ชวนไปดู Beach Zoning รัฐปีนัง มาเลเซีย

บันทึกการเดินทางโดย : Beach for life (https://www.facebook.com/Beach-for-life)

พวกเรา Beach for life เดินทางไปรัฐปีนัง ประเทศมาเลเชีย ตั้งใจไปศึกษา เยี่ยมชมเมืองเก่า จอร์จทาวน์  เเละชายหาดบาตูเฟอริงกิ ของรัฐปีนัง เมื่อพูดถึง ชายหาดบาตู เฟอริงกิ (Batu Ferringgi Beach) หลายคนที่เคยไปปีนังคงรู้จัก เเละได้ยินชื่อเสียงหาดเเห่งนี้กันอยู่บ้าง

ชายหาดบาตูเฟอริกิ เป็นชายหาดที่มีชื่อเสียงเเห่งหนึ่งของรัฐปีนัง มียาวตลอดแนวชายฝั่งประมาณ 3 กิโลเมตร มีโรงเเรมเเละร้านอาหารอยู่ตลอดเเนวชายหาด เเละจุดเด่นสำคัญของหาดบาตูเฟอริงกิ คือ กีฬาทางน้ำ ที่ที่นี่มีกีฬาทางน้ำหลายรูปแบบให้ได้เลือกเล่น เช่น บานานาโบ๊ท เจสสกี เรือใบ เเละพาราชู้ด เป็นต้น ตลอดทั้งวันของชายหาดบาตู เฟอริงกิ คล้าคลั่งไปด้วยผู้คนทั้งท้องถิ่น เเละนักท่องเที่ยว ที่มาเล่นกีฬาทางน้ำเเละ พักผ่อนหย่อนใจริมชายหาดแน่นนอนว่า มาเที่ยวแบบพวกเรา Beach for life คงไม่ได้มาชมทะเล และชายหาดสวยๆเพียงอย่างเดียว ที่หาดบาตูเฟอริงกิแห่งนี้มีความน่าสนใจในเรื่องของการแบ่งเขตการใช้ประโยชน์พื้นที่ชายฝั่ง หรือ Beach Zoning

Beach Zoning เป็นหนึ่งในมาตรการเพื่อจัดการพื้นที่ชายฝั่งทะเล (Coastal Zone management) โดยการจัดทำ Beach Zoning นั้น เป็นการจำกัดการมองภาพชายหาดในระดับพื้นที่ โดยจัดสรรการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่ชายหาดนั้นๆให้เหมาะสมตามศักยภาพของพื้นที่ ไม่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากร ทำให้เกิดความสมดุลระหว่างการใช้ประโยชน์และการอนุรักษ์หรือสงวนรักษา โดยส่วนมาก Beach Zoning มักเกิดขึ้นระดับท้องถิ่น หรือบรรจุในข้อกำหนดเทศบัญญัติหรือผังเมือง

พวกเราได้มีโอกาสในการพูดคุยกับผู้ประกอบการกีฬาทางน้ำ เเละเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่ดูเเลชายหาด เเละโชคดีมากที่มีคนไทยที่ประกอบกิจการอยู่ที่นี้ ช่วยเเปลภาษาเเละสื่อสารให้พวกเรา ไม่งั้นเราก็คงงงกันไปใหญ่

บรรยากาศการพูดคุยกับผู้ประกอบการกีฬาทางน้ำ ริมชายหาดบาตูเฟอริงกิ

จากการพูดคุยกับผู้ประกอบการ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น และเดินสำรวจชายหาดบาตูเฟอริงกิเกือบ 3กิโลเมตร ทำให้เรารู้ว่าการจัดการพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่นี้ โดยใช้มาตรกร Beach Zoning นั้น เขาเเบ่งโซนไว้ 8 โซน กำหนดเป็นโซนง่ายๆ ตั้งแต่ A-H ในตอนเเรกพวกเราเข้าใจว่าการเเบ่งโซนนี้เป็นการกำหนดให้มีกิจกรรมการใช้ประโยชน์พื้นที่ที่เเตกต่างกันออกไป เช่น พาราชู้ดอยู่โซน A ว่ายน้ำต้องไปอีกโซนหนึ่ง เเต่จริงเเล้วไม่ใช่อย่างนั้น ชายหาดที่นี้จัดโซนนิ่งให้กับผู้ประกอบการกีฬาทางน้ำ เเต่ละโซนจะมีชื่อเจ้าของกิจการ หรือ ชื่อร้าน ที่ประกอบกิจการกีฬาทางน้ำ เหตุผลที่ทำให้หน่วยงานของรัฐแบ่งโซนนิ่งชายหาดเช่นนี้เป็นเพราะ ในอดีตมีปัญหาความขัดแย้งของผู้ประกอบการกีฬาทางน้ำ มีการแย่งพื้นที่ในการจอดเรือ กางร่มเตียงกัน รวมไปถึงอุบัติเหตุจากการชนกันของเรือและสปีดโบ้ท ทำให้ต้องมีการแบ่งโซนกันใช้พื้นที่ และกำหนดชัดเจนว่าใครจะได้ประกอบการในโซนนั้น เช่น Zone A จะถูกกำหนดให้มีผู้ประกอบการเพียงแค่  4 บริษัทเท่านั้น ได้แก่ Sea House Watersport Sdn Bhd / Tiinagaran watersport Enterprise / Longswaran Watersport  Enterprise และ Mogona  Enterprise ซึ่งรัฐปีนังใช้วิธีคิดเช่นนี้ในการทำ Beach Zoning มากกว่า 20 ปีแล้ว

