ชมการป้องกันชายฝั่งหมู่บ้านชาวประมง Kuta Beach, Lombok

Beach Lover ได้พาชมหาด Kuta, Lombok ไปแล้ว ติดตามได้จากโพสก่อนหน้า ครั้งนี้ขอพาชมชายหาดริมหมู่บ้านชาวประมง ทิศตะวันตกของหาด Kuta ซึ่งมีการใช้หน้าหาดเพื่อการจอดเรือประมงพื้นบ้าน และวางอุปกรณ์ที่ใช้เพื่อการประมงขนาดเล็ก บ้านเรือนของชาวประมงแถบนี้สร้างประชิดติดชายหาดมากๆ ยามน้ำขึ้นสูง ยามคลื่นลมแรง จึงอาจส่งผลให้น้ำทะเลซัดเข้าบ้านได้ ชาวประมงจึงหาทางป้องกันตนเองโดยการสร้างโครงสร้างป้องกันขนาดเล็กแบบชั่วคราวไว้หน้าบ้านใครบ้านมัน ในรูปแบบที่คล้ายๆกันคือกระสอบทรายและการปักไม้

Beachlover

August 27, 2024

ชุมชนชายฝั่ง กับความพยายามป้องกันตัวเอง ณ หาดใจกลางเมืองหลวง Dili, Timor Leste

Dili เป็นเมืองหลวงของประเทศ Timor Leste ประเทศที่ผ่านการต่อสู้เพื่ออิสระภาพมาอย่างยาวนาน และเพิ่งสงบลงเมื่อยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมานี้เอง Dili ไม่ได้มีการจัดการชุมชนประมงชายฝั่งอย่างเป็นเรื่องเป็นราว กล่าวคือเราจะพบเป็นเรือประมงท้องถิ่นขนาดเล็กจอดเรียงรายกันตลอดแนว ไม่ได้มีการจัดการเป็นท่าเรือประมงหรือท่าจอดแบบรวมกลุ่มประมงเหมือนที่เรามักพบเห็นในหลายประเทศ รวมถึงหลายพื้นที่ในประเทศไทย ชุมชนประมงที่ Beach Lover พาชมในครั้งนี้อยู่ใจกลางเมืองหลวง ห่างจากสนามบินหลักไม่ถึง 2 กิโลเมตร สภาพบ้านเรือนปลูกสร้างแบบไม่ถาวร ฝาผนังและหลังคา มักทำจากสังกะสี ดูจากสภาพภายนอกไม่น่าจะอาศัยอยู่ได้อย่างสะดวกสบายนัก  หน้าบ้านที่ติดกับทะเลพบเห็นการวางยางรถยนต์ กระเบื้องมุงหลังคา ไม้ กระสอบขนาดใหญ่ที่บ้านเราใช้ใส่พวกสารเคมีในภาคอุตสาหกรรม พบเศษวัสดุก่อสร้างบ้างประปราย  เหล่านี้คาดว่าเป็นความพยายามป้องกันตนเองจากคลื่นที่เข้ามาปะทะตัวบ้านที่ตั้งอยู่ประชิดทะเลค่อนข้างมาก ยามน้ำขึ้นพบว่าปลายคลื่นวิ่งเข้าไปเกือบถึงตัวบ้านเลย ในส่วนของเรือประมงพื้นบ้านที่มีขนาดเล็กมากๆ ชาวบ้านลากเข้ามาเกยฝั่งในระยะที่พ้นจากระดับน้ำและคลื่น ที่อาจทำให้เรือเสียหายได้ ดู Clip สำรวจเพิ่มเติมได้จาก Youtube: Coastal Research Group

