ฝนถล่มเกาะภูเก็ต ส่งผลต่อชายหาดอย่างไร

ฺBeach Lover ชวนมองสถานการณ์ฝนถล่มเกาะภูเก็ตในช่วงวันที่ 29-30 มิถุนายน 2567 ตามข่าวบางส่วนดังนี้

น้ำท่วมภูเก็ตเสียหายหนักทั้ง 3 อำเภอ: น้ำท่วมขังถนนหลายสาย รถเล็กสัญจรลำบาก บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย มีการอพยพประชาชนในบางพื้นที่ (มติชนออนไลน์, https://www.matichon.co.th/region/news_4656712)

น้ำท่วมภูเก็ตอ่วม ทำเครื่องบินลงจอดไม่ได้ รวม 14 เที่ยวบิน จนท.เร่งลงพื้นที่ช่วยเหลือ: น้ำท่วมขังบริเวณทางวิ่งของสนามบินนานาชาติภูเก็ต ทำให้ต้องยกเลิกและเปลี่ยนเส้นทางเที่ยวบินหลายเที่ยว (มติชนออนไลน์,https://www.matichon.co.th/region/news_4655815)

“น้ำท่วม” ภูเก็ตทำเครื่องบินลงจอดไม่ได้ 14 เที่ยวบิน: สนามบินภูเก็ตต้องปิดทำการชั่วคราวเนื่องจากน้ำท่วม ส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารจำนวนมาก (ฐานเศรษฐกิจ, https://www.thansettakij.com/business/tourism/600512)

Beach Lover ขอชวนเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกันของฝนตกหนักและน้ำท่วมบนแผ่นดิน กับการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ชายฝั่งบรเวณท้ายน้ำดังนี้

ฝนตกหนักในพื้นที่ต้นน้ำ (Upstream) เช่น บนภูเขา ในแผ่นดิน สามารถส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงชายหาดในพื้นที่ท้ายน้ำ(Downstream) เนื่องจากปัจจัยต่างๆ ที่เชื่อมโยงกันดังนี้

  1. ปริมาณน้ำในแม่น้ำและความเร็วการไหลที่เพิ่มขึ้น: ฝนตกหนักทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเพิ่มขึ้น และไหลเร็วขึ้น การไหลที่มีความเร็วสูงนี้จะพัดพาตะกอนต่างๆ รวมถึงทรายและดินจากพื้นที่ต้นน้ำไหลลงสู่ท้ายน้ำ
  2. การพัดพาและการสะสมของตะกอน: เมื่อแม่น้ำไหลมาเชื่อมต่อถึงชายฝั่งบริเวณปากแม่น้ำ ความเร็วการไหลจะลดลง และแม่น้ำจะสูญเสียความสามารถในการพัดพาตะกอน ส่งผลให้เกิดการสะสมของตะกอนบริเวณปากแม่น้ำและตามแนวชายฝั่ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อสมดุลของตะกอนตามธรรมชาติ
  3. การเปลี่ยนแปลงสัณฐานของปากแม่น้ำ: ฝนตกหนักยังสามารถเปลี่ยนแปลงรูปร่างและตำแหน่งของปากแม่น้ำ ซึ่งสามารถเปลี่ยนทิศทางการพัดพาตะกอน ส่งผลกระทบต่อการกระจายตัวของตะกอนตามแนวชายฝั่ง และทำให้เกิดการกัดเซาะในบางพื้นที่ หรือทับถมในบางพื้นที่เช่นกัน
  4. ระดับน้ำใต้ดินที่สูงขึ้น: ฝนตกหนักสามารถยกระดับน้ำใต้ดินในพื้นที่ชายฝั่ง ซึ่งอาจทำให้ฐานของหน้าผาและเนินทรายไม่มั่นคง ทำให้เกิดการกัดเซาะและพังทลายได้ง่ายขึ้น

สิ่งที่อาจเกิดขึ้นทันทีที่น้ำจำนวนนี้ไหลบ่าล้นพื้นที่ชายฝั่ง นั่นคือทรายบนชายหาดอาจถูกน้ำฝนเซาะเป็นร่องตามทางน้ำและไหลออกไปนอกจากฝั่งอย่างรวดเร็วความความแรงของน้ำและแรงโน้มถ่วงของโลก ดังที่เกิดขึ้นแล้วหลายครั้งที่ชายหาดพัทยาตามโพส https://beachlover.net/อีกแล้ว-ฝนถล่มหาดพัทยา/ และ https://beachlover.net/ฝนตกหนักที่พัทยาทำหาดพ/ และ https://beachlover.net/หาดพังรับฝนหนัก-อีกแล้ว/ และโพสเก่าๆในเวบนี้ ค้นหาได้จาก search icon มุมขวาบนของเวบ

เมื่อผ่านช่วงเวลาฝนตกหนักและตะกอนบนแผ่นดินไหลลงทะเลเป็นจำนวนมากไประยะหนึ่ง ในบางพื้นที่อาจส่งผลกระทบต่อเนื่องดังต่อไปนี้

  1. ปริมาณตะกอนที่ไปถึงชายหาดลดลง: ชายหาดจำเป็นต้องได้รับตะกอนจากแม่น้ำอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษารูปร่างและขนาด เมื่อฝนตกหนักชะล้างตะกอนจากพื้นที่ต้นน้ำไปมากแล้ว จะทำให้ปริมาณตะกอนที่จะไปเติมเต็มชายหาดในพื้นที่ท้ายน้ำลดลง
  2. การกัดเซาะที่เพิ่มขึ้น: การลดลงของปริมาณตะกอนและรูปแบบการสะสมของตะกอนที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ระบบชายฝั่งเกิดความไม่สมดุล ชายหาดมีความเสี่ยงต่อการกัดเซาะจากคลื่นและกระแสน้ำมากขึ้น เนื่องจากมีตะกอนน้อยลงที่จะช่วยป้องกันชายฝั่ง

ปัจจัยเร่งให้สมดุลทางธรรมชาตินี้เปลี่ยนแปลงไปเกิดได้จาก

  • การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน: การตัดไม้ทำลายป่าและการขยายตัวของเมืองในพื้นที่ต้นน้ำสามารถทำให้ผลกระทบของฝนตกหนักต่อการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ชายฝั่งอย่างรุนแรงขึ้น กิจกรรมเหล่านี้เพิ่มการพังทลายของดินและลดความสามารถของพื้นดินในการดูดซับน้ำ ทำให้เกิดน้ำท่าและการพัดพาตะกอนมากขึ้น
  • การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ: การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคาดว่าจะเพิ่มความถี่และความรุนแรงของเหตุการณ์ฝนตกหนัก ซึ่งอาจทำให้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ชายฝั่งด้านท้ายน้ำรุนแรงขึ้น

โดยสรุปแล้ว ฝนตกหนักในพื้นที่ต้นน้ำมีบทบาทสำคัญในกระบวนการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ชายฝั่งบริเวณท้ายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการกัดเซาะหรือแม้แต่ทับถม ก็อาจเกิดปัญหาต่อการใช้ประโยชน์พื้นที่นั้นๆเช่นกัน การเข้าใจความสัมพันธ์นี้เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการพัฒนาแผนที่มีประสิทธิภาพเพื่อการจัดการและบรรเทาผลกระทบที่อาจมีต่อระบบนิเวศชายฝั่งอันเปราะบางนี้