พาสำรวจตะกอนชายหาดบนเกาะภูเก็ต

Beach Lover ได้พาสำรวจสภาพชายหาด รวมถึงโครงสร้างป้องกันชายฝั่ง บริเวณเกาะภูเก็ตฝั่งตะวันตกไปแล้ว ติดตามได้จากโพสในหมวดสถานการณ์ชายฝั่ง ครั้งนี้ขอพาสำรวจตะกอนทรายบนชายหาดทั้ง 47 ตำแหน่งกันบ้าง ว่ามีคุณสมบัติเป็นอย่างไร

ข้อมูลคุณสมบัติของตะกอน ได้จากการนำตัวอย่างทรายจากตำแหน่งสำรวจบริเวณชายหาดส่วนหน้า (Foreshore) จำนวน 1.5 กิโลกรัม มาทำการอบแห้งเป็นเวลา 24 ชั่วโมง และนำไปร่อนผ่านตะแกรงเพื่อหาขนาดกลางของตะกอน (D50) โดยวิธี Sieve analysis ในห้องปฏิบัติการปฐพีกลศาสตร์ ตามมาตรฐาน ASTM

จากการนำทรายไปร่อนผ่านตะแกรงจะได้ข้อมูลน้ำหนักทรายคงค้างบนตะแกรงร่อนขนาดต่างๆ เมื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์และพล็อตกราฟความสัมพันธ์ระหว่างขนาดเม็ดทรายซึ่งเป็น Semi-logarithmic scale และเปอร์เซ็นต์โดยน้ำหนักของเม็ดทรายที่มีขนาดเล็กกว่าจะได้เป็นกราฟการกระจายของขนาดเม็ดทรายของแต่ละตำแหน่งสำรวจ แล้วนำมาหาค่าขนาดกลางของตะกอน ณ ตำแหน่งสำรวจ

ตัวอย่าง กราฟขนาดกลางของตะกอน

จากการสำรวจภาคสนามในพื้นที่ศึกษา 47 ตำแหน่งสำรวจ บริเวณที่เป็นหาดทรายฝั่งตะวันตกของเกาะภูเก็ต เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธี Sieve analysis พบว่า ขนาดกลางของตะกอนมีการกระจายตัวดัง Histrogram ด้านล่าง

กราฟแจกแจงความถี่ของขนาดกลางของตะกอน ณ ตำแหน่งสำรวจ

พบว่าขนาดกลางของตะกอน ณ ตำแหน่งสำรวจจำนวน 47 ตำแหน่ง มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 0.37 มิลลิเมตร มีค่าขนาดกลางของตะกอนใหญ่ที่สุด 2.90 มิลลิเมตร และค่าขนาดกลางของตะกอนเล็กที่สุด 0.13 มิลลิเมตร โดยพบว่าค่าเฉลี่ยของขนาดกลางของตะกอนในพื้นที่ศึกษามีขนาดใหญ่กว่าค่าเฉลี่ยของขนาดกลางของตะกอนชายหาดในประเทศไทยซึ่งมีขนาด 0.33 มิลลิเมตร (Ritphring, et al.,2018) และเมื่อแจกแจงความถี่ขนาดกลางของตะกอน ณ ตำแหน่งสำรวจพบว่าลักษณะกราฟแจกแจงความถี่เป็นกราฟเบ้ซ้าย โดยส่วนมากอยู่ในช่วง 0.25 – 0.30 มิลลิเมตร จำนวน 22 ตำแหน่งสำรวจ รองลงมาคือช่วง 0.20 – 0.25 มิลลิเมตร จำนวน 12 ตำแหน่งสำรวจ

——————————–

อ้างอิง: Ritphring, S., Somphong, C., Udo, K. and Kazama, S. 2018. Projections of future beach loss due to sea level rise for sandy beaches along Thailand’s coastlines. Journal of Coastal Research SI. 85: 541-545.