Beachlover

September 22, 2023

หาดม่วงงาม เตรียมรับมรสุมแล้ว

ชายหาดม่วงงาม หมู่ 3 ตำบลม่วงงาม อ.สิงหนคร จ.สงขลา มีประชากรกว่า 3,000 คน มีที่อยู่อาศัยตั้งเรียงรายประชิดชายฝั่งตลอดทั้งแนว ส่งผลให้ยามฤดูมรสุม พื้นที่ริมทะเลแถบนี้มักได้รับผลกระทบรุนแรงกว่าชายหาดหมู่อื่นๆของม่วงงาม Beach Lover ได้ลงพื้นที่สำรวจในวันที่ 2 พ.ย.2565 พบมีการวางกระสอบทรายขนาดเล็กเพื่อรับมือแล้วในบางตำแหน่ง แม้ว่าจะเป็นเพียงช่วงต้นมรสุมที่ยังไม่ส่งผลรุนแรงก็ตาม ฤดูมรสุมที่ชายหาดแถบนี้ได้รับผลกระทบคือมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ โดยทั่วไปจะเริ่มต้นประมาณกลางเดือนตุลาคมของทุกปี เรื่อยไปถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์ หรือในบางปีอาจยาวนานกว่านั้น ลมทะเลจะแรงและพัดยาวนานกว่าฤดูอื่น ส่งผลให้คลื่นมีความสูงมากขึ้น ยิ่งรวมกับระดับน้ำทะเลในช่วงมรสุมที่จะยกตัวสูงขึ้นกว่าช่วงเวลาอื่นๆด้วยแล้ว ยิ่งทำให้คลื่นยกตัวเข้าปะทะบ้านเรือนริมชายฝั่งและส่งผลเสียหายกว่าฤดูกาลปกติ เทศบาลเมืองม่วงงามได้ดำเนินการป้องกันชายฝั่งแถบนี้ โดยแจกถุงกระสอบขนาดเล็กให้ชาวบ้านได้นำทรายใส่กระสอบมาวางด้านหน้าชายหาดเพื่อป้องกันในยามมรสุม โดยดำเนินการแบบชั่วคราวเฉพาะยามจำเป็น อย่างไรก็ตามชาวบ้านเล่าให้ Beach Lover ฟังว่า ทรายที่นำมาใส่กระสอบก็คือทรายที่อยู่บนหาดบริเวณเดียวกันนี้เอง รวมถึงไม่ได้รื้อถอนกระสอบที่เคยวางไว้ในฤดูมรสุมก่อนหน้านี้ออกไปแต่อย่างใด เนื่องจากกระสอบถูกทรายกลบไปแล้วบ้าง ฉีกขาดไปแล้วบ้าง ไม่ก็หลุดออกไปจากที่ตั้งลงทะเลไปบ้าง ด้วยวิถีชีวิตของประชาชนบริเวณนี้กว่า 80% เกี่ยวข้องกับการประมง จำเป็นต้องมีพื้นที่หน้าชายหาดเพื่อการจอดเรือ หากพื้นที่ชายหาดด้านหน้าหดหายไป หรือถูกแทนที่ด้วยกำแพงหิน กำแพงคอนกรีต จะยิ่งส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของประชาชน จากการที่ Beach Lover ได้ติดตามการเปลี่ยนแปลงชายหาดม่วงงามหมู่ 3 มาในระดับหนึ่ง พบว่าการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่นี้เป็นแบบ “กัดเซาะชั่วคราว” หรือการเสียสมดุลของชายหาดแบบชั่วคราว […]

Beachlover

November 6, 2022

กลุ่มประมงพื้นบ้านดอนสัก ร่วมเรียนรู้ระบบ ติดตามชายหาดโดยชุมชน

ที่มา: https://www.facebook.com/LaetaLaeTai/ กลุ่มประมงพื้นบ้านอำเภอดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี สำรวจการกัดเซาะชายฝั่งช่วงฤดูมรสุม เพื่อบันทึกข้อมูลการติดตามชายหาดโดยชุมชน หวังใช้เป็นประโยชน์ในการจัดทำแผนพัฒนาชายหาดร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ. วันอาทิตย์ที่ผ่านมา (7 พ.ย.2564) กลุ่มประมงพื้นบ้านจาก 3 ตำบล ในอำเภอดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี รวม 30 คน ร่วมเรียนรู้ข้อมูลการกัดเซาะชายฝั่ง และแนวทางการแก้ปัญหา ณ โรงเรียนวัดนทีวัฒนาราม ต.ชลคราม อ.ดอนสัก เพื่อทำความเข้าใจสภาพปัญหาพื้นที่ จากการแลกเปลี่ยนข้อมูล พบว่า ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของ อ.ดอนสัก เริ่มต้นตั้งแต่มีนโยบายสัมปทานป่าชายเลน และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง ช่วง พ.ศ.2530 ทำให้เกิดการทำลายพื้นที่ป่ายเลน แปรสภาพเป็นบ่อเพาะเลี้ยงกุ้ง จนมาถึงยุทธศาสตร์ด้านการเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวและขนส่งน้ำมันทางทะเลระหว่างแผ่นดินใหญ่ กับ อ.เกาะสมุย อ.เกาะพงัน ส่งผลกระทบต่อการกัดเซาะชายฝั่งมาจนปัจจุบัน. จากนั้น ได้รวมกลุ่มกันทำการสำรวจพื้นที่ชายหาดบริเวณชายหาดบ้านพอด ต.ชลคราม ซึ่งใกล้กับพื้นที่กำแพงกันคลื่นแบบเรียงหิน รวมระยะทาง 1,800 เมตร จากคลองตั้ว ถึง The Tamarind รีสอร์ท มีเป้าหมายในการก่อสร้างเพื่อป้องกันชุมชน และพื้นที่จอดเรือของชุมชนบ้านพอด ปัจจุบันการกัดเซาะชายฝั่งนั้นเกิดขึ้นบริเวณด้านท้ายของกำเเพงกันคลื่นตั้งเเต่ […]

