เมืองพัทยายืนยันน้ำสีดำค้างท่อ

ที่มา: https://www.facebook.com/PattayaWatchdog

ผอ สำนักช่างสุขาภิบาล เมืองพัทยา ยืนยัน น้ำสีดำ ค้างท่อ ที่เมืองพัทยาระบายทิ้งลงทะเล ช่วงฝนตกวันที่ 17 กุมภาพันธ์

เมืองพัทยาแจงเพจดังกรณีข้อกังขาน้ำดำถูกปล่อยลงทะเลหาดพัทยา เหตุฝนตกหนักระบายไม่ทัน ชี้เป็นน้ำที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เผยอนาคตเตรียมแยกท่อระบายน้ำฝนกับระบบบำบัดทั่วเมืองตามความเจริญแบบก้าวกระโดด

จากกรณีเพจดังพัทยาอย่าง “PattayaWatchdog” ได้โพสต์ข้อความถึงกรณีที่กรมทรัพยากรธรรมชาติและชายฝั่ง เดินทางไปตรวจหาดวงศ์อมาตย์ ซ.นาเกลือ 18 ต.นาเกลือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี หลังมีฝนตกลงมาอย่างหนัก เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564 โดยพบว่ามีน้ำลักษณะสีดำขุ่นข้นพุ่งทะลักออกจากท่อระบายน้ำของเมืองพัทยาก่อนไหลลงสู่ทะเลเป็นจำนวนมากจนเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกโซเชียลว่ากรณีดังกล่าวสร้างผลกระทบอย่างมากต่อภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวของเมืองพัทยา

ทั้งนี้ข้อสรุปจากการลงพื้นที่ของเจ้าหน้า ที่กรมทรัพยากรธรรมชาติและชายฝั่ง พบว่าน้ำสีดำสกปรก เป็นท่อจากระบายของเมืองพัทยา ซึ่งเป็นระบบท่อที่ใช้ร่วมกับระบบระบายน้ำเสีย เมื่อฝนหยุดเป็นเวลานานทำให้เกิดปัญหา “น้ำค้างท่อ” แต่เมื่อมีฝนตกลงมาอย่างหนักจึงทำให้น้ำเกิดการรวมตัวจนมีลักษณะเป็นสีเข้มเหมือนน้ำเน่าเสียและเอ่อไหลทะลักลงสู่ท้องทะเล กระทั่งสุดท้ายก็เจือจางลง

อย่างไรก็ตามจากผลตรวจสอบบริเวณโดยรอบไม่พบว่าผู้ประกอบการหรือที่พักอาศัยใดทำการการปล่อยน้ำเสียลงทะเล แต่พบร่องรอยการกัดเซาะหาดทรายลงทะเลโดยน้ำจากท่อระบายเท่านั้น ส่วนกรณีข้อกังขาของสังคมถึงการแก้ไขปัญหาน้ำค้างท่อ ที่มีความสกปรก และมักเกิดปัญหาไหลลงทะเลในช่วงที่ฝนตกซึ่งพบว่ามีลักษณะขุ่นดำคล้ายน้ำเน่าเสีย จนทำให้ภาพลักษณ์เกิดความเสียหายว่าจะมีแนวทางการแก้ไขอย่างไรนั้น

เรื่องดังกล่าว นายอนุวัตร ทองคำ ผู้อำนวยการสำนักการช่างสุขาภิบาล เมืองพัทยา ชี้แจงว่าตามการศึกษาของกรมโยธาธิการและผังเมือง ระบุว่าถ้าฝนตกลงมาในปริมาณปกติจะอยู่ที่ 40-50 มิลลิเมตร/ชม. แต่ในวันที่ฝนตกหนักในพื้นที่เมืองพัทยาสูงถึง 100 มิลลิเมตร/ชม. ซึ่งถือว่าเข้าขั้นวิกฤต ทำให้น้ำมีปริมาณมากกว่าปกติที่ระบบท่อจะรองรับได้ กอปรกับยังมีมวลน้ำที่ไหลบ่ามาจากเทศบาลต่างๆในพื้นที่รอบเมืองพัทยา ด้วยเมืองพัทยามีลักษณะเป็นที่ลุ่มต่ำ จึงทำให้ปริมาณน้ำจำนวนมากไหลลงสู่ท่อระบายที่อยู่บริเวณชายหาด

ขณะที่สถานีสูบน้ำที่เมืองพัทยาจัดสร้างไว้จะมีขนาดท่อประมาณ 1.20 เมตรเท่านั้น ซึ่งถือว่ามีขนาดเล็ก และเป็นท่อที่รวมทั้งน้ำเสียจากโรงแรม ที่พักอาศัยและน้ำฝนในท่อเดียวกัน เมื่อฝนทิ้งช่วงและมีน้ำค้างท่อจำนวนหนึ่งซึ่งมีความขุ่นข้นดังนั้นเมื่อมีฝนตกลงมาเป็นจำนวนมาก ก็ทำให้น้ำฝนปะปนรวมกับน้ำเสียค้างท่อก่อนจะเอ่อล้นหรือ Over Flow ลงสู่ทะเล ขณะที่สถานีสูบก็ไม่สามารถสูบส่งน้ำได้ทัน จึงทำให้เกิดภาพดังกล่าว แต่หลังผ่านเวลาไประยะหนึ่งน้ำก็เกิดการเจือจางและกลับคืนสู่สภาพปกติ

นายอนุวัตร กล่าวอีกว่าสำหรับสถานีสูบน้ำเสียภายในซอยวงศ์อมาตย์ มีการก่อสร้างมานานกว่า 20 ปีแล้ว โดยเริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2540 แล้วเสร็จในปี 2543 ตามลักษณะเศรษฐกิจในขณะนั้น ซึ่งเป็นแบบดั้ง เดิมคือจะใช้ “ท่อระบายน้ำระบบคอมบาย” เป็นระบบท่อรวมน้ำเสียกับน้ำฝนร่วมกัน จากนั้นจะทำการสูบส่ง ไปยังคลองปึกพลับ-ตลาดลานโพธิ์และไปสิ้นสุดที่โรงบำบัดน้ำเสียภายในซอยหนองใหญ่ แต่ด้วยลักษณะของกิจการโรงแรมที่เกิดขึ้นมากมายในช่วงหลัง ทำให้ขนาดของท่อระบายและกำลังการสูบไม่เพียงพอต่อปริมาณน้ำเสียที่เกิดขึ้น จึงทำให้เกิดปัญหาน้ำค้างท่อในสัดส่วนประมาณ 40-60 % เมื่อผสมรวมกับน้ำฝนจึงเกิดความขุ่นดำเข้มข้นก่อนไหลเอลงสู่ทะเล

ซึ่งปัจจุบันเมืองพัทยาได้ตั้งงบประมาณในการปรับปรุงแต่ละสถานีสูบ เพื่อจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ปัญหาน้ำค้างท่อลดน้อยลง ซึ่งก็จะทำให้น้ำค้างท่อลดน้อยลงการระบายก็จะดีขึ้น ขณะที่ในอนาคตทางเมืองพัทยายังมีแผนในการดำเนินการเปลี่ยนแปลงระบบระบายน้ำใหม่ โดยจะทำการแยกท่อระบายน้ำเสียกับน้ำฝนออกจากกัน เพื่อลดปัญหาน้ำเสียลงสู่ทะเลและปัญหาน้ำท่วมขัง ซึ่งได้ดำเนิน การโครงการนำร่องไปแล้วที่ตลาดลานโพธิ์ นาเกลือ และบริเวณถนนเลียบสายชายหาดพัทยา