การเปิด-ปิด ของสันทรายปากคลองสำโรง

คลองสำโรงเป็นคลองที่เชื่อมระหว่างทะเลในเขตเทศบาลนครสงขลากับเทศบาลเมืองเขารูปช้าง ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร เป็นเส้นทางสัญจรมาตั้งแต่สมัยโบราณกาลแล้ว และเชื่อมระหว่างทะเลอ่าวไทยกับทะเลสาบสงขลา ทำให้ซึ่งคลองสำโรงนี้มีความเป็นมายาวนานคู่กับประวัติศาสตร์เมืองสงขลา ซึ่งเดิมได้ใช้เส้นคลองสายนี้เป็นเส้นทางการค้าขายหรือการเข้ามาของเรือสำเภา เมื่อชุมชนมีมากขึ้น เส้นทางแห่งนี้ก็เริ่มมีปัญหาในเขตชุมชนหนาแน่นขึ้น ประกอบกับระบบระบายน้ำเสียที่ไม่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้เกิดปัญหาน้ำเน่าเสียและส่งกลิ่นเหม็นในคลอง

ปากคลองสำโรงฝั่งทะเลหน้าชุมชนเก้าเส้ง (ภาพเมื่อ 18 พ.ย.2563)

อีกปัญหาหนึ่งที่เกี่ยวเนื่องกันคือ ปากคลองสำโรงฝั่งทะเลอ่าวไทยมักถูกปิดตามธรรมชาติ จากการพัดพาของทรายมาปิดปากคลองในบางฤดูกาล ยิ่งส่งผลให้น้ำในคลองไหลถ่ายเทไม่สะดวก ชาวบ้านในชุมชนเก้าเส้งผู้ใช้ประโยชน์จากคลองได้ร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบหลายวาระโอกาส เช่น https://siamrath.co.th/n/161620 และ https://beachlover.net/ชุมชนเก้าแสนเดือดร้อน-ทช-สงขลาเร่งช่วยแก้ปัญหา/ Beach Lover เองก็เคยนำเสนอเรื่องราวนี้ไปแล้วตามโพส https://beachlover.net/ปากคลองสำโรง-7-ต-ค-2562/

คลองสำโรงในชุมชนเก้าเส้ง (ภาพเมื่อ 18 พ.ย.2563)

จากการตรวจสอบเบื้องต้นโดยใช้ภาพถ่ายดาวเทียม Google Earth ทั้งหมด 28 ช่วงเวลาตั้งแต่ ธันวาคม 2014 ถึง กรกฎาคม 2020 พบว่า ปากคลองสำโรงถูกปิด 18 ครั้ง และเปิด 10 ครั้ง ตลอดระยะเวลาเท่าที่มีข้อมูลกว่า 6 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเกิดขึ้นทั้งจากธรรมชาติที่กระบวนการชายฝั่งทะเลพัดพาเอาทรายมาทับถมที่ปากคลอง และเกิดจากการเปิดปากร่องน้ำโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อบรรเทาปัญหาให้ชาวบ้านในชุมชน

ตัวอย่างภาพถ่ายดาวเทียมในช่วงเวลาที่สันทรายปิดปากคลอง (18 พ.ค.2563)
ตัวอย่างภาพถ่ายดาวเทียมในช่วงเวลาที่ปากคลองเปิด (23 ก.ค.2563)
สถิติการเปิด-ปิด ของปากคลองสำโรง ฝั่งทะเล หน้าชุมชนเก้าเส้ง

Beach Lover ได้ลงสำรวจปากคลองสำโรงเมื่อวันที่ 18 พ.ย.2563 พบว่าปากคลองสำโรงได้ถูกเปิดออก โดยพบกองทรายขนาดใหญ่อยู่ริมชายหาดหน้าชุมชนเก้าเส้ง จากกการสอบถามพบว่า มีหน่วยงานเข้ามาขุดทรายเพื่อเปิดปากร่อง ให้น้ำไหลได้สะดวกและเพื่อให้เรือประมงขนาดเล็กของชาวบ้านได้เข้ามาจอดหลบคลื่นลมช่วงมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ

ปากคลองสำโรงฝั่งทะเลหน้าชุมชนเก้าเส้ง (ภาพเมื่อ 18 พ.ย.2563)
ปากคลองสำโรงฝั่งทะเลหน้าชุมชนเก้าเส้ง (ภาพเมื่อ 18 พ.ย.2563)

ที่ผ่านมา บางฝ่ายเรียกร้องให้มีการก่อสร้างโครงสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำ (Jetty) [อ่านเพิ่มเติมได้จาก https://beachlover.net/jetty/] เพื่อแก้ไขปัญหานี้อย่างถาวรเหมือนหลายๆปากแม่น้ำ แต่การแก้ไขปัญหาโดยใช้โครงสร้างรูปแบบนี้ควรผ่านการคิดพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะพื้นที่ปากแม่น้ำ ปากคลองเป็นพื้นที่อ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงมาก หากผลีผลามดำเนินมาตรการโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบ ความเสียหายที่เกิดขึ้นอาจเกินเยียวยา อย่างที่พบเห็นโดยทั่วไปว่าบริเวณปากคลองที่ก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำ (Jetty) ทุกแห่งได้ส่งผลกระทบต่อการกัดเซาะในพื้นที่ถัดไปอย่างรุนแรง จนนำมาซึ่งโครงการป้องกันชายฝั่งแบบไม่มีที่สิ้นสุด 

หาดส่วนถัดจากชุมชนเก้าเส้งคือหาดชลาทัศน์ ที่กำลังใช้มาตการเติมทรายชายหาด เพิ่มความกว้างชายหาดมากกว่า 50 เมตร หากปากคลองสำโรงมีการสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำ (Jetty) เพื่อแก้ไขปัญหาทรายปิดปากคลองเหมือนที่อื่นๆ คาดเดาได้ไม่ยากว่าจะเกิดอะไรกับหาดชลาทัศน์ที่ใช้งบประมาณกว่า 270 ล้านบาทในการเติมทรายอยู่ในขณะนี้