Beachlover

November 11, 2021

ประมงเรือเล็กทับสะแกร่วมทิ้งซั้งกอทางมะพร้าวสร้างแหล่งที่อยู่สัตว์น้ำ

ที่มา: http://najanews.com/?p=173908 วันที่ 26 สิงหาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ชายฝั่งทะเลปากคลองบางน้อย หมู่ที่ 2 บ้านทุ่งประดู่ ต.ทับสะแก อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชมรมประมงเรือเล็กอำเภอทับสะแก โดยคณะกรรมการและสมาชิกชมรม ได้ร่วมกันจัดทำโครงการสร้างแหล่งที่อยู่อาศัยสัตว์น้ำด้วยการทิ้งซั้งกอไม้ไผ่-ทางมะพร้าว จำนวน 200 กอ ภายใต้โครงการพัฒนาอาชีพและส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนประมง ประจำปีงบประมาณ 2564 (กิจกรรมพัฒนาอาชีพชุมชนประมง) โดยมีส่วนราชการ ผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน ได้แก่ นายสมศักดิ์ คงชู ประมงอำเภอทับสะแก นายสมนึก โหยบคาน หัวหน้าหน่วยป้องกันและปราบปรามประมงทะเลบางสะพาน (ประจวบคีรีขันธ์) นางเรืองศิริ วิเชียรฉาย ปลัดอบต.ทับสะแก ปฏิบัติหน้าที่นายกอบต.ทับสะแก นางสาวมาเรีย เผ่าประทาน กำนันตำบลทับสะแก นายโกวิท เดชอุดม ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ม. 2 บ้านทุ่งประดู่ และนายวสุ โชคกิจการ สมาชิกอบจ.ประจวบคีรีขันธ์ เขต 2 อ.ทับสะแก […]

Beachlover

August 27, 2021

พาชมเขื่อนกันคลื่นบ้านเพ

เขื่อนกันคลื่น ณ หาดบ้านเพ สร้างขึ้นเพื่อป้องกันท่าเทียบเรือบ้านเพที่อยู่ด้านในริมชายหาด เรียกขานในเชิงเทคนิคว่า Harbour breakwater โดยสร้างขึ้นประมาณปี 2536 โดยกรมเจ้าท่า ชาวบ้านท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ที่นี่มายาวนานเล่าให้ฟังว่า แรกเริ่มเดิมที พื้นที่ก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นตามที่ได้ตกลงกันกับชาวบ้านมิได้อยู่ในแนวปัจจุบัน แต่ไม่ทราบว่าด้วยเหตุผลกลใด ทำให้หน่วยงานตัดสินใจย้ายแนวเขื่อนกันคลื่นมาเป็นแนวปัจจุบันซึ่งวางทับลงไปบนแนวประการังที่มีความหลากหลายถึง 18 ชนิด กินพื้นที่ประมาณ 500 ไร่ หลังการก่อสร้าง ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่า กระแสน้ำเริ่มเปลี่ยนทิศทาง แทงไปทางทิศตะวันออกของชุมชนบ้านเพ ซึ่งปัจจุบันเป็นพื้นที่บริเวณห้าง Lotus express จนเทศบาลต้องเอาหินมาถมเพื่อป้องกันชายหาด จนเป็นที่มาของกำแพงกันคลื่นบริเวณหน้าหาดสวนสนปัจจุบัน นอกจากนั้นยังพบว่าหาดทรายด้านหลังกลายสภาพเป็นหาดโคลนปนทรายและน้ำไหลเวียนไม่สะดวกเหมือนเช่นอดีต Beach Lover ได้ลงพื้นที่สำรวจเขื่อนกันคลื่นบ้านเพแห่งนี้ในเดือนมีนาคม 2564 พบว่ายังมีสภาพดี พบกระชังเลี้ยงหอยและปลาด้านหลังเขื่อนกันคลื่นตลอดทั้งแนว เนื่องจากเป็นพื้นที่อับคลื่นและลมจากอิทธิพลของเขื่อนกันคลื่น ชาวบ้านเลี้ยงปลาหลายชนิดในกระชัง ทั้งปลาสวยงามและปลาที่ใช้เพื่อกินเป็นอาหาร และมีการแขวนพวงหอย นี้ไว้รอบๆกระชังเลี้ยงปลา เพื่อกรองน้ำให้สะอาดมากขึ้น แล้วเหล่ามนุษย์อย่างพวกเราก็เอร็ดอร่อยกับการกิน “หอยพวง” นี้ อีกต่อหนึ่ง!

