พัฒนาการของแหลมสนอ่อน
แหลมสนอ่อน เห็นส่วนเหนือสุดของหาดสมิหลาที่มีความยาวรวมทั้งสิ้น 7.8 กิโลเมตร อยู่บริเวณทิศตะวันตกเฉียงเหนือของแหลมสมิหลา (รูป 1) ร่มรื่นไปด้วยทิวสนทะเลและไม้พุ่มหลากหลายชนิด บริเวณปลายแหลมเป็นที่ประดิษฐานอนุสาวรีย์กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ จากปลายแหลมสนอ่อนสามารถชมทัศนียภาพอันสวยงามของปากทะเลสาบสงขลา และมองเห็นเกาะหนูได้ใกล้และชัดที่สุด
แหลมสนอ่อนในอดีตมีความกว้างน้อยกว่าในปัจจุบันมากตามหลักฐานภาพถ่ายทางอากาศปี พ.ศ.2510 (รูป 2-A) พัฒนาการของแหลมสนอ่อนเท่าที่มีข้อมูลปรากฏนั้นเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2511 ที่มีการสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำสงขลายาวประมาณ 700 เมตร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันตะกอนชายฝั่งทะเลไปตกในร่องน้ำเดินเรือของทะเลสาบสงขลา ส่งผลให้ตะกอนทรายที่เคลื่อนมาจากทิศใต้ตกทับถมทางด้านใต้โครงสร้างนี้ แหลมสนอ่อนเริ่มขยายพื้นที่เนื่องจากการสะสมตัวของตะกอนทรายดังกล่าวกว้างมากขึ้นนับจากนั้น (รูป 2-B) ต่อมาได้มีการพัฒนาท่าเทียบเรือน้ำลึกสงขลาบริเวณหัวเขาแดงเมื่อปี พ.ศ. 2528-2532 และได้ต่อขยายความยาวของโครงสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปลายแหลมสนอ่อนออกไปอีก 200 เมตร จึงเป็นการเพิ่มตะกอนให้กับพื้นที่แหลมสนอ่อนมากขึ้นอีก (รูป 2-C) จนมีความกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ (รูป 2-D)
พบว่าพัฒนาการของแหลมสนอ่อนเท่าที่มีหลักฐานปรากฎตั้งแต่ปี 2510 ถึง 2554 นั้น มีพื้นที่งอกเพิ่มมากขึ้นจากการสะสมตัวของตะกอนชายฝั่งที่เคลื่อนมาจากทิศใต้ประมาณ 497.42 ไร่หรือคิดเป็น 795,872 ตารางเมตร (รูป 3)