ภาพ ป้าย Beach Zoning ของหาดบาตูเฟอริงกิ มีการกำหนดโซน A-H เเละเเต่ละโซนจะมีชื่อกิจการกีฬาทางน้ำปรากฎอยู่ เเละราคาของกีฬาทางน้ำเเต่ละประเภท รวมถึงเบอร์ติดต่อหากเกิดเหตุฉุกเฉิน
ภาพ Zoning เเต่ละจุดที่ถูกกำหนดขึ้น เพื่อเเบ่งเขตการใช้ประโยชน์ของผู้ประกอบกิจการกีฬาทางน้ำ

ผู้ประกอบการกีฬาทางน้ำเล่าต่อว่า การกำหนดโซนนิ่งเช่นนี้ ทำให้ไม่เกิดการทะเลาะกันระหว่างผู้ประกอบการแต่ละบริษัท และทำให้นักท่องเที่ยวที่ใช้บริการมีความปลอดภัยมากขึ้น รวมถึงนักท่องเที่ยวสามารถที่จะเลือกได้ว่าจะใช้บริการจากบริษัทใด แต่ทั้งนี้ไม่ใช่แค่จัดโซนนิ่งครั้งแล้วแล้วจบไป ที่นี่จะมีการประชุมกันระหว่างผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่ที่ดูแลชายหาด เพื่อสอบถามสภาพปัญหาและหาแนวทางในการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่ง

ภาพ ป้าย Zone E ซึ่งเป็นป้ายย่อยที่ติดตั้งริมชายหาดในตำเเหน่ง Zone E โดยมีชื่อผู้ประกอบกิจการกีฬาทางน้ำ พื้นที่ตั้ง ระยะในการใช้ประโยชน์หน้าชายหาดของเเต่ละกิจกรรม ข้อกำหนดต่างๆ เเละเบอร์ติดต่อหากเกิดเหตุฉุกเฉิน

ถึงแม้ชายหาดบาตูเฟอริงกิ จะมีการจัดโซนนิ่งมานานแล้ว แต่ใช่ว่าการจัดโซนนิ่งนั้นจะมีความยั่งยืนเสมอไป มันมีความจำเป็นในการที่ต้องปรับเปลี่ยนและออกแบบใหม่อยู่เสมอ เช่น กรณีของพาราชู้ด ซึ่งเมื่อก่อนให้พาราชู้ดขึ้นและลงบนชายหาด แต่การขึ้นและลงบนชายหาดนั้นต้องใช้พื้นที่ชายหาดที่กว้าง และมีหลายครั้งที่ การขึ้นลงของพาราชู้ดกระทบกับผู้ใช้หาดอื่นๆ ทำให้รัฐบาลท้องถิ่นของปีนัง ขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการในการให้มีการนำพาราชู้ดขึ้นลงบนเรือกลางทะเล เพื่อไม่ให้กระทบกับผู้ใช้หาดอื่นๆ

นอกจากหาดบาตูเฟอริงกิ จะมีการจัดโซนนิ่งผู้ประกอบการกีฬาทางน้ำตามโซนต่างๆแล้ว เขายังให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยของผู้ใช้ประโยชน์ชายหาดอีกด้วย หากเราเดินตามแนวชายหาดเราจะว่าทุก 200-300 เมตร จะมีกล้องวงจรปิด สปอร์ทไลท์ และ หอกระจายข่าว เตือนภัยกระจายอยู่ตลอดแนวชายหาด รวมถึงมีหอสังเกตการณ์ประจำตลอดแนวชายหาดทุก 1 กิโลเมตร ซึ่งทำให้เราเห็นว่า เขาใส่ใจเรื่องความปลอดภัยของผู้ใช้หาดทรายค่อนข้างมาก 

ภาพ ห้องน้ำสาธารณะ ที่มีห้องอาบน้ำ ค่าบริการเข้าห้องน้ำราคาประมาณ 5 บาท
ภาพ เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ค่อยให้ความช่วยเหลือ เเละสังเกตการณ์ริมชายหาด
ภาพ หอสังเกตการณ์ริมชายหาด 
ภาพ เสาสปอร์ทไลท์ เเละกล้อง CCTV ที่ติดตั้งอยู่ริมชายหาดห่างกันทุกๆ 1 กิโลเมตร

