กำแพงริมทะเลเกาะภูเก็ต ยังสบายดี?

ตามที่ Beach Lover ได้พาสำรวจสภาพชายฝั่ง รวมถึงโครงสร้างป้องกัน บริเวณชายฝั่งตะวันตกของเกาะภูเก็ตไปแล้วตามโพสก่อนหน้านี้ ครั้งนี้ขอพาสำรวจโครงสร้างป้องกันชายฝั่งที่ชำรุดเสียหายกันบ้าง ทั้งนี้เพื่อประเมินความสามารถในการป้องกันพื้นที่หลังโครงสร้าง สภาพและความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อโครงสร้าง และผลที่กระทบที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ท้ายน้ำ

จากการสอบถามประชาชนในพื้นที่และการลงสำรวจภาคสนาม พบว่าโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งโดยส่วนมากยังคงอยู่ในสภาพดี สามารถป้องกันการกัดเซาะพื้นที่หลังโครงสร้างได้ และไม่พบร่องรอยผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำ แต่พบโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งที่เกิดการชำรุดเสียหายจำนวน 4 ตำแหน่ง ได้แก่บริเวณริมถนนกมลาป่าตอง 1 ตำแหน่ง และบริเวณหาดราไวย์ 3 ตำแหน่ง ดังนี้

(1) กำแพงดูราโฮลด์ริมถนนกมลาป่าตอง ความยาว 70 เมตร พบว่าก้อนดูราโฮลด์ของกำแพงชั้นบนสุดเกิดการเลื่อนหลุดออกจากกำแพงและหล่นลงมาด้านหน้ากำแพง และก้อนดูราโฮลด์บางก้อนแตกหักเสียหาย

(2) กำแพงตั้งตรงบริเวณทิศเหนือของหาดราไวย์ 1 ความยาว 130 เมตร พบการกัดเซาะด้านหลังกำแพงส่งผลให้เกิดโพรงหลังกำแพงและกำแพงเกิดการแตกหักและเอียง นอกจากนี้ยังพบว่ามีพื้นที่ของหาดทรายเหลือน้อยมากในบริเวณนี้เนื่องจากน้ำขึ้นถึงฐานกำแพง

(3) กำแพงกันคลื่นแบบหินทิ้งและกำแพงกันคลื่นแบบตั้งตรงบริเวณทิศใต้ของหาดราไวย์ 2 ความยาว 400 เมตร พบว่ากำแพงหินทิ้งด้านหน้ากำแพงกันคลื่น มีบางส่วนจมอยู่ใต้น้ำ และกำแพงกันคลื่นแบบตั้งตรงมีร่องรอยการแตกหัก นอกจากนี้บริเวณด้านหน้าโครงสร้างป้องกันชายฝั่งไม่มีชายหาดและไม่สามารถมองเห็นชายหาดด้านล่างได้

(4) กำแพงกันคลื่นแบบตั้งตรงบริเวณหาดราไวย์ 3 ความยาว 150 เมตร พบว่าสภาพกำแพงชำรุดเสียหาย แผ่นคอนกรีตแตกร้าว รวมถึงแนวกำแพงแตกและทรุดตัวลง