พายุซัดฝั่ง (Storm surge) คือปรากฏการณ์คลื่นที่เกิดขึ้นพร้อมกับพายุหมุนโซนร้อนในวันที่ท้องฟ้าปั่นป่วนไม่แจ่มใสสภาพอากาศเลวร้าย พื้นที่ชายฝั่งจะมีแรงกดอากาศยกระดับน้ำทะเลให้สูงกว่าปกติกลายเป็นโดมน้ำขนาดใหญ่ซัดจากทะเลเข้าหาชายฝั่งอย่างรวดเร็ว (https://www.nhc.noaa.gov/surge/)
พายุซัดฝั่งเป็นคลื่นที่เกิดบริเวณพื้นผิวโลกมีความชื้นสูงและมีมวลอากาศอุ่น ทำให้อากาศลอยตัวสูงขึ้น ทำให้เกิดลมพัดเข้ามาหย่อมความกดอากาศต่ำ และเกิดการหมุนตัว เข้าหาจุดศูนย์กลางของหย่อมความกดอากาศต่ำ โดยในซีกโลกเหนือหรือบริเวณเหนือเส้นศูนย์สูตรจะมีการหมุนตัวในทิศทวนเข็มนาฬิกา แต่หากเกิดในซีกโลกใต้หรือบริเวณใต้เส้นศูนย์สูตรจะหมุนตามเข็มนาฬิกา
พายุซัดฝั่งจะดันน้ำให้มีระดับสูงจนสร้างความเสียหายต่อชีวิตอาคารบ้านเรือนและทรัพย์สินบริเวณพื้นที่ชายฝั่ง ดังรูปที่ 1 โดยระดับน้ำที่ยกตัวสูงขึ้นนี้เกิดจากแรงขับจากความกดอากาศ (Pressure driven storm surge) และลม (Wind driven storm surge) ทะเลโดยรอบจะมีลักษณะราบเรียบเท่ากันหมดในบริเวณพายุ แต่ตรงใจกลางพายุหรือที่เรียกว่าตาพายุจะมีระดับน้ำที่สูงกว่าปกติ ผลจากพายุซัดฝั่งจะทำให้ระดับน้ำชายฝั่งเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าปกติแต่เป็นเพียงช่วงเวลาไม่นานแล้วจะกลับสู่สภาพเดิม รูปที่ 2 แสดงระดับน้ำที่ขึ้นสูงสุดจนเข้าท่วมชุมชนในช่วงที่เกิดพายุปาบึกซัดฝั่งที่ จ.นครศรีธรรมราช เมื่อเดือนมกราคม 2562 โดยมีลักษณะของการเคลื่อนที่ของตาพายุ ดังรูปที่ 3