เราคิดว่า บทสรุปที่เราอาจสรุปได้จากการพาตัวเองมาเดินเล่น พูดคุยกับผู้ประกอบการ เจ้าหน้าที่รัฐ เเละนักท่องเที่ยวริมชายหาดบาตูเฟอริงกิ มีคำถามตัวโต ในหัวคือว่า “ทำไมเขาถึงทำ Beach Zoning ได้ เเละ ทำไมมันยังคงได้ผลมาจนถึงตอนนี้ ทั้งที่เขาทำมานานกว่า 20 ปี” เมื่อขบคิด พินิจมองเเล้ว เราคิดว่า มี 3 เรื่องสำคัญที่อาจเป็นคำตอบของคำถามนี้ ได้

ประการเเรก คือ การทำ Beach Zoning ที่ชายหาดบาตูเฟอริงกิ ในรัฐปีนังนี้ เกิดขึ้นเเละตั้งอยู่บนเรื่องจริง สถานการณ์จริงของพื้นที่ เป็นวิธีการจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชายหาดจริงๆ เเละเข้าเลือกเครื่องมือที่เหมาะสมกับสถาณการณ์และปัญหา เพื่อการจัดการปัญหาความขัดเเย้งของผู้ประกอบการในพื้นที่ เเละให้ท้องถิ่นเป็นคนจัดการ เเละจะเห็นได้ว่ามันมีพัฒนาการที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ข้อผิดพลาด ถกเถียง ถอดบทเรียนออกมาเเล้วออกเเบบใหม่ร่วมกันระหว่างรัฐ เเละผู้ประกอบการ Beach Zoning ที่นี้ถึงเกิดขึ้นได้เเละยังคงได้ผลจวบจนปัจจุบัน 

ประการที่สอง คิดว่ามันมีกระบวนการติดตาม ดูเเล พูดคุยกันระหว่างภาครัฐ นักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการ ทำให้ข้อมูล ความคิดเห็นความต้องการของประชาชน ผู้ประกอบการถูกสื่อสารกับรัฐอย่างตรงไปตรงมา และนำไปสู่การปรับปรุงพัฒนา หรือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น 

ประการสุดท้าย ที่เราคิดว่าเป็นจุดสำคัญคือ เราจะเห็นได้ว่า สิ่งที่เขาพัฒนา Beach Zoning นั้น เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนที่มาใช้ประโยชน์ริมชายหาด เเละเพื่อให้การท่องเที่ยวมีคุณภาพ ไม่สะเปะสะปะไร้ทิศทาง ใครจะทำอะไรบนชายหาดก็ได้ เเต่เขาคิดเเล้วว่าใครจะใช้ประโยชน์หาดเเห่งนี้จะต้องอยู่ภายใต้ทิศทางเเละกรอบกติกาเดียวกัน เเละกติกานั้นต้องเกิดขึ้นบนฐานสภาพจริงของพื้นที่ เเละเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ใช้ประโยชน์ชายหาด ทำให้การสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆที่เกิดขึ้นบนชายหาด เป็นไปเพื่อการสร้างความปลอดภัยให้เเก่ผู้ใช้ชายหาด การลดความขัดเเย้ง รวมถึงการคุ้มครองชายหาด ซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญของที่นี้ 

สิ่งที่เราพบเห็น จากการเดินเล่นริมชายหาดบาตูเฟอริงกิ เป็นเพียงเสี้ยวส่วนเท่านั้น ยังมีเรื่องราวอีกมากมายกว่าจะมาเป็น Beach Zoning เราคิดว่าสิ่งที่สำคัญกว่าการได้เห็นจากหาดบ้านเพื่อนเเล้ว คือการย้อนกลับมามองว่า เอ๊ะ ! หาดบ้านเรา เราสามารถจัดการพื้นที่อย่างไรได้บ้าง เพื่อให้พลเมืองได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี เเละเพื่อให้เรามีชายหาดได้ใช้กันไปนานๆ เก็บรักษา ส่งต่อให้ลูกหลานได้ ประเด็นนี้คงเป็นเรื่องที่น่าขบคิด เเละท้าทายสังคมไทยต่อไป เพราะเเท้ที่จริงเเล้ว การจัดการพื้นที่การใช้ประโยชน์ชายหาดนั้น เป็นการเปิดพื้นที่ให้พลเมืองที่ตื่นตัว เเละรัฐได้ร่วมมือประสานใจกัน เพื่อสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาเเละการสงวนรักษาพื้นที่ชายหาดไว้ให้เป็นสมบัติสาธารณะสืบต่อไป