒนา) โดยมีวัตถุประสงค์ 

1) เพื่อศึกษาวิจัยวิธีการที่เหมาะสมสำหรับการแก้ไขและป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ทั้งในห้องปฏิบัติการและทำการทดลองเชิงปฏิบัติในสถานที่ 

2) เพื่อพัฒนาโครงการบูรณะชายฝั่งจังหวัดสงขลา (Songkhla Model) เพื่อให้เป็นพื้นที่สาธิตและนำไปขยายผล 

3) เพื่อจัดทำฐานข้อมูลสารสนเทศ(GIS) เพื่อการบูรณะชายฝั่งทะเล จังหวัดสงขลา 

4) เพื่อให้ได้แผนปฏิบัติการบูรณะชายฝั่งทะเลของจังหวัดสงขลา

5) เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งของจังหวัดอื่นๆ ด้วย 

โครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีลักษณะการดำเนินการ โดยการวางโดมทะเล ในพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตำบลชิงโค อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา โดยทำการวางโดมทะเลห่างจากฝั่ง 500 เมตร และอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลต่ำสุด โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ วางห่างกันเป็นระยะทาง 100 เมตร ซึ่งแต่ละกลุ่มประกอบด้วยโดมจำนวน 19 กลุ่มย่อย ห่างกันตั้งแต่ 20-50 เมตร เพื่อลดพลังงานของคลื่นที่เข้ามาปะทะร้อยละ 52 โดยรูปแบบการจัดวางแต่ละกลุ่มแตกต่างกันขึ้นกับทิศทางของคลื่นที่วิ่งเข้ามาปะทะ

การประชุมรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการนี้  Beach for life มีข้อสังเกตและข้อห่วงกังวลหลายประการต่อการดำเนินโครงการนี้ 

1. Beach for life มีความเห็นว่า โครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์นั้น มีลักษณะ/รูปแบบโครงการเป็นการดำเนินการวางโดมทะเลใต้นำ เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งโดมทะเลดังกล่าวนั้นมีหน้าที่เพื่อสลายพลังงานคลื่นที่เข้ามาปะทะ จึงถือได้ว่าโดมทะเลนั้น เป็นโครงสร้างเขื่อนกันคลื่น หรือ Breakwater ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งกำหนดให้โครงสร้างเขื่อนกันคลื่นทุกขนาด ต้องจัดทำรายงานการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) ก่อนการดำเนินโครงการ ดังนั้นการดำเนินโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์นั้น จึงเข้าข่ายโครงการ/กิจการที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อนดำเนินโครงการ

2. ในการประชุมรับฟังความเห็นครั้งนี้ มีข้อมูลในการประกอบการตัดสินใจน้อยมาก อาทิ เหตุผลและความจำเป็นในการดำเนินโครงการ การวิเคราะห์พื้นที่ในดำเนินโครงการทุกมิติ ข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะหรือรูปแบบของโดมทะเล ผลจากแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ ผลดีหรือผลเสียของโดมทะเลในห้องปฏิบัติการ เป็นต้น ซึ่งข้อมูลและเอกสารต่างๆที่เกี่ยวข้องนี้ เป็นส่วนสำคัญในการประกอบการตัดสินใจของประชาชน นักวิชาการ และองค์กรต่างๆที่เป็นผู้มีส่วนได้เสีย

3. Bach for life มีข้อห่วงกังวลว่า การวางโดมทะเลห่างจากฝั่ง ระยะ 500 เมตร  จะทราบได้อย่างไรว่า ระยะ 500 เมตรนั้น เป็นระยะที่ไม่คลื่นจะไม่มีโอกาสในการพัฒนาตนเองขึ้นมาใหม่ ซึ่งหากในระยะด้านหลังของโดมทะเล ถึงบนฝั่ง คลื่นสามารถพัฒนาขึ้นมาใหม่ได้นั้น โดมทะเลที่วางอยู่ก็มิอาจจะทำหน้าที่ป้องกันชายฝั่งได้ 

4. เนื่องจากโครงการนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อทดลองป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง โดยใช้โครงสร้างโดมทะเล ในห้องปฏิบัติการและพื้นที่จริง Beach for life มีข้อห่วงกังวลว่า หากการดำเนินโครงการแล้วไม่อาจบรรลุวัตถุประสงค์ของการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง หรือ โครงการนี้มีผลกระทบเชิงลบต่อระบบนิเวศ สัณฐานธรณี และทำให้เกิดความเสียหายต่อหาดทรายและชุมชนโดยรอบ จะมีมาตรการดำเนินการอย่างไรกับโดมทะเลที่วางลงไปในทะเล 

5. เนื่องจากพื้นที่ในการดำเนินโครงการนั้นมีโครงสร้างป้องกันชายฝั่งมากมายที่มีผลรบกวนสมดุลของตะกอนทรายและกระแสน้ำชายฝั่ง ซึ่งทำให้มีผลต่อการชี้วัดว่า ความสำเร็จหรือความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากโครงสร้างใดกันแน่  ดังนั้น การเลือกพื้นที่บริเวณหาดทรายแก้ว อาจไม่มีความเหมาะสมในการการันตีความสำเร็จหรือล้มเหลวของโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง โดยใช้โดมทะเล   

จากข้อห่วงกังวลทั้งหมดนี้ที่กล่าวมา กลุ่ม Beach for life และเครือข่ายนักวิชาการ มองว่า โครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการทบทวนการดำเนินโครงการตามประเด็นที่ได้มีการท้วงติงจากการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในโครงการ และเปิดโอกาสให้ประชาชน นักวิชาการ องค์กรภาคประชาสังคม ได้มีส่วนร่วมในทุกๆขั้นตอนของโครงการ เพื่อให้การดำเนินโครงการนี้มีความละเอียด รอบครอบ และมีผลกระทบต่อหาดทราย และชุมชนน้อยที่สุด