ข้อสังเกตบางประการ: โครงการป้องกันการกัดเซาะหาดทรายแก้ว จ.สงขลา [14 ม.ค.2563]

จากเอกสาร “รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง บริเวณตำบลชิงโค ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จ.สงขลา (บริเวณหาดทรายแก้ว)” ที่ได้จัดทำไว้เมื่อพฤษภาคม 2558 โดยบริษัท เอส ที เอส เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด โดยมีเจ้าของงานคือกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม พบรายละเอียดของโครงการดังนี้ (หน้า 2-57 ถึง 2-58)

การก่อสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณหาดทรายแก้ว ได้ออกแบบให้เป็น เขื่อนกันคลื่นนอกฝั่งสันต่ำ จำนวน 6 ตัว ทำหน้าที่สลายพลังงานคลื่น และมีหัวหาด (Head land) ทั้งทางด้านเหนือ (NHL) และด้านใต้ (SHL) ของโครงการเป็นตัวควบคุมความสมดุลของแนวชายฝั่ง โดยหัวหาดเหนือห่างจาก Spending beach breakwater ประมาณ 100 เมตร และหัวหาดด้านใต้ห่างออกจากฝั่งประมาณ 300 เมตร นอกจากนี้ ยังได้ออกแบบให้มีช่องระบายน้ำอยู่ชิดกับหัวหาด และมีกำแพงกันดินแบบหินทิ้ง (RR1 และ RR2) ทั้ง 2 ข้างของช่องทางระบายน้ำ เพื่อกันทรายไม่ให้ถูกพัดเข้าไปทับถมในทางระบายน้ำดังรูป

สำหรับการเสริมทราย จะดำเนินการรื้อรอดักทรายบริเวณเดิมออก และทำการถมทราย เพิ่มเติม ทั้งนี้โครงการจะทำการถมหาดเพิ่มอีก 15 เมตร ตลอดแนวความยาว และปรับเขื่อนกันคลื่นใต้น้ำให้ ออกนอกฝั่งอีก 15 เมตร

(อ้างอิง: กรมเจ้าท่า, 2558)

จากรายงาน EIA ข้างต้น สรุปได้ว่ามีองค์ประกอบของโครงการ ดังนี้ (1) เขื่อนกันคลื่นนอกฝั่งสันต่ำ จำนวน 6 ตัว (2) หัวหาด (Head land) ทั้งทางด้านเหนือและด้านใต้ (3) ช่องระบายน้ำ(4) กำแพงกันดินแบบหินทิ้ง ทั้ง 2 ข้างของช่องระบายน้ำ (5) เสริมทรายชายหาด โดยใช้งบประมาณต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560-2564 รวมทั้งสิ้น 290.7 ล้านบาท (อ้างอิงข้อมูลจากสำนักงบประมาณ, 2562)

จากการสำรวจภาคสนามของทีมงาน beachlover ในช่วงระหว่างการก่อสร้างเดือน พ.ย. 2562 พบว่าสภาพชายหาดบริเวณหาดแก้วและพื้นที่ใกล้เคียงเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากดังรูป

และพบว่าแตกต่างจากองค์ประกอบโครงการที่ปรากฏอยู่ในรายงาน EIA ที่กล่าวไว้ข้างต้นค่อนข้างมาก ทั้งนี้ทั้งนั้นอาจเป็นไปได้ว่า โครงการยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ยังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง กองหินบางกองอาจสร้างขึ้นชั่วคราวเพื่อเป็นเส้นทางลำเลียงวัสดุเข้าพื้นที่ หรืออาจมีการปรับเปลี่ยนแบบระหว่างการดำเนินงานเนื่องจากบริบทของพื้นที่หลายประการเปลี่ยนแปลงไปก็อาจเป็นได้

ด้วยความยาวโครงสร้างที่ยื่นล้ำลงไปในทะเลกว่า 685 เมตร น่าตามต่อถึงผลกระทบครั้งยิ่งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นกับชายหาดแถบชิงโค สิงหนคร และส่วนถัดไปทางทิศเหนือของ จ.สงขลา ที่ถือเป็นชายหาดธรรมชาติที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ผืนที่ยาวต่อเนื่องผืนสุดท้ายของสงขลา และกล่าวได้ว่าเป็นชายหาดส่วนที่ยาวและตรงที่สุดของชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนล่างที่ยังไม่มีโครงสร้างชายฝั่งทะเลขนาดใหญ่ น่าจับตาว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรหากโครงการนี้เสร็จสมบูรณ์