นิยามของแนวชายฝั่งทะเล (Shoreline)

แนวชายฝั่ง หมายถึงเส้นแบ่งระหว่างน้ำและพื้นแผ่นดิน แต่ในความเป็นจริงแนวชายฝั่งนั้นมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาตามธรรมชาติ ขึ้นอยู่กับการเคลื่อนที่ของตะกอน ระดับน้ำทะเล ความลาดชันชายหาด และปัจจัยอื่นๆ การระบุแนวชายฝั่งเป็นข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการบริหารจัดการพื้นที่ชายฝั่งและการออกแบบทางวิศวกรรมเช่นโครงการป้องกันชายฝั่ง Elizabeth H. Boak และ Ian L. Turner (Boak and Turner, 2005) ได้ทำการรวบรวมนิยามของการระบุแนวชายฝั่ง พบว่านิยาม ต่างๆที่ใช้ในการระบุชายฝั่งแบ่งได้เป็นสองกลุ่มได้แก่ กลุ่มแรก คือการระบุแนวชายฝั่งโดยขึ้นกับลักษณะเชิงกายภาพที่สังเกตได้ (รูป A และ B) และ การระบุแนวชายฝั่งกลุ่มที่ 2 ขึ้นอยู่กับการขึ้นลงของระดับน้ำทะเล (รูปที่ C)

รูป A การระบุแนวชายฝั่งโดยข้ึนกับลักษณะเชิงกายภาพที่สังเกตได้
(Boak and Turner, 2005)

กลุ่มแรกที่ใช้การระบุแนวชายฝั่งโดยขึ้นกับลักษณะเชิงกายภาพที่สังเกตได้ เป็นลักษณะทางกายภาพของชายฝั่งที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน เช่น แนวพืชพรรณถาวรบริเวณชายฝั่ง (Permanent vegetation line) เป็นต้น สำหรับแหล่งข้อมูลที่สามารถนำมาประกอบการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงชายฝั่ง เช่น ภาพถ่ายทางอากาศ, การเดินสำรวจแนวชายฝั่งทะเล, การสำรวจแนวชายฝั่งโดยใช้เครื่อง GPS, แผนที่ชายฝั่ง เป็นต้น

รูป B ตัวอย่างการระบุแนวชายฝั่งโดยข้ึนลักษณะเชิงกายภาพที่สังเกตได้  ณ Duranbah Beach, New South Wales, Australia
(Boak and Turner, 2005)
รูปที่ C การระบุแนวชายฝั่งโดยข้ึนอยู่กับการข้ึนลงของระดับน้ำทะเล (Boak and Turner, 2005)

ส่วนกลุ่มที่ 2 ที่ใช้การระบุแนวชายฝั่งโดยขึ้นอยู่กับการขึ้นลงของระดับน้ำทะเล จำเป็นต้องใช้แผนที่ชายฝั่งและแผนที่เดินเรือ (Coastal maps and charts) รวมทั้งระดับอ้างอิงในพื้นที่ศึกษา เนื่องจากการศึกษาการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งต้องใช้แนวชายฝั่งในหลายๆช่วงปีมาทำการเปรียบเทียบ หากภาพถ่ายที่นำมาใช้เหล่านั้นต่างช่วงเวลากันทำให้ระดับน้ำขึ้นลงแตกต่างกันไปด้วย หากใช้การระบุแนวชายฝั่งตามนิยามนี้จำเป็นต้องทำการปรับแก้แนวชายฝั่งที่ทำการ Digitized จากเส้นขอบน้ำให้อยู่ในระดับอ้างอิงเดียวกันในทุกแนวชายฝั่งที่นำมาเปรียบเทียบกัน เทคนิคดังกล่าวเรียกว่าการปรับค่าระดับน้ำ (Tidal correction) ศึกษาเพิ่มเติมได้จาก https://beachlover.net/shoreline-detection/

การวิเคราะห์แนวชายฝั่งจะเลือกใช้นิยามใดนั้นขึ้นอยู่กับข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์ แต่จำเป็นต้องใช้นิยามให้อยู่ในรูปแบบเดียวกันตลอดการศึกษา เช่น หากใช้นิยามของแนวพืชพรรณถาวรบริเวณชายฝั่ง ก็ต้องทำการลากแนวชายฝั่ง (Digitize) จากแนวพืชพรรณถาวรบริเวณชายฝั่ง ในทุกๆชุดข้อมูลที่ทำการศึกษา มิฉะนั้นจะส่งผลให้การศึกษาเกิดข้อผิดพลาดได้ ในทางปฏิบัติการวิเคราะห์แนวชายฝั่งส่วนใหญ่จะการพิจารณาจากคุณสมบัติทางกายภาพที่สังเกตเห็นด้วยสายตา ทั้งจากการสำรวจแนวชายฝั่งโดยใช้เครื่อง GPS และจากภาพถ่ายทางอากาศ มากกว่า โดยนิยามที่นิยมใช้ในการแปลความหมายของแนวชายฝั่งคือ 

  1. แนวสัณฐานชายฝั่งที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน (ตำแหน่ง F ในรูป A) โดยมากหากใช้นิยามนี้ต้องดำเนินการร่วมกันการสำรวจภาคสนาม (รูป D)
  2. แนวพืชพรรณถาวรบริเวณชายฝั่ง ซึ่งถือเป็นตำแหน่งสูงสุดของแนวชายหาดที่ได้รับอิทธิพลจากระดับน้ำทะเล (ตำแหน่ง E ในรูป A และ B) แสดงตัวอย่างดังรูป E โดยสามารถแปลผลจากภาพถ่ายดาวเทียมและภาพถ่ายทางอากาศได้ร่วมกับการปรับแก้พิกัดเพื่อความถูกต้อง 
รูป D งานสำรวจแนวสัณฐานชายฝั่งที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน (กรมทรัพยากรธรณี, 2555)
รูป E การระบุแนวชายฝั่งจากพืชพรรณถาวรบริเวณชายฝั่ง (กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง)

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองนิยามที่นิยมใช้นี้ ในหลายกรณีอาจเป็นตำแหน่งเดียวกันก็ได้