Beachlover

April 27, 2021

ชายหาดหดหาย ชาวประมงไร้ที่จอดเรือ

เมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2563 นายกฯและคณะได้ลงพื้นที่ จ.ระยอง และได้เดินทางมารับฟังปัญหาของชาวประมงพื้นบ้านหาดบ้านเพ อ.แกลง รายละเอียดติดตามได้จาก https://tna.mcot.net/politics-516590 โดยชาวประมงได้ร้องเรียนว่าชายหาดแถบนี้สั้นลงเรื่อยๆจนจอดเรือไม่ได้โดยเฉพาะช่วงเวลาน้ำขึ้น Beach Lover ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ชายฝั่งในพื้นที่เดียวกัน เมื่อต้นเดือนกันยายน 2563 พบว่าพื้นที่นี้เป็นส่วนหนึ่งของหาดสนสวน มีลักษณะเป็นหาดทรายยาววางแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก ตั้งแต่ปากน้ำแกลงเรื่อยไปจนถึงสามแยกที่เชื่อมไปยังถนนสุขุมวิท ระยะทางตลอดแนวชายฝั่งประมาณ 5 กิโลเมตร ชุมชนประมงบริเวณนี้ใช้พื้นที่ชายหาดเป็นที่จอดเรือประมงขนาดเล็ก วางอุปกรณ์ประมง แล้วใช้พื้นที่ริมถนนเลียบทะเลติดกับที่จอดเรือเป็นพื้นที่วางแผงขายผลผลิตที่ได้จากการประมง เรียกได้ว่า เมื่อเอาขึ้นฝั่งก็นำมาขายกันแบบสดๆได้ทันที จากภาพพบว่า คราบน้ำขึ้นสูงสุดของวันอยู่ในระยะประมาณตำแหน่งท้ายเรือพอดี เป็นไปได้ว่าในช่วงน้ำเกิดที่พิสัยของระดับน้ำขึ้นลงสูงกว่าปกติ น้ำจะขึ้นไปสูงกว่านี้จนเรือลอย และคลื่นที่วิ่งเข้าฝั่งอาจทำให้เรือที่ลอยอยู่นั้นกระแทกกันเองและกระแทกกับขอบคอนกรีตด้านริมถนนจนเกิดความเสียหายได้ นอกจากนี้ Beach Lover ยังพบว่าทางทิศตะวันตกประชิดชุมชนประมงมีลานคอนกรีตเอนกประสงค์ยื่นลงไปบนชายหาดตามภาพ สำหรับชายหาดสวนสน พบว่าการเคลื่อนที่ของตะกอนเลียบชายฝั่งมีทิศทางจากทิศตะวันตกไปทางทิศตะวันออก ดังนั้นหากมีโครงสร้างบางอย่างยื่นออกมาล้ำเขตอิทธิพลของคลื่น จะเป็นการรบกวนสมดุลของกระบวนการชายฝั่งทะเลนี้ นี่อาจจะเป็นหนึ่งในสาเหตุที่เร่งให้ชายหาดบริเวณชุมชนประมงหาดหายไปอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนั้น ทางทิศตะวันตกถัดไปทางท่าเรือบ้านเพ พบว่ามีโครงสร้างป้องกันชายฝั่งหลากหลาย ทั้งกำแพงกันคลื่นแนวดิ่ง เขื่อนกันคลื่นท่าเทียบเรือ ซึ่งสร้างเสร็จไปนานแล้ว และกำลังก่อสร้างกำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันไดยาว 520 เมตร ที่กำลังจะแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2563 นี้ น่าวิเคราะห์กันต่อว่า ชายหาดหน้าชุมชนประมงนี้หดหายตามคำบอกเล่าของชาวบ้านไปเท่าไหร่แล้วเมื่อเทียบกับอดีต ด้วยสาเหตุใด และอะไรเป็นตัวเร่งปรากฏการณ์นี้กันแน่

Beachlover

September 13, 2020